การขยายระยะเวลามาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 18, 2009 11:11 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และเห็นชอบหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีการโอนและการจำนองห้องชุดตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

ข้อเท็จจริง

1. กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยได้มีมาตรการบรรเทาภาระภาษีและค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลาเฉพาะในท้องที่อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอเทพา) ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 466) พ.ศ. 2550 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีการโอนและการจำนองห้องชุดตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งจะสิ้นผลใช้บังคับในวันที่ 31 ธันวาคม 2552

2. กระทรวงการคลังได้พิจารณาร่วมกับกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทยแล้วเห็นว่า การขยายระยะเวลามาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมตามพระราชกฤษฎีกาและประกาศกระทรวงมหาดไทยตามข้อ 1 จะเป็นประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมต่อผู้ประกอบกิจการในพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยไม่ทำให้สูญเสียรายได้ภาษีและค่าธรรมเนียมไปมากนัก เนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าวยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการมีสภาพคล่องลดลง จึงเห็นควรขยายระยะเวลามาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจตามหลักการเดิมต่อไปอีก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบกิจการ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับสถานประกอบกิจการ หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ดังนี้

1.1 ผู้มีเงินได้พึงประเมินจากการรับเหมา เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม และการขนส่ง จะเลือกเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 0.1 ของเงินได้พึงประเมิน โดยไม่ต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีก็ได้

1.2 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 3.0 ของกำไรสุทธิ

1.3 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ในการหักภาษี ณ ที่จ่ายและคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ และเมื่อถึงกำหนดยื่นรายการให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

1.4 ให้ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร

2. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ในอัตราร้อยละ 0.01 สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์โดยการขาย แลกเปลี่ยน ให้ และการโอนโดยทางมรดกให้แก่ทายาท หรือการจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555

3. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีการโอนและการจำนองห้องชุดตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอน และค่าจดทะเบียนการจำนองห้องชุดในอัตราร้อยละ 0.01 สำหรับการโอนห้องชุดโดยการขาย แลกเปลี่ยน ให้ และการโอนโดยทางมรดกให้แก่ทายาท หรือการจำนองห้องชุดที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ