การค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะ 10 เดือนของปี 2552 (มกราคม-ตุลาคม)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 9, 2009 15:26 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ รายงานการค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะ10 เดือนของปี 2552 (มกราคม-ตุลาคม) ดังนี้

1. การส่งออก

1.1 การส่งออกเดือนตุลาคม 2552

1.1.1 การส่งออก มีมูลค่า 14,812.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเพียงร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ปี 2551 ในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 495,337.8 ล้านบาท ลดลงเพียงร้อยละ 4.1

1.1.2 สินค้าส่งออก มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในทุกหมวด โดยเฉพาะสินค้า อุตสาหกรรมสำคัญลดลงเพียงร้อยละ 1.0 ขณะที่สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรลดลงร้อยละ 5.4 และสินค้าอื่นๆ ลดลงร้อยละ 8.3

สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 170.3 และ 81.3 ตามลำดับ กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 และ 15.3 น้ำตาล ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.5 และ 70.0 และ สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อัญมณี เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 (เป็นการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 117.6) เครื่องสำอาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 สิ่งพิมพ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ผลิตภัณฑ์เภสัช เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 และ ผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 รวมทั้ง ข้าว และ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่กลับมาส่งออกเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดย ข้าว ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และ 2.6 และ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7

สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ แม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะจะยังคงลดลง แต่ก็ลดลงในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ พลาสติก อัญมณี(ไม่รวมทองคำ) สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เลนส์ และ ของเล่น เป็นต้น

1.1.3 ตลาดส่งออก การส่งออกไปตลาดสำคัญปรับตัวดีขึ้นทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่ โดยตลาดหลัก ลดลงเพียงร้อยละ 8.8 เป็นการปรับตัวดีขึ้นในทุกตลาด โดยเฉพาะ สหรัฐฯ และ อาเซียน(5) ที่ลดลงเพียงร้อยละ 2.5 และ 5.9 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตลาดใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองร้อยละ 3.2 เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของการส่งออกไป ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกงและฟิลิปปินส์ร้อยละ 34.8 , 2.1 , 23.6 และ 36.0 ตามลำดับ รวมทั้งไต้หวัน อินเดีย และอินโดจีน(4) ที่กลับมาส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกร้อยละ 15.4 , 2.4 และ 7.6 ตามลำดับ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกไปยังแต่ละตลาด จะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกมีทิศทางและแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกับการส่งออกสินค้า กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา โดยเฉพาะในตลาดใหม่ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย ฮ่องกง ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรปตะวันออก อินโดจีน อินเดียและลาตินอเมริกา รวมทั้งตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ อาเซียน(5) ญี่ปุ่นและ สหภาพยุโรป

1.2 การส่งออกในระยะ 10 เดือนของปี 2552 (มกราคม-ตุลาคม)

1.2.1 การส่งออก มีมูลค่า 124,113.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 ในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 4,258,402.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15.6

1.2.2 สินค้าส่งออก สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญลดลงร้อยละ 20.5 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญลดลงร้อยละ 17.4 และสินค้าอื่นๆ ลดลงร้อยละ 27.0

(1) สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกลดลงตามความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง การแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อและมีการต่อรองราคามากขึ้น ได้แก่ ข้าว ยางพารา อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป(ไม่รวมกุ้ง) ไก่แช่แข็งและแปรรูป ขณะที่การส่งออกกุ้งแช่แข็งและแปรรูปและน้ำตาลยังขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งมันสำปะหลังและผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูปที่มูลค่าส่งออกลดลงแต่ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น

(2) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ

  • สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัญมณี เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 (เป็นการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 117.6) และ ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3
  • สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และส่วนประกอบ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์ เครื่องเดินทางและเครื่องหนัง เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง อาหารสัตว์เลี้ยง นาฬิกาและส่วนประกอบ เป็นต้น

(3) สินค้าอื่นๆ ลดลงลดลงร้อยละ 27.0 ที่สำคัญและลดลงในอัตราสูงได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบและเครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 38.9, 45.4 และ 26.8 ตามลำดับ

1.2.3 ตลาดส่งออก การส่งออกไปตลาดหลักลดลงร้อยละ 27.2 และตลาดใหม่ลดลงร้อยละ 11.5 ทำให้สัดส่วนการส่งออกไปตลาดใหม่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 53.2 ขณะที่สัดส่วนการส่งออกไปตลาดหลักลดลงเป็นร้อยละ 46.8

(1) ตลาดหลัก ส่งออกลดลงในทุกตลาด คือ อาเซียน(5) สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 29.9, 29.3, 25.8 และ 22.1 ตามลำดับ

(2) ตลาดใหม่ ส่งออกลดลงทุกตลาด ได้แก่ ลาตินอเมริกา(ร้อยละ 35.9) ยุโรปตะวันออก(ร้อยละ 28.6) เกาหลีใต้(ร้อยละ 26.9) ไต้หวัน(ร้อยละ 23.9) อินโดจีน(ร้อยละ 14.8) ตะวันออกกลาง (ร้อยละ 14.4) แคนาดา(ร้อยละ 14.0) จีน(ร้อยละ 12.4) ฮ่องกง(ร้อยละ 10.4) อินเดีย (ร้อยละ 9.4) แอฟริกา (ร้อยละ 9.4) และ ออสเตรเลีย(ร้อยละ 1.0)

2. การนำเข้า

2.1 การนำเข้าเดือนตุลาคม 2552

2.1.1 การนำเข้า มีมูลค่า 13,049.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 17.5 และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 คิดในรูปเงินบาทมีมูลค่า 441,205.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 18.4

2.1.2 สินค้านำเข้า สินค้านำเข้าสำคัญมีการนำเข้าลดลงเกือบทุกหมวดสินค้า ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 19.2 ส่วนสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 6.6 สินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 26.2 และสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 5.4 ส่วนยานพาหนะและอุปกรณ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และอาวุธยุทธปัจจัย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.3โดยมีรายละเอียดดังนี้

(1) สินค้าเชื้อเพลิง นำเข้าลดลงร้อยละ 19.2 การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ นำเข้าปริมาณ 27.3 ล้านบาร์เรล (879,054 บาร์เรลต่อวัน) มูลค่า 1,941.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.2 แต่มูลค่า ลดลงร้อยละ 20.7 ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม นำเข้า ลดลงร้อยละ 15.3

(2) สินค้าทุน นำเข้า ลดลงร้อยละ 6.6 การนำเข้าสินค้าทุนที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 22.7 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลง ร้อยละ 8.9 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.8

(3) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป นำเข้า ลดลงร้อยละ 26.2 การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 7.0 เคมีภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 19.1 ทองคำ นำเข้าปริมาณ 4.4 ตัน มูลค่า 141.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณและมูลค่า ลดลงร้อยละ 86.5 และ 82.7 ตามลำดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปริมาณเพิ่มขึ้น34.2 แต่มูลค่า ลดลงร้อยละ 28.6

(4) สินค้าอุปโภคบริโภค นำเข้าลดลงร้อยละ 5.4 การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เป็นต้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เช่น เครื่องใช้ในครัวและโต๊ะอาหาร ลดลงร้อยละ 9.1 ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เช่น ยารักษาโรค วิตามิน ฮอร์โมน และฟิล์มที่ใช้ทางเวชกรรม ศัลยกรรม เป็นต้น เป็นสินค้าที่ยังจำเป็นต่อสุขภาพลดลงร้อยละ 12.1

(5) สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 การนำเข้าสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 รถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4

2.2 การนำเข้าในระยะ 10 เดือนของปี 2552 (มกราคม-ตุลาคม)

2.2.1 การนำเข้า นำเข้ามูลค่า 106,593.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 ลดลงร้อยละ 31.2 เมื่อคิดในรูปเงินบาท นำเข้ามูลค่า 3,695,451.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27.8

2.2.2 สินค้านำเข้าสำคัญ สินค้านำเข้าสำคัญมีการนำเข้าลดลงเกือบทุกหมวดสินค้า ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 39.2 ส่วนสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 19.6 สินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 37.3 และสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 14.6 ส่วนยานพาหนะและอุปกรณ์ ลดลงร้อยละ 25.6 ส่วนอาวุธยุทธปัจจัย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 126.0

3. ดุลการค้า

3.1 ดุลการค้าเดือนตุลาคม 2552 ไทยเกินดุลการค้า 1,763.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อคิดในรูปเงินบาท ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 54,132.2 ล้านบาท

3.2 ดุลการค้าในระยะ 10 เดือนของปี 2552 (มกราคม-ตุลาคม) ไทยเกินดุลการค้า 17,520.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อคิดในรูปเงินบาท ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 562,951.1 ล้านบาท

4. ข้อสังเกต

4.1 การนำเข้าในเดือนตุลาคม 2552 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 17.5 โดย

1) เชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 19.2 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบเมื่อเทียบกับปีก่อนปรับลดลงถึงร้อยละ 28.0

2) ทุน ลดลงร้อยละ 6.6 เป็นการชะลอตัวในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี ซึ่งชี้ว่าแนวโน้มการลงทุนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

3) วัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 26.2 การนำเข้าติดลบลดลง และมีแนวโน้มจะขยายตัว เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการผลิตสำหรับการส่งออกที่ดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

4) อุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 5.4 เนื่องจากผู้บริโภคมีความมั่นใจเศรษฐกิจมากขึ้นและค่าของเงินบาทที่แข็งขึ้นเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยเพราะสามารถซื้อสินค้าได้ถูกลง

5) ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เนื่องจากยอดขายรถยนต์ภายในประเทศและยอดการส่งออกดีขึ้น

4.2 เมื่อพิจารณาการส่งออกเป็นรายเดือนจะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา และคาดว่าการส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายจะยังคงมีแนวโน้ม ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้าของตลาดส่งออกสำคัญเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ประกอบกับสต็อกของผู้นำเข้าในต่างประเทศที่ลดลง ทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศเริ่มกลับมาซื้อมากขึ้น ทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ทำให้การส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้าย มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นบวกค่อน ข้างสูง ซึ่งจะมีผลทำให้ การส่งออกทั้งปี 2552 จะลดลงประมาณร้อยละ 13-15 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 154 — 151 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

4.3 ปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่สำคัญ ได้แก่

1) ผลสำเร็จจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและ ญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 เริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวมากขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2552 และคาดว่าจะมีผลทำให้การส่งออกสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปี

2) ผู้นำเข้าที่ลดการสั่งซื้อตั้งแต่ปลายปี 2551 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2552 อันเป็นผลมาจากความต้องการในตลาดโลกที่ลดลงอย่างรุนแรงและการมีสต็อกคงเหลือเริ่มกลับมาสั่งซื้ออีกครั้งเพื่อทดแทนสต็อกที่ลดลงหรือหมดไปและเพื่อรองรับความต้องการบริโภคสินค้าเพื่อใช้ในช่วงปลายปีโดยเฉพาะ เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

3) ผู้ประกอบการไทยได้รับการยอมรับในด้านการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และคุณภาพในการให้บริการมากกว่าประเทศคู่แข่ง ทำให้ผู้ซื้อยังสนใจที่จะซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น

4) สินค้าจีนยังประสบปัญหาในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานเป็นโอกาสของสินค้าอาหารและ สินค้าอุปโภคบริโภคของไทย

5) ความพยายามในการดำเนินมาตรการบรรเทา แก้ไขปัญหาสภาพคล่องและสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการและผู้ส่งออก ทั้งในเรื่อง การลดต้นทุน(ภาษีสรรพสามิต) การขยายวงเงินให้สินเชื่อและการค้ำประกันการส่งออก เป็นต้น

4.4 ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของการส่งออก ได้แก่

1) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าของตลาดส่งออกสำคัญยังมีความเปราะบางและ มีความเสี่ยงที่อาจจะฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะฟื้นตัวในช่วงปลายปี

2) แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และยังมีความผันผวน อันเป็นผลมาจากหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณว่าการถดถอยทางเศรษฐกิจอาจจะถึงจุดต่ำสุด ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเข้ามาเก็งกำไรของกองทุนต่างๆ

3) ความไม่มีเสถียรภาพของค่าเงินบาท

4) ความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกไทย

5) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของอุตสาหกรรมส่งออกที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการปลดแรงงานจำนวนมากในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เมื่อคำสั่งซื้อเริ่มกลับเข้ามาแต่ไม่สามารถเรียกแรงงานที่ปลดไปแล้วกลับเข้ามาได้ ทำให้ประสบปัญหาด้านการผลิตเพื่อการส่งออก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ