ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 2, 2009 13:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรตามข้อ 1 และเห็นชอบให้เร่งรัดหน่วยงานดำเนินการตามข้อ 2 ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการประสานการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะคณะกรรมการประสานการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการประกันรายได้ และมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ระหว่างวันที่ 23-27 พฤศจิกายน 2552 ในพื้นที่ 30 จังหวัดทั่วประเทศพบว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว 3.31 ล้านราย หรือร้อยละ 89 ของเป้าหมาย 3.71 ล้านราย และ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการทำสัญญาประกันรายได้แล้ว 2.15 ล้านราย หรือร้อยละ 65 ของทะเบียนผู้ปลูกข้าว โดยเพิ่มขึ้นจากวันที่ 19 พฤศจิกายน 52 จำนวน 801,781 ราย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.2 ซึ่งคาดว่า ธ.ก.ส. จะทำสัญญาได้แล้วเสร็จตามกำหนดวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ทั้งนี้ความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการประกันรายได้ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. ความก้าวหน้าของการดำเนินงาน ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2552

                                ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์           มันสำปะหลัง                    ข้าว
                             จำนวนราย   ร้อยละของ    จำนวนราย    ร้อยละของ     จำนวนราย    ร้อยละของ
                                        ขึ้นทะเบียน                ขึ้นทะเบียน                 ขึ้นทะเบียน
1) การขึ้นทะเบียนผู้ปลูกพืช          393,110     104.29*    438,477      113.99*   3,309,532       89.08*
2) ผ่านการรับรองโดยประชาคม      388,753      98.89     430,805       98.25    3,202,250       96.76
(เพิ่มขึ้นจาก 19 พ.ย.52)           (0.00)     (0.00)       (641)      (0.15)     (16,378)       (0.5)
3) ธ.ก.ส. รับทะเบียนเกษตรกร     387,300      98.52     428,831        97.8    3,128,323       94.52
(เพิ่มขึ้นจาก 19 พ.ย.52)           (0.00)     (0.00)      (0.00)      (0.00)       (0.00)      (0.00)
4) ธ.ก.ส. ทำสัญญา              376,562      95.79     371,569       84.74    2,151,531       65.01
(เพิ่มขึ้นจาก 19 พ.ย.52)         (23,076)     (6.53)    (45,310)     (13.89)    (801,781)      (59.4)
5) การใช้สิทธิของเกษตรกร         249,116      63.37       7,897         1.8       57,915        1.75
(เพิ่มขึ้นจาก 19 พ.ย.52)        (127,554)   (104.93)     (7,659)  (3,218.07)     (49,165)    (561.89)
หมายเหตุ  * หมายถึงร้อยละของเป้าหมาย

สำหรับกรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการทำสัญญาประกันรายได้แล้ว ร้อยละ 95.79 และ 84.74 ตามลำดับ ซึ่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการของโครงการ การทำสัญญาจะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 โดยยังมีผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ยังไม่ได้ใบรับรองเกษตรกร 1,974 ราย และยังไม่ได้ทำสัญญากับ ธ.ก.ส. 57,262 ราย ส่วนผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังไม่ได้รับใบรับรองเกษตรกร 1,453 ราย และยังไม่ได้ทำสัญญากับ ธ.ก.ส. 10,738 ราย

2. มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก

สำนักงานฯ ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาค ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าว โดยการสุ่มตัวอย่าง การรับซื้อข้าวของโรงสีที่เข้าร่วมโครงการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือกปี 2552/53 โดย อคส. และ อ.ต.ก. ในพื้นที่ 27 จังหวัดทั่วประเทศ (ภาคกลาง 22 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ภาคเหนือ 2 จังหวัด) พบว่า มีเกษตรกรจำนวนน้อยที่นำผลผลิตมาขายให้โรงสีตามโครงการแทรกแซงตลาดรับซื้อฯ เนื่องจากขณะนี้ ราคาข้าวในตลาดจะสูงกว่าราคาประกาศตามเกณฑ์กลางอ้างอิง เช่น ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ตลาดรับซื้อในราคา 9,500 — 10,000 บาทต่อตัน สูงกว่าเกณฑ์กลางอ้างอิงที่ประกาศช่วงวันที่ 16-31 พฤศจิกายน 2552 ในระดับราคา 8,914 บาทต่อตัน และข้าวหอมมะลิ ตลาดจะรับซื้อในราคา 13,500 — 15,000 บาทต่อตัน สูงกว่าเกณฑ์กลางอ้างอิงช่วงวันที่ 16-31 พฤศจิกายน 2552 ในราคา 13,002 บาทต่อตัน อย่างไรก็ตามในเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างบางจังหวัด เช่น สุโขทัย สิงห์บุรี และอ่างทอง เกษตรกรยังคงขายข้าวให้กับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการแทรกแซงตลาด เนื่องจากราคารับซื้อในตลาดยังต่ำกว่าเกณฑ์กลางอ้างอิง ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ ควรเร่งติดตามตรวจสอบการรับซื้อข้าวของโรงสีต่าง ๆ ในพื้นที่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส และเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง และ ธ.ก.ส. ควรเร่งดำเนินโครงการรับฝากข้าวเปลือกในยุ้งฉางเกษตรกรเพื่อรอการจำหน่าย ปีการผลิต 2552/53 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 โดยเร็ว เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดและให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ