การเปิดตลาดนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 18, 2009 11:14 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเปิดตลาดนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง ปี 2553 ตามมติคณะกรรมการพืชน้ำมันและ น้ำมันพืช ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ประธานกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชเสนอ ดังนี้

1. กรอบองค์การการค้าโลก (WTO)

1.1 ปริมาณเปิดตลาดและอัตราภาษีนำเข้าไม่จำกัดปริมาณและช่วงเวลานำเข้า อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 0 อัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 80 แตกต่างจากเดิมที่ผูกพันปริมาณในโควตา 10,922 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 20 นอกโควตาร้อยละ 80

1.2 ให้ผู้มีสิทธินำเข้าในโควตารวม 13 ราย คือ 1. สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว 2. สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย 3. สมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ 4. สมาคมปศุสัตว์ไทย 5. สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อเพื่อการส่งออก 6. สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย 7. บริษัท กรีนสปอต จำกัด 8. บริษัท แลคตาซอย จำกัด 9. บริษัท ไทยเทพรสผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) 10. บริษัท แดรี่ พลัส จำกัด 11. บริษัท ไทยซิม จำกัด 12. ห้างหุ้นส่วนจำกัดคิคโคเคน 13. สมาคมผู้ค้าสินค้าเกษตรกับประเทศเพื่อนบ้าน และหากมีผู้ยื่นขอสิทธินำเข้ารายใหม่ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการกำกับ ดูแลเมล็ดถั่วเหลือง และแจ้งคณะกรรมการฯ ทราบ

1.3 ผู้มีสิทธินำเข้าให้ความร่วมมือในการรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองที่ผลิตในประเทศจากเกษตรกรทั้งหมดในราคาตามกลไกตลาด แต่ไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนดดังนี้

          เกรดถั่วเหลือง              ณ ไร่นา (บาท/กก.)     ณ โรงงานแปรรูป กทม. (บาท/กก.)
          สกัดน้ำมัน                             12.25                               13
          แปรรูปอาหารสัตว์                        12.5                            13.25
          แปรรูปอาหาร                           14.5                            15.25

1.4 ผู้มีสิทธินำเข้าต้องทำสัญญาการรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองภายในประเทศกับกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ โดยใช้ร่างสัญญาเช่นเดียวกับปี 2552

1.5 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ กำกับ ดูแลเมล็ดถั่วเหลือง ทำหน้าที่กำกับ ดูแลการนำเข้าการใช้เมล็ดถั่วเหลืองและการรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองภายในประเทศของผู้มีสิทธินำเข้าให้เป็นไปตามนโยบาย โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับปี 2552

2. ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)

ผู้มีสิทธินำเข้าต้องขึ้นทะเบียน Contract Farming ไว้กับกระทรวงพาณิชย์ การนำเข้าใช้หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกับการนำเข้าภายใต้กรอบ WTO

3. ภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)

ปริมาณการเปิดตลาดและอัตราภาษีนำเข้าเป็นไปตามข้อผูกพันการนำเข้าใช้หลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกับการนำเข้าภายใต้กรอบ WTO

4. ภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน

ปริมาณนำเข้าในโควตา 10,922 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 0 นอกโควตาร้อยละ 80.9 การ นำเข้าใช้หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกับการนำเข้าภายใต้กรอบ WTO

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ