ขออนุมัติลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 18, 2009 14:02 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและ

สำนักงานกิจการอวกาศส่วนนอกแห่งสหประชาชาติ

คณะรัฐมนตรีอนุมัติการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยน (Letter of Exchange) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักงานกิจการอวกาศส่วนนอกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Outer Space Affairs : UNOOSA) โดยมอบหมายให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา เป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ให้สามารถเปลี่ยนแปลงสาระหรือถ้อยคำในส่วนที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของหนังสือแลกเปลี่ยนได้ ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) รายงานว่า

1. UNOOSA ได้ร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยกฎหมายอวกาศแห่งสหประชาชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน รวม 6 ครั้ง

2. ปี 2553 สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ในสังกัด วท. ได้รับเชิญจาก UNOOSA ให้เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ United Nations/Thailand Workshop on Space Law ซึ่งกำหนดจัดการประชุมประมาณเดือนพฤศจิกายน 2553 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความเข้าใจ ยอมรับ และปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติเกี่ยวกับอวกาศส่วนนอก และส่งเสริมการพัฒนากฎหมายอวกาศระดับชาติ รวมทั้งเพื่อพัฒนาการศึกษาในด้านกฎหมายอวกาศให้แพร่หลาย ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านกฎหมายอวกาศระหว่างนักวิชาการของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ประมาณ 150 คน

3. การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการตามข้อ 2 เป็นการจัดในนามรัฐบาลไทย ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติของสหประชาชาตินั้น เจ้าภาพทั้งสองฝ่ายจะต้องลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยน (Letter of Exchange) ซึ่ง UNOOSA ได้จัดทำร่างหนังสือแลกเปลี่ยนที่ระบุเงื่อนไขและหน้าที่ความรับผิดชอบของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้รัฐบาลไทยพิจารณาลงนาม

4. สทอภ.พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนดังกล่าว มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดการประชุมในประเด็นการยืนยันเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตให้กับผู้เข้าร่วมประชุม โดยในเรื่องนี้ประเทศไทยมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว คือพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษในประเทศไทย พ.ศ. 2504

ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฉบับนี้จึงไม่เข้าข่ายหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190 วรรคสอง ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน ด้วยไม่มีเนื้อหาส่วนใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ