คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ดังนี้
1. เพิ่มบทนิยามคำว่า “การประเมิน” “ผู้ประเมิน” “การรับรองความสามารถ” “หนังสือรับรองความสามารถ” และ “องค์กรอาชีพ” (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5)
2. แก้ไขให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการรับรองความสามารถ และมีอำนาจประกาศเพื่อกำหนดสาขาอาชีพหรือตำแหน่งงาน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะหรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะ (ร่างมาตรา 4 ถึงร่างมาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 และมาตรา 7)
3. กำหนดให้มีศูนย์ประเมินความสามารถทั้งภาครัฐและเอกชน การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และการควบคุมการดำเนินการของศูนย์ประเมินความสามารถ (ร่างมาตรา 6 เพิ่มหมวด 2/1 การรับรองความสามารถ มาตรา 26/1 ถึงมาตรา 26/10)
4. แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานโดยให้ค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้ตกเป็นของกองทุน และให้ผู้ผ่านการรับรองความสามารถสามารถกู้ยืมเงินกองทุนไปใช้ในการลงทุนประกอบอาชีพได้ (ร่างมาตรา 7 และร่างมาตรา 8 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 27 วรรคสอง และมาตรา 28 วรรคหนึ่ง)
5. แก้ไขให้ผู้ประกอบกิจการซึ่งส่งลูกจ้างเข้ารับการทดสอบและผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน แห่งชาติตามสัดส่วนที่กำหนดไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน และถ้าไม่จ่ายเงินสมทบภายในกำหนด หรือจ่ายไม่ครบตามสัดส่วนจำนวนผู้รับการฝึกอบรมและจำนวนผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติกับจำนวนลูกจ้าง ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราที่กำหนด (ร่างมาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 29 และมาตรา 31)
6. แก้ไของค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เหมาะสม (ร่างมาตรา 11 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 38 และมาตรา 39)
7. กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 15 เพิ่มมาตรา 53/1 ถึงมาตรา 53/4)
8. กำหนดให้นายทะเบียนมีอำนาจเปรียบเทียบความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 15 เพิ่มมาตรา 53/5)
9. กำหนดบทเฉพาะกาลให้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะได้มีคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 16)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2552 --จบ--