การประชุมระดับรัฐมนตรีความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 2, 2009 14:46 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การประชุมระดับรัฐมนตรีความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการ

และเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ครั้งที่ 12

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรี BIMSTEC ครั้งที่ 12 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมรับรองเอกสารดังกล่าว และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่พม่าจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi — Sectoral Technical and Economic Cooperation - BIMSTEC) ครั้งที่ 12 ในวันที่ 11 ธันวาคม 2552 นั้น กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า ในระหว่างการประชุมดังกล่าวจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรี BIMSTEC ครั้งที่ 12 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ภูมิหลัง BIMSTEC เป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศในอ่าวเบงกอล ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเชื่อมอนุภูมิภาคเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเสริมสร้างพลวัตและศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาของทั้งสองภูมิภาคเข้าด้วยกัน ปัจจุบันกรอบความร่วมมือ BIMSTEC มี 14 สาขา ได้แก่ การค้าการลงทุน (ประเทศนำคือบังกลาเทศ) การท่องเที่ยว (ประเทศนำคืออินเดีย) การสื่อสารและคมนาคม (ประเทศนำคืออินเดีย) พลังงาน (ประเทศนำคือพม่า) เทคโนโลยี (ประเทศนำคือศรีลังกา) ประมง (ประเทศนำคือไทย) เกษตร (ประเทศนำคือพม่า) การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ (ประเทศนำคืออินเดีย) ปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน (ประเทศนำคือไทย) สาธารณสุข (ประเทศนำคือไทย) วัฒนธรรม (ประเทศนำคือภูฏาน) การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ (ประเทศนำคืออินเดีย) การลดความยากจน (ประเทศนำคือเนปาล) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ประเทศนำคือบังกลาเทศ)

2. สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรี BIMSTEC ครั้งที่ 12

2.1 ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะดำเนินความร่วมมือในกรอบ BIMSTEC เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาร่วมกัน

2.2 ยินดีต่อการลงนามความตกลง 4 ฉบับ ได้แก่

(1) Memorandum of Association for Establishment of BIMSTEC Energy Centre

(2) Memorandum of Association for the BIMSTEC Centre for Weather and Climate

(3) Memorandum of Understanding of the BIMSTEC Cultural Industries Observatory (BCIO) and the BIMSTEC Cultural Industries Commission (BCIC)

(4) BIMSTEC Convention on Cooperation in Combating International Terrorism, Organized Crime and Illicit Drug Trafficking

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า ในส่วนของไทยรัฐสภาได้มีมติให้ความเห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการลงนามในร่างอนุสัญญา BIMSTEC ว่าด้วยความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายสากล องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และการลักลอบค้ายาเสพติด เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552

2.3 แสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกที่จะส่งเสริมและขยายความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มพูนการค้าการลงทุน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและการสื่อสารระหว่างประเทศสมาชิก การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและการส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกระชับความร่วมมือด้านพลังงาน การวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การใช้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างยั่งยืน การลดความยากจน การส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรม การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ ด้านสาธารณสุข ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในด้านยาแผนโบราณ รวมทั้งการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน

2.4 สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสำนักเลขาธิการถาวร BIMSTEC ในอนาคตอันใกล้

3. กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า โดยที่ร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรี BIMSTEC ฉบับนี้ไม่มีการลงนาม การจัดทำร่างคำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวจึงไม่เป็นการจัดทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ