ขออนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจและการลงนามในบันทึกความเข้าใจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 2, 2009 14:41 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจและการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้

เครื่องปรับอากาศระบบเก็บสะสมความเย็นด้วยสารทำความเย็น CHS และการยกเว้นภาษีและการโอนกรรมสิทธิ์

เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จะติดตั้งในโครงการฯ

คณะรัฐมนตรีอนุมัติและเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้เครื่องปรับอากาศระบบเก็บสะสมความเย็นด้วยสารทำความเย็น CHS (Model Project for a Clathrate Hydrate Slurry (CHS) Thermal Energy Storage Air Conditioning System) ระหว่างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (New Energy and Industrial Technology Development Organization - NEDO) แห่งประเทศญี่ปุ่น ภายใต้กรอบโครงการอนุรักษ์พลังงานและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Partnership Program — GPP)

2. อนุมัติให้อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว

3. อนุมัติการยกเว้นภาษีอากรทุกชนิดสำหรับเครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ NEDO จะเป็นผู้จัดหาและนำเข้ามาใช้ในโครงการดังกล่าว ตามที่ระบุไว้ในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ข้อ 5 และภาคผนวก II

4. เห็นชอบในหลักการให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร และวัสดุอุปกรณ์ของโครงการดังกล่าวจาก NEDO เมื่อการดำเนินโครงการเสร็จสิ้นลง ทั้งนี้ เมื่อได้รับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวในโครงการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงพลังงานต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงพลังงานรายงานว่า

1. โครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้เครื่องปรับอากาศระบบเก็บสะสมความเย็นด้วยสารทำความเย็น CHS มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอและสาธิตเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมโดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนในการจัดหาพื้นที่สำหรับติดตั้งและดำเนินโครงการจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซึ่งจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสมทบสำหรับค่าก่อสร้างฐานรากของเครื่องจักรและอุปกรณ์ ณ อาคารสำนักงานแห่งใหม่ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 เดือน นับจากวันลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ หลังจากการดำเนินโครงการสิ้นสุดแล้ว NEDO จะโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ที่นำเข้าให้แก่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งเมื่อได้รับโอนกรรมสิทธิ์แล้วจะโอนกรรมสิทธิ์ต่อไปให้ กฟผ. ทั้งนี้ NEDO ได้ขอความร่วมมือในการยกเว้นการเรียกเก็บภาษีอากรทุกชนิดสำหรับเครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในโครงการดังกล่าว

2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นกรอบในการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นโครงการในลักษณะนำร่องที่มีกรอบระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการที่ชัดเจน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งในภาพรวมจะมีผลให้ประเทศประหยัดพลังงานและชะลอการลงทุนด้านการจัดหาพลังงานของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน และสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ร่างบันทึกความเข้าใจฯ จึงเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในข่ายต้องดำเนินการเสนอขอความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ เนื่องจากไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือพื้นที่นอกอาณาเขตใด ๆ รวมทั้งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันทางด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

3. ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่จากประเทศญี่ปุ่นในลักษณะให้เปล่าแบบรัฐต่อรัฐ และสามารถนำเทคโนโลยีไปเผยแพร่สู่ภาคเอกชนให้เกิดการยอมรับและต่อยอดในเชิงธุรกิจในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนของเทคโนโลยีดังกล่าว กระทรวงพลังงานเห็นควรที่รัฐบาลไทยจะดำเนินการยกเว้นภาษีอากรทุกชนิดสำหรับเครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ในโครงการดังกล่าว

4. เมื่อการดำเนินโครงการสิ้นสุดแล้ว NEDO จะมอบกรรมสิทธิ์เครื่องจักรและอุปกรณ์โครงการทั้งหมดให้แก่กระทรวงพลังงาน ซึ่งกระทรวงพลังงานพิจารณาเห็นว่าควรมอบโอนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรและอุปกรณ์โครงการทั้งหมดนี้ให้แก่ กฟผ. ซึ่งได้ให้ใช้สถานที่เพื่อติดตั้งสาธิตเทคโนโลยี และออกค่าใช้จ่ายสมทบสำหรับการก่อสร้างฐานรากเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในอาคาร รวมทั้งเพื่อสาธิตและเผยแพร่ขยายผลการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากจะมีการรื้อถอนหรือย้ายโอนก็จะทำให้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่รื้อถอนเกิดความเสียหาย ในส่วนของ กฟผ.ก็จะสูญเสียมูลค่าในการลงทุน และกระทรวงพลังงานก็จะต้องรับภาระในการรื้อถอนและติดตั้งใหม่

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ