คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ประธานกรรมการอำนวยการกำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เสนอดังนี้
คณะกรรมการอำนวยการกำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ได้จัดให้มีการประชุม คชอ. ครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ณ ห้อง 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2552 จนถึงปัจจุบัน และเร่งรัดการช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งพิจารณาแผนงาน/โครงการในการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน และการให้ความช่วยเหลือภายหลังน้ำลด โดยให้เรียนเชิญผู้แทนจังหวัดที่ประสบอุทกภัยทั้ง 10 จังหวัด เข้าร่วมรายงานสถานการณ์ มีผลการดำเนินการสรุปได้ดังนี้
1. การดำเนินการ
1.1 สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดจากพายุ “กิสนา” ระหว่างวันที่ 25 - 28 กันยายน 2552
คณะรัฐมนตรีในการประชุม เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานเร่งสำรวจความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการช่วยเหลือและฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น ให้หน่วยงานขอรับการสนับสนุนงบประมาณมายัง คชอ. ซึ่งจากการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว มีหน่วยงานขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 11 หน่วยงาน 10 จังหวัด วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,577.6905 ล้านบาท
ลำดับที่ หน่วยงาน งบประมาณ(ล้านบาท) 1 กระทรวงมหาดไทย 525.312 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (10 จังหวัด) 525.312 2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1,229.80 กรมชลประทาน 37.58 กรมส่งเสริมการเกษตร 1,027.40 กรมปศุสัตว์ 20.8974 กรมประมง 143.518 3 กระทรวงคมนาคม 1,395.53 กรมทางหลวง 1,041.80 กรมทางหลวงชนบท 353.739 4 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 190.109 กรมทรัพยากรน้ำ 130.617 กรมทรัพยากรน้ำบาลดาล 59.492 5 กระทรวงศึกษาธิการ 227.782 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 30.0414 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 197.741 6 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 9.1548 รวมทั้งสิ้น 3,577.69
ซึ่ง คชอ. มีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการ และงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นประธาน รับไปพิจารณาดำเนินการและนำเสนอ คชอ. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือต่อไป
1.2 สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ระหว่าง วันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 จนถึงปัจจุบัน
2. สถานการณ์ทั่วไป
2.1 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์ว่า อิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปมีคลื่นลม และฝนตกหนักถึงหนักมาก และเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก มีพื้นที่ประสบภัย 10 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ชุมพร ตรัง และสตูล รวม 99 อำเภอ 519 ตำบล 3,317 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 198,366 คน 721,441 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 20 คน (จังหวัดยะลา 7 ราย จังหวัดพัทลุง 3 ราย และจังหวัดนราธิวาส 10 ราย) บาดเจ็บ 12 ราย บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 17 หลัง เสียหายบางส่วน 1,941 หลัง ถนนเสียหาย 1,554 สาย สะพาน 158 แห่ง บ่อปลา/กุ้ง 4,636 บ่อ ปศุสัตว์ 3,805 ตัว สัตว์ปีก 34,943 ตัว และพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเบื้องต้นประมาณ 126,653 ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นอยู่ระหว่างการสำรวจ ปัจจุบัน (ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2552) สถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
2.2 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยกรมอุตุนิยมวิทยารายงานสภาพอากาศ ทั่วไปบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงปกคลุมประเทศจีนตอนใต้แล้วคาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาว เวียดนามตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552) ทำให้บริเวณ ดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในระยะแรกหลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2- 4 องศา กับมีลมแรงและคลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นโดยมีคลื่นสูง 2 — 3 เมตร สำหรับภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สำหรับมรสุมที่เกิดขึ้นเนื่องจากจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ อยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งบางจังหวัดจะยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนมกราคม 2553 จึงขอให้จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ได้ประกาศแจ้งเตือนประชาชนและเตรียมการในการช่วยเหลือ กรณีที่มีฝนตกหนักและเกิดน้ำป่าไหลหลาก
3. การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและความเสียหายที่เกิดขึ้น
3.1 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มอบหมายให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา สนับสนุนบุคลากร สิ่งของ เครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยในพื้นที่ คือ เจ้าหน้าที่กู้ภัยและชุด ERT จำนวน 60 นาย ถุงยังชีพ 1,012 ถุง เรือ 28 ลำ รถบรรทุก 4 คัน รถเครน 1 คัน รถยนต์กู้ภัยเอนกประสงค์ 2 คัน และจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว และจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือจากเงินทดรองราชการ (งบ 50 ล้านบาท ที่ตั้งไว้ในแต่ละจังหวัด) ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินฯ ต่อไป อนึ่ง จากรายงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้แทนทั้ง 10 จังหวัด สรุปได้ว่า จังหวัดได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยใช้เงินทดรองราชการของจังหวัดดำเนินการ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว คงมีบางส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น กรณีบ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง สะพาน ถนน ที่ได้รับความเสียหาย สถานการณ์โดยทั่วไปคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
3.2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัย และให้การช่วยเหลือเบื้องต้น โดยสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 4 จังหวัด จำนวน 72 เครื่อง สนับสนุนพืชอาหารสัตว์ 101.43 ตัน แร่ธาตุและเวชภัณฑ์ 198 ชุด และดูแลสุขภาพสัตว์ 18,924 ตัว ได้สั่งการให้ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัดเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วม และจัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ตลอดเวลาในช่วงวิกฤต สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย อยู่ระหว่างมีการสำรวจต่อไป
3.3 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีหนังสือขอความร่วมมือจังหวัด แจ้งสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ดำเนินการเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากรและอุปกรณ์ เพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์อุทกภัย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 โดยเตรียมการให้การดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ตลอดจนเตรียมการฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย ตามแผนการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ โดยเตรียมการฟื้นฟูผู้ประสบภัย ด้านสังคมสงเคราะห์ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)
3.4 กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดส่งข้าวสารบริจาคให้ทุกจังหวัดที่ประสบภัยตามที่จังหวัดร้องขอแล้ว สำหรับจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี ได้จัดส่งข้าวสารบริจาค จำนวน 660 ถุง
3.5 กระทรวงสาธารณสุข ได้แจกยารักษาโรค จำนวน 195,000 ชุด งบประมาณ 8 ล้านบาท รวมทั้งเตรียมพร้อมในความช่วยเหลือตลอดเวลา โดยผ่านสายด่วน 1669
3.6 กระทรวงกลาโหม ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจัดกำลังพลจากกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เข้าทำการให้ความช่วยประชาชนตั้งแต่วันที่ 3 — 16 พฤศจิกายน 2552 สำหรับการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้มีการจัดตั้งศูนย์รับบริจาคขึ้น โดยประชาสัมพันธ์ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 มียอดรับบริจาคทั้งสิ้น 30 ล้านบาทเศษ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคำสั่งให้นำเงินดังกล่าวไปจัดซื้อถุงยังชีพเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยโดยเร็ว โดยขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการทุกจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ได้กรุณาให้ข้อมูลการช่วยเหลือ จำนวนพื้นที่กับหน่วยทหารที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ด้วย
3.7 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำเขตตรวจราชการภาคใต้ รวม 3 คน ได้แก่ นางรังสี พันธุมจินดา นายวิสุทธิ์ นิรัตติวงศกรณ์ และนางนิตยา วงศ์เดอรี ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบอุทกภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์และเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยด่วนต่อไป
4. การสำรวจความเสียหาย แผนงาน/โครงการ และแนวทางในการช่วยเหลือ
เนื่องจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดทำแผนปฏิบัติการและงบประมาณ ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2553 — 2555) ภายใต้แผนแม่บทการป้องกันและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และโคลนถล่ม (ระยะ 5 ปี) ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์การป้องกันและช่วยเหลือไว้แล้ว ประกอบกับการช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือจากเงินทดรองราชการที่ตั้งไว้ที่จังหวัด และหน่วยงานต่างๆ (งบ 50 ล้านบาท ที่ตั้งไว้ในแต่ละจังหวัด) ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินฯ
ดังนั้น จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีบทบาทและภารกิจในแต่ละยุทธศาสตร์ได้ติดตามสถานการณ์ จัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน และรายงานให้ที่ประชุมได้รับทราบเป็นระยะๆ ต่อไป และหากพิจารณาเห็นว่าสถานการณ์รุนแรงและจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และฟื้นฟูสาธารณูปโภคให้กลับสู่สภาพการใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว ให้หน่วยงานต่างๆ สำรวจความเสียหายและเสนอแผนงาน/โครงการมายัง คชอ. ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 เพื่อจะได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการ และงบประมาณการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นประธาน รับไปพิจารณากลั่นกรองตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาแผนงาน/โครงการ/งบประมาณในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคใต้ ดังนี้
1) ในเบื้องต้นเป็นเหตุการณ์อุทกภัยตั้งแต่วันที่ 2 - 30 พฤศจิกายน 2552
2) เป็นการให้ความช่วยเหลือความเดือดร้อนที่มีความจำเป็นเร่งด่วน
3) เป็นการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม (ไม่เป็นการปรับปรุงเพื่อจัดหาใหม่ในลักษณะการเพิ่มประสิทธิภาพ ยกเว้นเป็นรายกรณีไป โดยพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม)
4) ระยะเวลาดำเนินการควรแล้วเสร็จภายใน 30 กันยายน 2553
5) การฟื้นฟูควรให้ความสำคัญในระดับรองลงมา
6) อัตราการให้ความช่วยเหลือให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สำหรับในส่วนอื่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และระเบียบของทางราชการ
7) ต้องสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่หรือภารกิจของหน่วยงาน โดยไม่เกิดความซ้ำซ้อน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ติดตามสถานการณ์อุทกภัย และการช่วยเหลือ โดยรายงานให้ คชอ. ทราบเป็นระยะ จนสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 --จบ--