เรื่อง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต (ปีงบประมาณ 2552-2556) [งบประมาณประจำปี 2552 เพิ่มเติม ครั้งที่ 7
และงบประมาณประจำปี 2553 เพิ่มเติม ครั้งที่ 2] ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
1. อนุมัติในหลักการโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต (ปีงบประมาณ 2552-2556) วงเงินลงทุน 5,791.122 ล้านบาท [รวมสำรองราคาและปริมาณงานเปลี่ยนแปลงร้อยละ 10 และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7]
2. อนุมัติในหลักการงบประมาณลงทุนที่จัดทำเป็นโครงการประจำปีงบประมาณ 2552 เพิ่มเติม โดยมีกรอบดำเนินการ 1.803 ล้านบาท [รวมสำรองราคาและปริมาณงานเปลี่ยนแปลงร้อยละ 10 และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7] ส่วนกรอบเบิกจ่ายขอใช้กรอบวงเงินเบิกจ่ายในภาพรวมที่ได้รับอนุมัติไว้แล้ว
3. อนุมัติในหลักการงบประมาณลงทุนที่จัดทำเป็นโครงการประจำปีงบประมาณ 2553 เพิ่มเติม กรอบดำเนินการและกรอบเบิกจ่ายจำนวน 195.745 ล้านบาท [รวมสำรองราคาและปริมาณงานเปลี่ยนแปลงร้อยละ 10 และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7]
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงคมนาคม (คค.) รายงานว่า
1. ปี 2549 บริษัท ท่าอากาศไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้ส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 [การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารต่างประเทศใหม่ขยายหลุมจอมอากาศยาน ขยายลานจอดรถยนต์ และการก่อสร้างทางวิ่งใหม่ด้านทิศเหนือ ความยาวรวม 3,700 เมตร และปรับปรุงทางวิ่งเดิมให้เป็นทางขับ] ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา ต่อมาปี 2551 ทอท.ได้ยกเลิกเรื่องดังกล่าว เนื่องจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจและโครงการร่วมกับเอกชน ด้านคมนาคม ในการประชุมครั้งที่ 3/2551 วันที่ 12 พฤษภาคม 2551 เห็นว่าการก่อสร้างทางวิ่งใหม่ ความยาว 3,700 เมตร จะก่อให้เกิดผลกระทบสูงต่อทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม และทำให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้อากาศยานขนาดใหญ่ (B747-400) สามารถบรรทุกน้ำหนักสินค้าได้เพิ่มขึ้นเท่านั้น ในขณะที่ปริมาณสินค้าของท่าอากาศยานภูเก็ตมีน้อย ดังนั้น จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องขยายความยาวทางวิ่งดังกล่าว
2. ทอท.ขอให้ คค.พิจารณาโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต โดยไม่มีการขยายทางวิ่งเป็น 3,700 เมตร ซึ่งคณะกรรมการ ทอท.ได้มีมติเห็นชอบแนวทางในการดำเนินงานโครงการดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2552 โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 ปัจจุบันท่าอากาศยานภูเก็ตมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 6.5 ล้านคนต่อปี [ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 3.5 ล้านคนต่อปี และผู้โดยสารภายในประเทศ 3 ล้านคนต่อปี] และจากการคาดการณ์ของ ทอท.พบว่า ในปี 2553 จะมีผู้โดยสาร 6.8 ล้านคน จึงทำให้ท่าอากาศยานภูเก็ตรองรับผู้โดยสารได้ถึงปี 2553 และหลังจากนั้นจะเกิดปัญหาความแออัด ทอท.จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินโครงการดังกล่าว
2.2 วัตถุประสงค์และเป้าหมาย : เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารได้ 12.5 ล้านคนต่อปี จนถึงปี 2561 [ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 5 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 7.5 ล้านคน] โดยการสร้างและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการได้อย่างปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว และได้มาตรฐานสากล เพื่อเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค
2.3 แนวทางในการดำเนินงานและที่มาของเงินลงทุน : การดำเนินโครงการใช้วงเงินลงทุน 5,791.122 ล้านบาท [รวมสำรองราคาและปริมาณงานเปลี่ยนแปลงร้อยละ 10 และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7] โดยใช้เงินรายได้ของ ทอท.ในการลงทุนทั้งหมด ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (ปีงบประมาณ 2552-2556) อายุโครงการ 30 ปี และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศประมาณ 920 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.89 ของวงเงินลงทุน
2.4 การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแนวทางแก้ไข : ทอท.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาท่าอากาศยานทั้งในส่วนระยะก่อสร้างและในระยะดำเนินการ และได้จัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียแล้ว 2ครั้ง ผลการสัมมนาสรุปว่า การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตจะมีผลดีต่อการส่งเสริมเศรษฐกิจของจังหวัด ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยินดีสนับสนุน โดยขอให้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสม จัดทำแผนงานให้เป็นรูปธรรม และควรมีการ ติดตั้งป้ายแสดงแนวเขตที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงและข้อจำกัดการก่อสร้างอาคาร รวมทั้งควรมีการประสานงานแก้ไขปัญหาการจราจรไม่ให้กีดขวางการใช้เส้นทางของประชาชน ทั้งนี้ ทอท.ได้นำเสนอข้อมูลการมีส่วนร่วมของประชาชนพร้อมกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ สผ.พิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 และ สผ.จะเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจและโครงการร่วมกับเอกชน ด้านคมนาคม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาต่อไป
2.5 คค.พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการดังกล่าวเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานภูเก็ต ให้เพียงพอรองรับการเติบโตของปริมาณจราจรทางอากาศในอนาคต และรักษาระดับการให้บริการแก่ผู้โดยสารให้ได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและแผนหลักของ คค. รวมทั้งเป็นโครงการที่มีความเหมาะสมด้านการเงินและด้านเศรษฐกิจด้วย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ธันวาคม 2552 --จบ--