การเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 2, 2009 14:51 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ

(International Renewable Energy Agency : IRENA)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ทั้ง 5 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency : IRENA)

2. เห็นชอบในการสนับสนุนงบประมาณค่าสมาชิกของประเทศไทยต่อองค์กร IRENA ประมาณ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ขึ้นอยู่กับจำนวนประเทศสมาชิก) ภายในช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีสมาชิกภาพ

3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ลงนามในเอกสารกฎระเบียบขององค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (Statute of the International Renewable Energy Agency)

4. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ให้สัตยาบันรับรองต่อกฎระเบียบขององค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ภายหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ลงนามในเอกสารกฎระเบียบฯ และได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนภายในของประเทศไทยแล้ว และ

5. เห็นชอบให้เสนอเรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency : IRENA) ต่อที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการจัดทำกฎหมายอนุวัติการตามเรื่องนี้โดยด่วน แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อดำเนินการไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2526 ต่อไป

ข้อเท็จจริง

กระทรวงพลังงานเสนอว่า

1. องค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เป็นองค์การที่จัดตั้งเพื่อดูแลเกี่ยวกับความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศด้านพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ปลอดภัยและยั่งยืน ซึ่งได้เปิดรับสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (UN) และจากองค์การทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในการประชุมก่อตั้งองค์การเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2552 ณ เมืองบอนน์ เยอรมนี โดยผู้แทนจาก 124 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย (ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์) ผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรอิสระ (NGOs) อีก 34 องค์การ เข้าร่วมประชุม โดยมีประเทศที่ลงนามก่อตั้งองค์การ IRENA จำนวน 87 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศสมาชิก EU (ส่วนใหญ่) อัฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย

2. การเข้าร่วมในองค์การ IRENA มีความเป็นไปได้ใน 2 แนวทาง คือ

2.1 พิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การ IRENA ก่อนที่องค์การจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย (เมื่อมีสมาชิกอย่างน้อย 25 ประเทศ ให้สัตยาบันรับรองแล้ว) มีผลดังนี้

(1) หากประเทศไทยสามารถพิจารณาเข้าร่วมและให้สัตยาบันจัดตั้งองค์การฯ ประเทศไทยจะได้รับสิทธิเป็นสมาชิกก่อตั้ง (Original member) สามารถออกเสียง (Vote) ในที่ประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและวางแผนงานขององค์การได้

(2) เป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกให้กับต่างประเทศได้ทราบและเชื่อมั่นว่านโยบายพลังงานทดแทนของไทยมีความต่อเนื่องและรัฐบาลไทยประสงค์ที่จะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีทางด้านโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศและการร่วมมือด้านพลังงานทดแทนต่อไป

(3) ประเทศไทยจะสามารถอาศัยองค์การ IRENA ในการเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ โดยการเข้าถึงข้อมูลการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยี ข้อมูลการพัฒนาเชิงนโยบาย กลไกการสนับสนุน การลงทุนและการตลาด รวมทั้งความช่วยเหลือด้านวิชาการต่างๆ

2.2 พิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกหลังจากที่องค์การมีสถานะสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว มีผลดังนี้

(1) หากประเทศไทยพิจารณาเข้าร่วม IRENA หลังจากที่องค์การมีสถานะเป็นองค์การ ที่สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ประเทศไทยจะต้องยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอสมัครเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ โดยจะต้องรอผลการพิจารณาจากประเทศสมาชิกอื่นๆ อีก 3 เดือน และประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่เข้าร่วมก่อนหน้าที่จะต้องไม่มีข้อคัดค้าน

(2) ในกรณีนี้อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในแง่ของการใช้ประโยชน์จากองค์การได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากองค์การ IRENA เป็นองค์การจัดตั้งใหม่ ดังนั้น การเข้าร่วมในกิจกรรมใดๆ ตั้งแต่เริ่มแรกจะส่งผลดีต่อไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีโอกาสในการผลักดันทิศทางและยุทธศาสตร์ของไทยในองค์การ IRENA นี้เป็นอย่างมาก

3. นอกจากนี้ ได้จัดทำตารางสรุปข้อเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียระหว่างกรณีสมัครกับไม่สมัครเป็นสมาชิกองค์การ IRENA ไว้ด้วย

4. กระทรวงพลังงาน พิจารณาแล้วเห็นว่า การเข้าร่วมองค์การ IRENA จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับ การเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางด้านพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนเสริมสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการขยายผลไปยังภาคเอกชนอีกด้วย อีกทั้งจะเป็นการต่อยอดนโยบายด้านพลังงานของไทย โดยเฉพาะพลังงานทดแทน 15 ปีของไทย ให้เป็นที่ประจักษ์ในเวทีโลกให้มากยิ่งขึ้นสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาในการผลักดันนโยบายด้านพลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ ตลอดจนส่งเสริมและวิจัยพลังงานทดแทนทุกรูปแบบอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับกับงบประมาณที่ประเทศชาติจะต้องจ่ายสำหรับค่าสมาชิกรายปีในองค์การ IRENA ประมาณ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิก )นับว่าคุ้มค่า

3. สาระสำคัญของเรื่อง

3.1 วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ มีดังนี้

3.1.1 เป็นองค์กรหลักในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนระหว่างประเทศโดยมีกิจกรรมความร่วมมือที่เน้นบทบาทการเป็นศูนย์ข้อมูลการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความร่วมมือด้าน วิทยาศาสตร์ และการวิจัยและพัฒนา

3.1.2 ให้คำแนะนำและคำปรึกษาอย่างเป็นรูปธรรมต่อประเทศสมาชิก ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะในการกำหนดแนวนโยบาย

3.1.3 ให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่เหมาะสมในการเลือกใช้กลไกในการจัดหาแหล่งทุน และการปรับใช้มาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเทคโนโลยีนั้นๆ มาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

3.1.4 เผยแพร่การถ่ายทอดทางเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนและให้การสนับสนุนกิจกรรมการฝึกอบรมด้านพลังงานหมุนเวียนในระดับโลก

3.2 บทนิยามคำว่า “พลังงานหมุนเวียน” หมายถึง พลังงานทุกรูปแบบที่ผลิตจากแหล่งทรัพยากรหมุนเวียนในลักษณะที่ยั่งยืน ซึ่งให้หมายรวมถึงพลังงานชีวภาพ พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานน้ำ พลังงานจากมหาสมุทร รวมถึงน้ำขึ้นน้ำลง คลื่น และพลังความร้อนจากมหาสมุทร พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม

3.3 การเป็นสมาชิกภาพมี 2 ประเภท คือ

3.3.1 สมาชิกเริ่มแรกขององค์การ โดยการลงนามในกฎระเบียบฉบับนี้ และส่งมอบสัตยาบันสาร

3.3.2 สมาชิกอื่นขององค์การ โดยการส่งมอบภาคยานุวัติสารหลังจากคำขอการเข้าเป็นสมาชิกได้รับอนุมัติแล้ว จะถือว่าสมาชิกภาพได้รับความเห็นชอบเมื่อคำร้องขอได้ถูกส่งไปยังสมาชิกอื่น และสมาชิกอื่นมิได้คัดค้านภายใน 3 เดือนหลังจากที่ได้มีการจัดส่งคำร้องขอไปให้สมาชิกอื่น

3.4 โครงสร้างองค์กร มีดังนี้

3.4.1 สมัชชา เป็นองค์กรสูงสุดขององค์การ ประกอบด้วยสมาชิกผู้แทนจำนวนหนึ่งคนจากแต่ละสมาชิกทั้งหมดขององค์การ

3.4.2 คณะมนตรี ประกอบด้วย ผู้แทนที่มาจากสมาชิกองค์การที่เลือกตั้งโดยสมัชชาอย่างน้อย 11 คน แต่ไม่เกินกว่า 21 คน จำนวนผู้แทนถาวรอยู่ในระหว่าง 11 และ 21 คน ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับ 1 ใน 3 ของสมาชิกองค์การโดยคำนวณบนพื้นฐานของจำนวนสมาชิกขององค์การในช่วงเริ่มต้นของการเลือกตั้งสมาชิกของคณะมนตรี สมาชิกของคณะมนตรีจะได้รับการเลือกตั้งโดยการหมุนเวียนตามที่ระบุไว้ในระเบียบของการประชุมสมัชชา โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้มั่นใจว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนาจะได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญและบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดสรรตำแหน่งอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันตามสภาพภูมิศาสตร์และความมีประสิทธิภาพของงานสมัชชาสมาชิกของสมัชชาอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี

3.4.3 สำนักเลขาธิการ ประกอบด้วยอธิบดี ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร และเจ้าหน้าที่ อื่นๆ ตามที่จำเป็น อธิบดีจะได้รับการแต่งตั้งโดยสมัชชาโดยการแนะนำของคณะมนตรีโดยมีกำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และสามารถขยายได้อีกหนึ่งครั้งเท่านั้น

3.5 งบประมาณ มาจาก 3 ส่วน ดังนี้

3.5.1 เงินสมทบภาคบังคับของสมาชิกโดยใช้พื้นฐานการประเมินขององค์การสหประชาชาติตามที่กำหนดโดยสมัชชา

3.5.2 การสนับสนุนโดยสมัครใจ และ

3.5.3 เงินจากแหล่งอื่น ๆ

3.6 นิติบุคคล เอกลักษณ์ และความคุ้มกัน องค์การจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลระหว่างประเทศ และ ภายใต้บทบัญญัติของกฎระเบียบของประเทศนั้นๆ องค์การมีความสามารถทางกฎหมายในดินแดนของสมาชิกแต่ละประเทศเท่าที่จำเป็นเพื่อการปฏิบัติหน้าที่และเพื่อให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์ขององค์การตามที่กฎหมายของสมาชิกบัญญัติไว้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ