ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศและดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกเดือนตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 9, 2009 14:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนตุลาคม 2552 เทียบกับเดือนกันยายน 2552 ดัชนีราคาส่งออก สูงขึ้นร้อยละ 1.2 และดัชนีราคานำเข้า สูงขึ้นร้อยละ 0.7

ดัชนีราคาส่งออก

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนตุลาคม 2552 เทียบกับเดือนกันยายน 2552 สูงขึ้น ร้อยละ 1.2 เป็นผลจากการสูงขึ้นของหมวดสินค้าเกษตรกรรม สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง

สินค้าส่งออกที่ราคาสูงขึ้น

หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 3.5 (เดือนกันยายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.9) สาเหตุสำคัญจากการสูงขึ้นของสินค้ากสิกรรม โดยเฉพาะยางพารา ราคาสูงขึ้น อย่างต่อเนื่องเป็นผลจากปริมาณผลผลิตยางลดลงและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับภาครัฐตั้งเป้าหมายราคายางไม่ให้ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 80 บาท ทำให้ผู้ประกอบการเร่งซื้อยางเข้าสต๊อค ก่อนที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นอีก และผลิตภัณฑ์มันสำประหลังจีนมีความต้องการนำเข้าเพื่อทดแทนข้าวโพดที่มีราคาแพงสำหรับใช้ในการผลิตเอทานอล

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 1.0 (เดือนกันยายน 2552 สูงขึ้น ร้อยละ 1.4) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทราย สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามราคาตลาดโลก ที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตน้ำตาลในหลายประเทศลดลงจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งการนำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลเพิ่มขึ้น สินค้าอื่นๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ข้าว สิ่งปรุงรสอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยงและเครื่องดื่มสูงขึ้นด้วย

หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.4 (เดือนกันยายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.1) สินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นผลจากราคาทองคำที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก นอกจากนี้เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบมีราคาสูงขึ้น

หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 4.1 (เดือนกันยายน 2552 ลดลง ร้อยละ 3.3) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ดีบุก และสังกะสี

2. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนตุลาคม 2552 เทียบกับเดือนตุลาคม 2551 ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 4.2 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน จากการสูงขึ้นของทุกหมวด ได้แก่ หมวด สินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 9.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.8 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 8.9

3. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเฉลี่ยระยะ 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) ของปี 2552 เทียบกับ ช่วงเดียวกันของปี 2551 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.3 ซึ่งเป็นการลดลงในอัตราที่ชะลอตัวลง เป็นผล จากการลดลงของหมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และหมวดสินค้าแร่ และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 12.1 ร้อยละ 3.2 และร้อยละ 26.6 ตามลำดับ ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.8

ดัชนีราคานำเข้า

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนตุลาคม 2552 เทียบกับเดือนกันยายน 2552 สูงขึ้น ร้อยละ 0.7 (เดือนกันยายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.1) แนวโน้มราคาสินค้านำเข้าหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวส่งผลให้ความต้องการและราคานำเข้าสินค้าสำคัญ เช่น สินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งสูงขึ้น สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลงเล็กน้อย

สินค้านำเข้าที่ราคาสูงขึ้น

หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 1.6 (เดือนกันยายน 2552 ลดลงร้อยละ 1.1) ทั้งนี้เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป

หมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.8 (เดือนกันยายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.9) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะทำด้วยทองแดงและอลูมิเนียม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.9 (เดือนกันยายน 2552 ลดลงร้อยละ 0.1) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ วิตามินอี และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด (หน้ากากกรองฝุ่น)

หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 1.2 (เดือนกันยายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.4) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

สินค้านำเข้าที่ราคาลดลง

หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.1 (เดือนกันยายน 2552 สูงขึ้น ร้อยละ 0.4) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณปลาทูน่าเข้าสู่ตลาดมากตามฤดูกาล นอกจากนี้อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ ดีบุก และนิเกิลมีราคาลดลงด้วย

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนตุลาคม 2552 เทียบกับเดือนตุลาคม 2551 ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 2.8 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน ปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 3.5 และ ร้อยละ 2.3 ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.5 หมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 0.3 และสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 0.2

2. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเฉลี่ยระยะ 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) ของปี 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 4.6 สาเหตุหลักคือการลดลงของหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 23.7 สำหรับหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 2.5 หมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 2.2 หมวด สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 1.3 และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 0.1

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ