ขออนุมัติจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมนัดพิเศษ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 18, 2009 14:05 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมนัดพิเศษ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมนัดพิเศษ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2552 ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

2. อนุมัติวงเงินงบประมาณ จำนวน 3,500,000 บาท โดยให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง พิจารณาจัดสรรงบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมดังกล่าว ทั้งนี้ การใช้จ่ายงบประมาณจะเป็นไปตามที่เบิกจ่ายจริง

ข้อเท็จจริง

1. นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือเชิญผู้นำอาเซียนเข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดท่าทีร่วมที่จะสนับสนุนการประชุมของรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 15 (the Fifteenth session of the Conference of the Parties : COP15) และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 5 (the Fifth session of the Conference of the Parties serving as the Meeting of the Parties serving as the Meeting of the Parties to the Kyoto Protocol : CMP5) ณ กรุงโคเปนเฮเกน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ให้บังเกิดผลสำเร็จ โดยยังไม่ได้กำหนด วัน เวลา และสถานที่ประชุม

2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมหารือกับกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ควรมีการจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมนัดพิเศษ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2552 ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้เนื่องจากการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมระดับผู้นำอาเซียน และประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนควรมีบทบาทในการเป็นผู้นำด้านการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานหลักแห่งชาติ (National Focal Point) ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะต้องเตรียมการจัดประชุมดังกล่าวต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

ในการจัดการประชุมดังกล่าว จะเป็นการพิจารณาเอกสาร ซึ่งเป็นกรอบข้อผูกพันทางการเมือง (Political Document) เพื่อนำเสนอในการประชุม COP15 ณ กรุงโคเปนเฮเกน เพื่อให้มีการพัฒนาข้อผูกพันดังกล่าวไปสู่การเจรจาจัดทำเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Legal Binding Document) ให้ได้ภายในปี 2010

ทั้งนี้ กรอบข้อผูกพันทางการเมืองดังกล่าว ควรสะท้อนถึงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีหลักการ 5 ประการที่สำคัญคือ

1) หลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง (Common but Differentiated Responsibilities)

2) เป้าหมายที่สามารถตรวจสอบได้ (Measurement, Reporting and Verification : MRV)

3) การดำเนินการที่เป็นขั้นตอน (Stepping Stone) เพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส

4) การให้ความช่วยเหลือและกลไกทางการเงิน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ประเทศกำลังพัฒนา

5) การประกาศระยะเวลาการดำเนินการที่ชัดเจน แม้ว่าเป้าหมายต่าง ๆ จะเป็นของประเทศพัฒนาแล้ว (Annex I Countries) แต่ก็ขอให้ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ (Non-Annex I Countries) พิจารณาด้วยว่าจะประกาศเป้าหมายการดำเนินการใด ๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้บ้าง ทั้งนี้ เป้าหมายและผลประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนจะมีลักษณะเบ็ดเสร็จครอบคลุมทุกประเด็น (Comprehensive and cover all aspects) แต่ว่าจะให้ความยืดหยุ่นกับประเทศต่างๆ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ