การลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 25, 2009 14:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการปฏิรูป ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามอัตราการเรียกเก็บค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้เหลือในอัตราร้อยละ 0.01 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ตามที่ระบุไว้ในร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า ในการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมฯ ต่อไป เนื่องจาก

1. ในทางปฏิบัติตั้งแต่ได้มีการประกาศกระทรวงมหาดไทยในเรื่องดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ยังไม่สามารถดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้กับเกษตรกรผู้เช่าซื้อได้ทั้งหมดเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อที่เกษตรกรทำไว้กับ ส.ป.ก. เป็นสัญญาระยะยาว หรือบางรายเปลี่ยนจากสัญญาเช่าเป็นเช่าซื้อ อีกทั้งยังมีเกษตรกรบางรายที่สัญญาเช่าซื้อครบกำหนด และได้ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วแต่ตัวเกษตรกรยังไม่พร้อมที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งข้อมูลที่ตรวจสอบได้ในขณะนี้พบว่ามีสัญญาเช่าซื้อที่โอนกรรมสิทธิ์ให้กับเกษตรกรแล้ว จำนวน 2,348 ราย เนื้อที่ 45,984-1-38.00 ไร่ ที่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้กับเกษตรกรจำนวน 9,692 ราย เนื้อที่ 158,285-0-96.52 ไร่ ดังนั้น ส.ป.ก.จึงไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ระยะเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย

2. เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ยากจนและเป็นมาตรการที่จะช่วยสนับสนุนให้การดำเนินการของ ส.ป.ก.บรรลุวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งแตกต่างจากมาตรการการลดหย่อน ค่าธรรมเนียมในกรณีของการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งจะมีการกำหนดระยะเวลาในการใช้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น

3. หากพิจารณาในส่วนของผลกระทบที่รัฐจะได้รับ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาจากจำนวนที่ดินเอกชนทั้งหมดที่ ส.ป.ก.มีอยู่จำนวนประมาณ 4.89 แสนไร่ คิดเป็นวงเงินขั้นต่ำที่รัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 398 ล้านบาท โดยได้จัดทำสัญญาเช่าซื้อแล้วประมาณ 9,000 ราย และสัญญาเช่าที่เกษตรกรสามารถเปลี่ยนเป็น สัญญาเช่าซื้อต่อไปประมาณ 20,000 ราย ดังนั้น เมื่อเทียบกับการดำเนินการของ ส.ป.ก. ซึ่งได้โอนกรรมสิทธิ์ให้เกษตรกรไปแล้ว จำนวน 2,348ราย เนื้อที่ 45,984-1-38.00 ไร่ การดำเนินการที่ผ่านมาของ ส.ป.ก.ยังไม่เกินจากผลกระทบที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาไว้

4. ในส่วนของการดำเนินการจัดซื้อที่ดินของ ส.ป.ก.เพื่อนำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินในอนาคต ส.ป.ก.มีภารกิจในการจัดซื้อที่ดินเพื่อรองรับโครงการสมัชชาประชาชน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 โดยมีเนื้อที่ที่จะดำเนินการจัดซื้อประมาณ 28,335 ไร่ มีเกษตรกรที่จะได้รับการจัดที่ดินประมาณ 1,889 ราย และจะได้รับที่ดินรายละประมาณ 15 ไร่ ซึ่งมาตรการการลดหย่อนค่าธรรมเนียมฯ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนในการดำเนินการปฏิรูปที่ดิน เนื่องจากการได้ที่ดินมาเพื่อการปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก.จัดซื้อที่ดินในราคาที่ต่ำเพื่อให้เกษตรกรผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับภาระราคาที่ดินมากเกินไป ดังนั้น มาตรการการลดหย่อนค่าธรรมเนียมฯ จึงเป็นแรงจูงใจให้เจ้าของที่ดินนำที่ดินมาขายให้กับ ส.ป.ก. โดย ส.ป.ก.ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการเวนคืนที่ดิน

5. ปัจจุบันยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่ยังมิได้รับประโยชน์จากมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมฯ อย่างเท่าเทียมกัน และเป็นการลดภาระในเรื่องค่าธรรมเนียมฯ ให้กับเกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ยากจน อีกทั้งเป็นการสนับสนุนให้การดำเนินการของ ส.ป.ก. บรรลุวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินจึงเห็นว่ามาตรการการลดหย่อนค่าธรรมเนียมฯ ยังมีความจำเป็นต่อการดำเนินการของ ส.ป.ก.จนกว่าการแก้ไขกฎหมายของ ส.ป.ก.จะแล้วเสร็จ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ