ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 18, 2009 11:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2552 สรุปได้ดังนี้

1. แนวทางการแก้ไขปัญหามาบตาพุดในระยะเร่งด่วน

1.1 กรอบการทำงาน

ที่ประชุมมีข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็นของกรอบการทำงานว่ารัฐบาลมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่มาบตาพุดโดยเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนตระหนักว่าภาครัฐมีความจริงจังและได้ทุ่มเทความสามารถและทรัพยากรอย่างเต็มที่เพื่อแก้ปัญหามาบตาพุดให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด โดยภาครัฐมีความพร้อมในการสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งสามารถนำมาจัดสรรเพื่อแก้ไขปัญหามาบตาพุดและจังหวัดระยองได้ทันที

คณะกรรมการ กพอ. จะมุ่งเน้นแก้ปัญหามาบตาพุดเฉพาะเรื่องความเดือดร้อนจากผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นหลัก เนื่องจากเรื่องอื่นจะมีกลไกปกติดูแลอยู่แล้ว โดยจะจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา และจะมีการลงพื้นที่เพื่อรับฟังประเด็นปัญหาของประชาชนอย่างใกล้ขิดทุกวันจันทร์ สัปดาห์เว้นสัปดาห์ (เริ่มวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2552) หลังจากนั้นจะสรุปผลการทำงานรายงานให้คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการ กพอ. ทราบต่อไป

1.2 ความก้าวหน้าการดำเนินงานแก้ไขปัญหามลพิษและคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะที่ผ่านมา

1.2.1 การแก้ปัญหาด้านมลพิษ ผลการตรวจติดตามตรวจสอบปริมาณสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (VOCs) โดยกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ผลการตรวจวัดปริมาณวีโอซี ในพื้นที่มาบตาพุด 6 แห่ง ในเดือนกันยายน 2552 มีสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่มีค่าความเข้มข้นเกินค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปี ได้แก่ สาร 1,3 Butadiene สาร 1,2 Dichloroethane และสาร Benzene ปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษ แก้ไขปัญหาสารไอระเหยในกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และแผนที่จะแก้ปัญหา ดังนี้ (1) ปัญหาสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากสารเคมีรั่วจากระบบท่อ (2) ระบบน้ำใต้ดินในมาบตาพุดที่มีโลหะหนักปนเปื้อน และ(3) ปัญหาน้ำเสียที่คลองชากหมาก

1.2.2 การแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข ปัจจุบันสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาล ในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง เพื่อเสนอขอใช้งบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง วงเงินรวม 582.201 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2553-2555) ประกอบด้วย การพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลมาบตาพุดเป็นโรงพยาบาลด้านอาชีวเวชศาสตร์ขนาด 200 เตียง การพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลระยองให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ด้านโรคจากสิ่งแวดล้อม และโรคหรืออุบัติภัยเคมีอันตราย (Excellent Center) และการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลบ้านฉาง และโรงพยาบาลนิคมพัฒนา ทั้งนี้ โครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข

1.2.3 การแก้ปัญหาด้านคุณภาพชีวิตในชุมชนมาบตาพุด เทศบาลเมืองมาบตาพุดได้จัดนำโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 9 โครงการ วงเงินรวม 1,080.28 ล้านบาท

1.2.4 การแก้ปัญหาประปามาบตาพุด การประปาส่วนภูมิภาค (กปค.) ได้ดำเนินการขยายระบบผลิตประปาและระบบท่อส่งน้ำเรียบร้อยแล้ว ในวงเงินรวม 251 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของระเบียบพัสดุในจัดซื้อน้ำโดยวิธีพิเศษจากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน ทั้งนี้ ในปี 2553 กปภ. มีโครงการปรับปรุงเส้นท่อและขยายเขตจ่ายน้ำที่มาบตาพุด โดยจะขอใช้งบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งประมาณ 130 ล้านบาท

1.2.5 การศึกษาเปรียบเทียบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (บริษัท BASF) เมือง kitakyushu ประเทศญี่ปุ่น และอุตสาหกรรมในประเทศ โดย สศช. พบว่า ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีจุดอ่อนและควรมีการปรับปรุง ดังนี้ (1) การกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาของไทยยังมิได้ให้ความสำคัญกับขีดความสามารถรองรับการพัฒนาของพื้นที่ และขาดดำเนินการด้าน 3Rs ในอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง (2) กลไกการบริหารจัดการของไทยยังมิได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาต่างๆ ในทุกขั้นตอนการสื่อสารและรับฟังความเห็นชุมชนยังไม่เพียงพอ ทั่วถึง และต่อเนื่อง สำหรับ BASF และ kitakyushu มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย รัฐ — เอกชน — ชุมชน ตั้งแต่ระดับนโยบายถึงการปฏิบัติ ในขณะที่ประเทศไทยบริหารจัดการโดยคณะกรรมการนโยบายระดับชาติ (3) โครงการพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยเป็นการดำเนินการเท่าที่กฎหมายกำหนด พบปัญหาการบำบัดมลสารไม่ได้ตามมาตรฐาน รวมทั้งมีการรั่วไหลของมลสารอากาศ ทำให้ชุมชนขาดความเชื่อมั่นในมาตรฐานและความจริงใจของผู้ประกอบการ และมีการต่อต้านอย่างรุนแรง และ (4) การบำบัดมลสารของไทยยังเน้นการแก้ปัญหาที่ปลายท่อ ขาดการบูรณาการในการจัดการของเสียและนำกลับมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

2. มติคณะกรรมการ กพอ.

2.1 มอบหมายฝ่ายเลขานุการจัดทำรายชื่อโครงการแก้ปัญหามาบตาพุด สำหรับจัดลำดับความสำคัญโครงการ ร่วมกับจังหวัดระยองและภาคประชาชน เพื่อนำไปจัดทำแผนปฏิบัติการต่อไป ประกอบด้วย (1) โครงการตามแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมพลพิษจังหวัดระยอง พ.ศ. 2553-2556 (2) กลุ่มโครงการแก้ปัญหาของกรมควบคุมพลพิษ (3) กลุ่มโครงการพัฒนาศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง (4) โครงการปรับปรุงเส้นท่อและขยายเขตจ่ายน้ำของการประปาส่วนถูมิภาค และ (5) โครงการอื่นที่สำคัญ เช่น ป้ายอัจฉริยะบอกตัวชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม โครงการขุดลอกตะกอนคลองชากหมาก เป็นต้น

2.2 จัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุด โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เป็นประธาน ประกอบด้วย ผู้แทนจังหวัดระยอง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ โดยมี สศช. เป็นฝ่ายเลขานุการ ทำหน้าที่จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุดร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ กพอ. และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งประสานและเร่งรัดการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการฯ ให้มีประสิทธิผลโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้ฝ่ายเลขานุการประสานกระทรวงของรายชื่อผู้แทนหน่วยงานเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้แทนถาวรในคณะทำงาน ทั้งนี้ ในระยะเร่งด่วนจะเน้น การแก้ไขปัญหามลพิษ (อากาศ ขยะ น้ำเสีย)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ