ขออนุมัติดำเนินงานโครงการพัฒนาตลาดและแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าตามนโยบายของรัฐบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 2, 2009 13:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาตลาดและแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าตามนโยบายของรัฐบาล (นำโครงการจัดตั้งศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพาราและจำหน่ายปัจจัยการผลิตยางพารา และโครงการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยการผลิตยางแผ่นรมควันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ปรับปรุงรวมกัน) โดยใช้เงินเหลือจ่ายของโครงการแทรกแซงตลาดยางพารา จำนวน 475.8 ล้านบาท ในการดำเนินงาน และขอขยายระยะเวลาเบิกจ่ายเงินได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2553 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ได้ปรับปรุงโครงการจัดตั้งศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพาราและจำหน่ายปัจจัยการผลิตยางพารา และโครงการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยการผลิตยางแผ่นรมควันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตามแผนบริหารราชการแผ่นดินข้างต้น โดยนำโครงการทั้ง 2 มารวมกัน เป็นโครงการพัฒนาตลาดและแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าตามนโยบายของรัฐบาล โดยขอใช้เงินเหลือจ่ายของโครงการแทรกแซงตลาดยางพารา จำนวน 475.8 ล้านบาท มาดำเนินการและได้นำโครงการดังกล่าวเสนอคณะกรรมการบริหารกิจการของ อ.ส.ย. พิจารณาแล้วในการประชุมครั้งที่ 4,5,7 และ 9/2552 ซี่งคณะกรรมการ อ.ส.ย. เห็นว่า สภาพตลาดยางในอนาคตมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือ ตลาดยางแผ่นรมควันมีแนวโน้มลดลงตลาดน้ำยางข้นไม่มีทิศทางดีขึ้นอย่างชัดเจนและเผชิญกับปัญหาด้านวัตถุดิบเพราะเกษตรกรไม่นิยมขายน้ำยางสด อีกทั้งการผลิตน้ำยางข้นมีต้นทุนขนส่งประมาณร้อยละ 19 ส่วนตลาดยางแท่น STR 20 มีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ จึงสมควรสร้างโรงงานยางแท่ง STR 20 เพียงชนิดเดียว และให้จัดหาที่ดินโดยการขอใช้ประโยขน์ที่ดินสาธารณะแทนการซื้อที่ดิน ดังนั้น คณะกรรมการ อ.ส.ย. จึงมีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาตลาดและแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าตามนโยบายของรัฐบาลและให้ดำเนินการ ดังนี้

1. สร้างโรงงานพร้อมติดตั้งเครื่องจักรผลิตยางแท่ง SRT 20 ขนาดกำลังผลิต 20,000 ตันต่อปี พร้อมด้วยอาคารสำนักงาน บ้านพัก บ่อบำบัดน้ำเสีย อาคารผสมปุ๋ย และครุภัณฑ์จำเป็นต่าง ๆ ในวงเงินแห่งละ 154.6 ล้านบาท ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมด้านวัตถุดิบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างทั่วถึงและระบบขนส่ง ทั้งด้านวัตถุดิบและผลผลิตที่จะจำหน่ายไปต่างประเทศ จำนวน 3 แห่ง คือ

1) ในพื้นที่ตำบลไพร อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ 1 แห่ง

2) ในพื้นที่ตำบลผาสุก อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี 1 แห่ง

3) ในพื้นที่ตำบลนาคำ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม 1 แห่ง

2. ก่อสร้างศูนย์รับซื้อผลผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิต ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน โกดังเก็บ ยาง ลานตาก และครุภัณฑ์ที่จำเป็นในวงเงินแห่งละ 2.0 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรีในการช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกรให้สามารถขายยางได้ในราคาที่เป็นธรรม และได้รับการบริการปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี โดยแยกงบลงทุนจากงบลงทุนของการก่อสร้างโรงงานผลิตยางแท่ง STR 20 ของแต่ละสาขาและให้กระจายอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมและให้พิจารณาระยะทาง รวมทั้งระบบการบริหารจัดการในการซื้อวัถตุดิบ เพื่อจำหน่ายให้ผู้ประกอบการรายอื่นหรือส่งให้โรงงานของ อ.ส.ย. จำนวน 6 ศูนย์ ดังนี้

2.1 ศูนย์รับซื้อผลผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตตำบลเชียงแรง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา บริการเกษตรกรในเขตจังหวัดพะเยา จังหวัดเชียงราย และจังหวัดน่าน

2.2 ศูนย์รับซื้อผลผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตตำบลบ้านยาง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก บริการเกษตรกรในเขตจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์

2.3 ศูนย์รับซื้อผลผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตตำบลทรงธรรม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร บริการเกษตรกรในเขตจังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดตาก จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดนครสวรรค์

2.4 ศูนย์รับซื้อผลผลิตและจำหน่ายการผลิตตำบลกุดน้ำใส อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ บริการเกษตรกรในเขตจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดนครราชสีมา

2.5 ศูนย์รับซื้อผลผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย บริการเกษตรกรในเขตจังหวัดหนองคาย จังหวัดสกลนคร และจังหวัดอุดรธานี

2.6 ศูนย์รับซื้อผลผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตตำบลพุ่มแก อำเภอแก จังหวัดนครพนม บริการเกษตรกรในเขตจังหวัดนครพนมโซนใต้ จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดกาฬสินธุ์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ