ร่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 2, 2009 11:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยรับข้อสังเกตของกระทรวงกลาโหมไปพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ข้อเท็จจริง

กระทรวงคมนาคมเสนอตามรายงานของกรมการขนส่งทางอากาศว่าสมควรกำหนดให้อากาศยานสามารถจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ได้ตามกฎหมายเช่นเดียวกับอสังหาริมทรัพย์บางประเภทที่สามารถจำนองเป็นประกันหนี้ได้ตามกฎหมาย เช่น เครื่องจักรตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2514 เรือตามพระราชบัญญัติการจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล พ.ศ. 2537 และรถยนต์ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2551 เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเป็นการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมการบิน และเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและการขนส่งทางอากาศของเอเชีย จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. เพิ่มบทบัญญัติในหมวด 3 ส่วนที่ 2 การจำนองอากาศยาน (ร่างมาตร 5 โดยเพิ่มมาตรา 33/1 ถึงมาตรา 33/16) ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.1 กำหนดให้บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ใช้บังคับแก่การจำนองอากาศยานตามพระราชบัญญัตินี้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย่งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 33/1)

1.2 กำหนดให้อากาศยานที่จดทะเบียนเป็นทรัพย์สินประเภทที่จำนองเป็นประกันหนี้ได้ตามกฎหมาย (ร่างมาตรา 33/2)

1.3 กำหนดให้การจำนองอากาศยานย่อมครอบไปถึงลำตัวอากาศยาน ส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน ชิ้นส่วนของอากาศยาน และบริภัณฑ์ที่ติดตั้งกับอากาศยานนั้น (ร่างมาตรา 33/3)

1.4 กำหนดให้ผู้รับจำนองต้องเป็นสถาบันการเงิน หรือบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และการจำนองอากาศยานต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งระบุมูลหนี้และจำนวนหนี้ที่จำนองอากาศยานนั้นไว้เป็นประกัน (ร่างมาตรา 33/5 —มาตรา 33/7)

1.5 กำหนดให้ผู้ขอจดทะเบียนจำนองอากาศยานต้องเป็นเจ้าของอากาศยาน (ร่างมาตรา 33/8)

1.6 กำหนดให้การลำดับบุริมสิทธิเหนืออากาศยาน และกรณีบุคคลหลายคนมีบุริมสิทธิเหนืออากาศยานในลำดับเดียวกัน ให้ต่างคนต่างได้รับ ชำระหนี้เฉลี่ยตามส่วนของจำนวนเงินที่ตนเป็นเจ้าหนี้ (ร่างมาตรา 33/15 และ ร่างมาตรา 33/16)

2. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ