เรื่อง การเข้าร่วมเป็นภาคีในระบบการยอมรับร่วมในข้อมูลการประเมินสารเคมีขององค์การเพื่อความร่วมมือ
และการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ (OECD)
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเข้าร่วมเป็นภาคีในระบบการยอมรับร่วมในข้อมูลการประเมินสารเคมีขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ (OECD) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้นำเสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป
ข้อเท็จจริง
กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอว่า
1. เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Cooperation and Development : OECD) การเข้าร่วมเป็นภาคีในระบบการยอมรับร่วมในข้อมูลการประเมินสารเคมีจึงเป็นในลักษณะของการผนวก (adhere) ประเทศไทยเข้ากับ OECD Council Acts ในส่วนที่เกี่ยวกับการยอมรับร่วมในข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเริ่มจากการแจ้งให้ OECD ทราบถึงเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่จะร่วมในระบบดังกล่าว ซึ่งเมื่อ OECD มีหนังสือเชิญประเทศไทยเข้าร่วมฯ ประเทศไทยต้องมีหนังสือตอบยืนยันการเข้าร่วมดังกล่าว โดยสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงานทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานกับ OECD และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขอบข่ายต่าง ๆ แต่ละด้าน ทำหน้าที่เป็นหน่วยกำกับดูแลการปฏิบัติตามหลักการ GLP (เรียกว่า GLP Compliance Monitoring Authority-CMA)
2. การเข้าร่วมเป็นภาคีในระบบการยอมรับร่วมในข้อมูลจะทำให้ข้อมูลการประเมินสารเคมีของห้องปฏิบัติการไทยได้รับการยอมรับจากภาคีอื่น ๆ โดยไม่ต้องทดสอบซ้ำ ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมกระบวนการส่งออกและลดอุปสรรคทางการค้าของไทย ยังช่วยให้ประเทศไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และรักษาการจ้างงานภายในประเทศ โดยประเทศไทยจะมีภาระผูกพันต่างๆ จากการเข้าร่วมเป็นภาคี อาทิ ไทยต้องยอมรับแบบฝ่ายเดียวในข้อมูลการประเมินสารเคมีของประเทศภาคีที่ได้รับการผนวกเข้าก่อนหน้านี้ และต้องเข้าร่วมกิจกรรมตามที่ OECD กำหนด นอกจากนี้หน่วยงานที่ศึกษาข้อมูลการประเมินสารเคมี และหน่วยงานติดตามและรับรองระบบงานของไทยจะต้องมีระบบการจัดการเป็นไปตามหลักการ Good Laboratory Practice (GLP) ของ OECD โดยมีหน่วยงานกำกับดูแลในแต่ละขอบข่าย (Compliance Monitoring Authority - CMA) ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามที่ OECD กำหนด ซึ่งข้อกำหนดประการหลังน่าจะเป็นผลดีในการช่วยยกระดับมาตรฐานการประเมินสารเคมีไทยให้ได้มาตรฐานสากล
สาระสำคัญของเรื่อง
การเข้าร่วมเป็นภาคีของ OECD มีขอบข่าย ภาระหน้าที่ ข้อผูกพัน และสิทธิประโยชน์ ดังนี้
1. ขอบข่าย : ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม ผลิตภัณฑ์ป้องกันศัตรูพืช ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยาสำหรับสัตว์ สารปรุงแต่งอาหาร สารปรุงแต่งอาหารสัตว์ และสารเคมีสำหรับอุตสาหกรรม
2. ภาระหน้าที่ :
2.1 ต้องมีหน่วยงานที่ศึกษาข้อมูลการประเมินสารเคมีที่มีระบบการจัดการเป็นไปตามหลักการ GLP ของ OECD โดยมีหน่วยรับรอง CMA กำกับดูแลในแต่ละขอบข่าย
2.2 CMA ต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามที่ OECD กำหนด (เช่น ระบบการจัดการ บุคลากร ฯลฯ) และต้องเข้าร่วมในกิจกรรมที่ OECD กำหนด
3. ข้อผูกพัน :
3.1 เมื่อประเทศไทยตอบยืนยันเข้าร่วมเป็นภาคีชั่วคราวแล้วต้องยอมรับข้อมูลการประเมินสารเคมีจากประเทศภาคีสมาชิกและประเทศอื่นที่ได้รับการผนวก (ปัจจุบันมี 34 ประเทศ) ทั้งนี้ เป็นการยอมรับฝ่ายเดียว
3.2 หลังจากเป็นภาคีเต็มรูปแบบแล้ว ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี 2,000 ยูโร
4. สิทธิประโยชน์ :
4.1 กลุ่มประเทศภาคีฯ OECD จะยอมรับข้อมูลการประเมินสารเคมีของประเทศไทย โดยไม่ต้องตรวจสอบซ้ำ ทำให้อำนวยความสะดวกและเพิ่มโอกาสทางการค้ารวมทั้งพัฒนาศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ
4.2 ได้รับความช่วยเหลือทางด้านวิชาการจาก OECD
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 --จบ--