คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ทั้ง 2 ข้อดังนี้
1. อนุมัติการลงนามระเบียบว่าด้วยค่าภาระและค่าธรรมเนียมสำหรับเรือพาณิชย์ที่เดินในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้แทนสำหรับการลงนามดังกล่าว
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงคมนาคมรายงานว่า
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไทย ลาว พม่า และจีน ได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2543 ณ จังหวัดท่าขี้เหล็ก สหภาพพม่า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เป็นไปโดยเสรีและเป็นระเบียบ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้าระหว่างกัน
2. ต่อมาผู้แทนกระทรวงคมนาคมของจีน ลาว พม่า และไทย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันให้จัดตั้งกลไกประสานงาน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง โดยจัดตั้งเป็นคณะกรรมการสี่ฝ่ายใช้ชื่อว่า The Joint Committee on Coordinating of Commercial Navigation on the Lancang-Mekong River among China, Laos, Myanmar and Thailand (JCCCN) คณะกรรมการจะมีการประชุมปีละ 1 ครั้ง โดยแต่ละประเทศจะหมุนเวียนกันทำหน้าที่ประธานตามลำดับตัวอักษร คราวละ 2 ปี ในส่วนของฝ่ายไทย คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการจัดตั้งคณะกรรมการฯ (ฝ่ายไทย) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2544
3. ในการประชุม JCCCN ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3-6 กุมภาพันธ์ 2545 ณ เมืองคุณหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการตรวจสอบข้อมูลการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของท่าเรือและในร่องน้ำของแต่ละประเทศ
4. ในการประชุม JCCCN ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 9-10 ธันวาคม 2547 ณ เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ประชุมได้พิจารณาร่างระเบียบว่าด้วยค่าภาระและค่าธรรมเนียมสำหรับเรือพาณิชย์ที่เดินในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และได้ให้คำจำกัดความของ Port Charges และ Inspection Fees ตลอดจนได้มีการตกลงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับเรือขนาดตั้งแต่ 100 เดทเวทตันขึ้นไป ในอัตรา 50 ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับเรือขนาดต่ำกว่า 100 เดทเวทตัน ในอัตรา 40 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการเดินทางขาเดียว และฝ่ายไทยเสนอให้นำอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดใส่ไว้ในภาคผนวกแนบท้ายร่างระเบียบฯ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว หากมีการปรับอัตราค่าธรรมเนียมในอนาคต ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของฝ่ายไทย ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ประเทศภาคีความตกลงฯ ลงนามในร่างระเบียบฯ ดังกล่าว โดยจะประสานกำหนดวันการลงนามในภายหลัง
5. กระทรวงคมนาคมได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการลงนามระเบียบว่าด้วยค่าภาระและ ค่าธรรมเนียมสำหรับเรือพาณิชย์ที่เดินในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (Draft Rules on Charges and Fees for Commercial Vessels Navigating on the Lancang-Mekong River) และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 อนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
6. ในการประชุม JCCCN ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 9-10 เมษายน 2550 ณ กรุงย่างกุ้ง สหภาพพม่า จีนได้เสนอให้ปรับปรุงร่างระเบียบฯ ในหลายประเด็นได้แก่เพิ่มส่วนอารัมภบท เพิ่มคำนิยามของการให้การประติบัติเยี่ยงคนชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (most-favoured-nation treatment) เปลี่ยนคำว่า “ค่าภาระท่าเรือ” (port charges) เป็น “ค่าภาระเรือเข้าท่า” (port dues) และข้อบทต่าง ๆ
7. ในการประชุม JCCCN ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 7-9 ตุลาคม 2551 ณ กรุงเนปิดอร์ สหภาพพม่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างระเบียบดังกล่าวแล้วเห็นชอบ ดังนี้
7.1 เปลี่ยนชื่อร่างระเบียบฯ จากเดิม Draft Rules on Charges and Fees for Commercial Vessels Navigating on the Lancang-Mekong River เป็น Draft Rules on Dues and Fees for Commercial Vessels Navigating on the Lancang-Mekong River
7.2 เปลี่ยนคำว่า port charges เป็น port dues ในทุก Article
7.3 แก้ไขถ้อยคำใน Article 4 จากเดิม “can’t be lower than the granted to any third country” เป็น “shall not be less favorable than that accorded to any other vessels of the third country”
8. ในการประชุม JCCCN ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 1-3 กันยายน 2552 ณ จังหวัดเชียงราย ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการลงนามร่างระเบียบฯ ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีด้านการขนส่งอาเซียน-จีน ครั้งที่ 8 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2552 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
9. การแก้ไขปรับปรุงร่างระเบียบฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ร่างระเบียบฯ ดังกล่าวมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ร่างระเบียบฯ นี้กำหนดรายละเอียดในการเก็บค่าขนส่ง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประเทศภาคีมีความตกลงฯ สามารถขนส่งสินค้าและผู้โดยสารในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้ง ยังเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกเพื่อเดินเรือตลอดแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และเป็นมาตรการสำคัญซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ในการเพิ่มปริมาณการเดินเรือจากประเทศจีนลงสู่ประเทศท้ายน้ำ เพื่อการขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ธันวาคม 2552 --จบ--