คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 8/2552 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอดังนี้
1. ยุทธศาสตร์ยางและไม้ยางพารา
1.1 สาระสำคัญ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอที่ประชุมพิจารณา ดังนี้
1.1.1 เร่งแต่งตั้งให้ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน เข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติตามที่ได้รับความเห็นชอบไว้แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเสนอยุทธศาสตร์และแนวทางแก้ไขปัญหาได้โดยตรงและทันต่อเหตุการณ์ผ่านคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ
1.1.2 ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราในปริมาณสูงและสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงสุดตามลำดับ คือ อุตสาหกรรมยางล้อและอุตสาหกรรมถุงมือยาง ดังนี้
1) สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการลงทุนแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางล้อในประเทศไทย โดยดำเนินการเชิงรุกในการเชิญชวนผู้ผลิตยางล้อชั้นนำของโลกเข้ามาลงทุนหรือขยายการลงทุนในประเทศไทยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศแทนการส่งออกในรูปวัตถุดิบ ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการขยายตัวด้านเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง รวมทั้งจะเกิดการสร้างงาน และรัฐจะได้รับผลตอบแทนจากภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนเป็นช่องทางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการยางล้อไทย
2) จัดตั้งสถาบันพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและร่วมมือกับมหาวิยาลัยมหิดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางของการวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง และลงทุนด้านห้องทดสอบ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับต่อความต้องการของอุตสาหกรรมยางทั้งระบบ ตลอดจนเป็นกลไกในการเพิ่ม Productivity ให้กับผู้ประกอบการไทย โดยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยางล้อ และถุงมือยางในระยะแรก
1.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
1.2.1 มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จัดเวทีสำหรับผู้ประกอบการเพื่อทำ Business Matching รวมทั้งรับไปพิจารณาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการลงทุนเพื่อสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปยางในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ โดยมีกรอบระยะเวลาทำงาน 1 เดือน แล้วรายงานต่อคณะกรรมการ กรอ.
1.2.2 มอบหมายสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ เร่งรัดและติดตามการดำเนินการตามขั้นตอนของการเพิ่มผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ
1.2.3 มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม รับไปพิจารณาดำเนินการต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมยางในขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ โดยให้เชื่อมโยงกับการพัฒนายางต้นน้ำตามยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา พ.ศ. 2552-2556 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งรับหลักการให้มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา
2. การขอปรับลดค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล
2.1 สาระสำคัญ คณะกรรมการ กกร. ได้เสนอแนะแนวทางการขอปรับลดค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล ดังนี้
2.1.1 ขอให้ปรับลดค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลจาก 8.50 บาท/ลบ.ม. ลงเหลือ 4.50 บาท/ลบ.ม. ตามมติคณะกรรมการน้ำบาดาล เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2551 โดยการแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของภาคเอกชน ที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้น้ำบาดาล อีกทั้งสามารถปรับลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้สามารถดำรงอยู่และแข่งขันกับต่างประเทศได้
2.1.2 ขอให้จัดหาน้ำภาคอุตสาหกรรม ให้ผู้ประกอบการทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมทั้งบริเวณอื่นๆ อย่างเหมาะสมและเพียงพอ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการใช้น้ำอย่างบูรณาการต่อความมั่นคงในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
2.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาดำเนินการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทยโดยการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายในกรอบระยะเวลา 2 เดือน ดังนี้
2.2.1 ทบทวนความเป็นไปได้ในการปรับปรุงอัตราค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยคำนึงถึงแนวโน้มปริมาณการใช้น้ำที่จะเพิ่มขึ้นและความเสี่ยงของสถานการณ์การทรุดตัวของแผ่นดิน ทั้งนี้ ให้มีการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องอัตราการสูบน้ำแบบปลอดภัย (Safe Yield) ที่เชื่อถือได้โดยมีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับ อัตราการทรุดตัวของแผ่นดิน และปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำบาดาลซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
2.2.2 พิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์จากเงินกองทุนอนุรักษ์น้ำบาดาลเพื่อช่วยเหลือ และพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม โดยอาจดำเนินการได้ 2 ลักษณะ คือ (1) ชดเชยเงินคืนให้ผู้ประกอบการที่เปลี่ยนจากการใช้น้ำบาดาลมาเป็นน้ำประปา และ (2) สำหรับพื้นที่ที่โครงข่ายของระบบน้ำประปายังไม่ครอบคลุมและภาคอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำบาดาลในกระบวนการผลิต ควรมีการช่วยเหลือในด้านประสิทธิภาพการใช้น้ำบาดาล หรือมีมาตรการลดหย่อน เป็นต้น และใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำบาดาล และแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ พัฒนาแหล่งน้ำทดแทน พัฒนาเทคโนโลยีสะอาด ประหยัดน้ำ และนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (ครอบคลุมน้ำเสียที่ปล่อยจากครัวเรือน) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ รวมทั้ง ใช้ในการสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อย้ายฐานไปตั้งในเขตนิคมอุตสาหกรรม
2.2.3 จัดทำแผนพัฒนาน้ำเพื่อภาคอุตสาหกรรม โดยพิจารณาจัดหาแหล่งน้ำธรรมชาติทดแทนหรือแหล่งน้ำอื่นที่เหมาะสมให้ผู้ประกอบการทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งบริเวณอื่นๆ อย่างเหมาะสมและเพียงพอ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการใช้น้ำอย่างบูรณาการ
3. การพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทย
3.1 สาระสำคัญ คณะกรรมการ กกร. เสนอที่ประชุมพิจารณาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทย ใน 3 ประเด็น ดังนี้
3.3.1 ให้ภาครัฐดำเนินการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทย ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อทดแทนการนำเข้า และเพิ่มโอกาสผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่อุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ
3.3.2 ให้ภาครัฐให้สิทธิประโยชน์ทั้งในรูปแบบทางภาษีและไม่ใช่ภาษีสำหรับผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนป้อนอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และให้ความสำคัญในลำดับแรกสำหรับผู้เสนอราคาซึ่งใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ (Local Content) ในสัดส่วนที่สูง
3.3.3 ให้จัดตั้งสถาบันพัฒนาการขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องของประเทศไทย และให้ดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วยภาครัฐ คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเอกชน ประกอบด้วย กกร. และพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
3.2.1 มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้นำผลการศึกษารายงานต่อคณะกรรมการ กรอ. ต่อไป
3.2.2 มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาการขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องของประเทศไทย โดยให้พิจารณาถึงโครงสร้างองค์ประกอบของสถาบัน บทบาท และหน้าที่ให้ชัดเจนด้วย
3.2.3 มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาแนวทางการกำหนดเงื่อนไขการจัดหาระบบรถไฟฟ้า และรถไฟ โดยให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งในด้านการผลิต การเดินรถและซ่อมบำรุง ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรไว้ในขอบเขตการดำเนินงาน (Term of Reference: TOR)
3.2.4 มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดำเนินการสำรวจศักยภาพและขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยในการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทย เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาต่อไป
4. การทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 เรื่องการทำสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน (อนุญาโตตุลาการ)
4.1 สาระสำคัญ คณะกรรมการ กกร. เสนอที่ประชุมพิจารณาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 28 กรกฎาคม 2552 เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ให้หน่วยงานของรัฐสามารถพิจารณาระบุในสัญญากับเอกชนให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทได้ตามความจำเป็นและสมควรต่อสถานการณ์
4.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
4.2.1 รับทราบความเห็นของที่ประชุมถึงข้อจำกัดการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเร่งรัดชี้แจงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจถึงมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 ว่าไม่ได้เป็นข้อห้ามต่อหน่วยงานภาครัฐในการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาท
4.2.2 มอบหมายประธานผู้แทนการค้าไทยประมวลเรื่องการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาท และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
5. นโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง)
5.1 สาระสำคัญ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอให้รัฐบาลเร่งประกาศนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปี 2553 เนื่องจากนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปี 2552 จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการ ซึ่งกากถั่วเหลืองที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ไทยสามารถผลิตได้ปีละประมาณ 3 แสนตัน และต้องนำเข้าอีกปีละ 2 ล้านตัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ โดยส่วนใหญ่ไทยนำเข้าจากประเทศบราซิล และอินเดีย
5.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
เห็นควรให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดหาข้อสรุปอัตราอากรขาเข้ากากถั่วเหลือง และเสนอนโยบาย และและมาตรการนำเข้ากากถั่วเหลืองปี 2553 ต่อคณะรัฐมนตรี ก่อนการประชุมคณะกรรมการ กรอ. ครั้งต่อไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2552
6. ความคืบหน้าข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484
6.1 สาระสำคัญ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงานความคืบหน้าข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ตามมติคณะกรรมการ กรอ. ครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552 ว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยกรมป่าไม้ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 ซึ่งที่ประชุมมีมติดังต่อไปนี้
6.1.1 การขยายรอบระยะเวลาการจัดทำบัญชีไม้เป็นทุก 7 วัน จะต้องมีการแก้ไขข้อกำหนดฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2532) ว่าด้วยการควบคุมการแปรรูปไม้
6.1.2 การต่ออายุใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ของกรมป่าไม้ที่มีอายุ 1 ปี ต่ออายุคราวละ 1 ปี มีความเหมาะสมอยู่แล้ว แต่ควรเร่งรัดขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงานให้รวดเร็วสะดวกแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น
6.1.3 การขอแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเสนอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย ส่วนราชการและภาคเอกชนร่วมกันพิจารณา เนื่องจากการแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ เพื่อแก้ไขปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมไม้ยางพารา อาจก่อให้เกิดปัญหาในการควบคุมตรวจสอบกิจการอุตสาหกรรมไม้ประเภทอื่นๆ เนื่องจากมีกฎหมาย ข้อกำหนด และระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก การแก้ไขเฉพาะเรื่องอาจกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวเนื่องกัน ประกอบกับปัจจุบันยังมีการนำไม้ที่มิชอบด้วยกฎหมายมาสวมรอยเป็นไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ให้เข้าโรงงานแปรรูปไม้ เป็นปัญหาต่อการตรวจสอบควบคุมของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งหน่วยงานในระดับพื้นที่ขาดแคลนอัตรากำลังและเครื่องมือในการปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ กรมป่าไม้จะนำมติของที่ประชุมดังกล่าวเสนอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อพิจารณาแนวทางในการดำเนินการดังกล่าวต่อไป
6.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
รับทราบ โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการทบทวนและ หาแนวทางปรับปรุง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและมีประสิทธิภาพมากขึ้นภายในกรอบระยะเวลา 2 เดือน และรายงานต่อคณะกรรมการ กรอ. ต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 --จบ--