ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 17/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 9, 2009 15:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการ รศก. ครั้งที่ 17/2552

2. มอบหมายให้กระทรวงแรงงานติดตามสถานการณ์ด้านผลกระทบต่อแรงงานไทยในรัฐดูไบ และรายงานให้คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจทราบต่อไป

3. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังติดตามและประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและแนวทางการพัฒนาของประเทศอื่นๆ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงและสัญญาณเตือนทางเศรษฐกิจ และวิเคราะห์แนวโน้มผลกระทบต่อประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจต่อไป

4. มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทาน ของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ตามแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยไว้แล้วอย่างเคร่งครัด โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอผลการดำเนินงานดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 90 วัน ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาดำเนินงานตามความเหมาะสมต่อไป

5. มอบหมายให้กระทรวงการคลังกำชับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีสัญญาร่วมการงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 กำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามสัญญาอย่างเคร่งครัด และหากพบว่ามีปัญหาการดำเนินงานไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายก็ให้เร่งดำเนินการแก้ไขตามแนวทางของคณะกรรมการกฤษฎีกา และหากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจประสงค์จะให้เอกชนเข้าร่วมงานในโครงการของรัฐจะต้องดำเนินงานให้ถูกต้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัดต่อไป

6. มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณารายละเอียดในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 โดยเพิ่มหลักการและขั้นตอนการพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมการงานที่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้ว และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

7. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ รับไปพิจารณาแนวทางการตรวจลงตราและระยะเวลาการพำนักในประเทศไทยสำหรับกลุ่มประเทศ GCC โดยหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาการขยายระยะเวลาการพำนักในประเทศไทยสำหรับกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย และกลุ่มประเทศอื่นที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์

8. มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสำนักงานผู้แทนการค้าไทย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่งพ.ศ ..... โดยยึดร่างกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์เป็นหลัก และนำร่างกฎหมายของสำนักงานผู้แทนการค้าไทย และประเด็นความเห็นของคณะกรรมการ รัฐมนตรีเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ. .... และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของผลการประชุมคณะกรรมการ รศก. และมติคณะกรรมการ รศก. ดังนี้

1. การแก้ไขรายงานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 15/2552 ในส่วนของระยะเวลา

สาระสำคัญ

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 ปลัดกระทรวงการคลัง ขอแก้ไขรายงานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 15/2552 ในส่วนของระยะเวลาของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย และแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามมติคณะกรรมการ รศก. เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 ให้ถูกต้อง จากเดิม พ.ศ. 2552 — 2556 เป็น พ.ศ. 2553 — 2557 และระยะเวลาของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 ช่วงแรก จากเดิม พ.ศ. 2552 — 2553 เป็น พ.ศ. 2553 — 2554 ช่วงที่สอง จากเดิม พ.ศ. 2554 — 2555 เป็น พ.ศ. 2555 — 2556 และช่วงที่สาม จากเดิม พ.ศ. 2556 เป็น พ.ศ. 2557

มติคณะกรรมการ รศก.

รับทราบการแก้ไขรายงานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 15/2552 ในส่วนของระยะเวลาของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย และแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2

2. ผลกระทบจากการลดค่าเงินของประเทศเวียดนามและวิกฤตทางการเงินของบริษัท ดูไบเวิลด์ สศช. รายงานผลกระทบจากการลดค่าเงินของประเทศเวียดนาม และวิกฤตทางการเงินของบริษัท ดูไบเวิลด์ สรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญ

1) กรณีการลดค่าเงินของประเทศเวียดนาม สืบเนื่องมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งประเทศเวียดนามประสบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มสูงขึ้นมาก จากร้อยละ 0.3 ของ GDP ในปี 2549 เป็นร้อยละ 10.2 ของ GDP ในปี 2551 ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ประกอบกับฐานะการคลังเปลี่ยนจากการเกินดุลร้อยละ 1.1 ของ GDP ในปี 2549 เป็นการขาดดุลร้อยละ 1.6 ของ GDP ในปี 2551 และมีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นเป็นร้อยละ 4 ในปี 2552 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศลดลงสู่ระดับเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 3 เดือน และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในค่าเงิน Dong ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ทางการเวียดนามจึงประกาศลดค่าเงินจาก 17,034 Dong/ USD เป็น 17,961 Dong/ USD คิดเป็นร้อยละ 5.4 ซึ่งเป็นการลดค่าเงินครั้งที่ 3 ในรอบ 2 ปี และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากร้อยละ 7.0 เป็น ร้อยละ 8.0

2) ผลกระทบจากการลดค่าเงิน Dong ของประเทศเวียดนามต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ความได้เปรียบที่ลดลงของกลุ่มสินค้าส่งออกที่เวียดนามเป็นคู่แข่งของไทยในตลาดโลก เช่น ข้าว เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและชิ้นส่วน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้นความต้องการในการนำเข้าสินค้าไทยจากเวียดนามลดลง เช่น สินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น การขาดทุนในอัตราแลกเปลี่ยนของธุรกิจไทยที่ประกอบกิจการในเวียดนาม ความเสียหายที่เกิดจากการถือทรัพย์สินของเวียดนามผ่านทางตลาดเงินและตลาดทุน จำนวนนักท่องเที่ยวเวียดนามที่เดินทางมาประเทศไทยลดลง

3) กรณีวิกฤตทางการเงินของบริษัท ดูไบเวิลด์ ภายหลังการออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ว่าบริษัท ดูไบเวิลด์ ซึ่งถือหุ้นโดยรัฐดูไบ จะขอขยายกำหนดเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 6 เดือน เป็นวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 โดยคาดว่าบริษัท ดูไบเวิลด์ มีหนี้สินต่างประเทศที่ไม่พร้อมจะชำระประมาณ 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. โดยธนาคารกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ประกาศให้ความช่วยเหลือทางด้านสภาพคล่องแก่ธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐดูไบประกาศเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552 จะไม่ค้ำประกันภาระหนี้สินของบริษัท ดูไบเวิลด์ ในขณะที่บริษัท ดูไบเวิลด์ ประกาศว่าจะปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. โดยยังไม่มีรายละเอียดว่าจะปรับในส่วนใด

4) วิกฤตการณ์ทางการเงินของบริษัท ดูไบเวิลด์ มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยเฉพาะสถาบันการเงินในยุโรปที่มีความเชื่อมโยงกับบริษัท ดูไบเวิลด์ ยังอยู่ในฐานะอ่อนแอโดยเฉพาะ Royal Bank of Scotland, Barclays, และ Lloyds ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตการณ์ Subprime ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ความรุนแรงของผลกระทบดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐอาบูดาบี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่าจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือบริษัท ดูไบเวิลด์ หรือไม่และมากน้อยเพียงใด โดยธนาคารกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ประมาณ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. และกองทุนอาบูดาบีมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินต่างประเทศทั้งหมดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

มติคณะกรรมการ รศก.

1. รับทราบรายงานผลกระทบจากการลดค่าเงินของประเทศเวียดนาม และวิกฤตทางการเงินของบริษัท ดูไบเวิลด์

2. มอบหมายให้กระทรวงแรงงานติดตามสถานการณ์ด้านผลกระทบต่อแรงงานไทยในรัฐดูไบ และรายงานให้คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจทราบต่อไป

3. มอบหมายให้ สศช. ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังติดตามและประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและแนวทางการพัฒนาของประเทศอื่นๆ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงและสัญญาณเตือนทางเศรษฐกิจ และวิเคราะห์แนวโน้มผลกระทบต่อประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจต่อไป

3. แนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระหว่างภาคเอกชน กับ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท. โทรคมนาคม กระทรวงการคลังเสนอเรื่องการดำเนินงานตามสัญญาร่วมการงานของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท) ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 15/2552 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 ที่มอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รับไปพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระหว่างภาคเอกชน กับ บมจ. ทีโอที และบมจ. กสท ให้ถูกต้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 โดยกระทรวงการคลังได้จัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยสรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญ

1. สัญญาร่วมการงานของ บมจ. ทีโอที กับบริษัทเอกชน จำนวน 5 สัญญา ได้แก่

1) สัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (AIS) ลงนามปี 2533 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจำนวน 7 ครั้ง ในระหว่างปี 2533 - 2545

2) สัญญาให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานในเขตนครหลวง 2 ล้านเลขหมาย (True) ลงนามปี 2534 และต่อมามีการแก้ไขสัญญาจำนวน 19 ครั้ง ในระหว่างปี 2539 - 2547

3) สัญญาให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานส่วนภูมิภาค 1 ล้านเลขหมาย (TT&T) ลงนามปี 2535 มีการแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 17 ครั้ง ในระหว่างปี 2539 - 2549

4) สัญญาร่วมลงทุนจัดตั้งโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟ (Comlink) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2533 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจำนวน 2 ครั้ง ในระหว่างปี 2536 - 2544

5) สัญญาร่วมลงทุนสร้างโครงข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำ (Jasmine) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2534 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจำนวน 4 ครั้ง ในระหว่างปี 2537 — 2545

2. สัญญาร่วมการงานของ บมจ. กสท. โทรคมนาคม กับบริษัทเอกชน จำนวน 5 สัญญา

1) สัญญาอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า (TAC) เมื่อวันที่14 พฤษภาคม 2533 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจำนวน 3 ครั้ง ในระหว่างปี 2536 - 2539

2) สัญญาอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบ Digital PCN 1800 (True Move) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2539 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจำนวน 2 ครั้ง ในปี 2543

3) สัญญาอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800 (DPC) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจำนวน 1 ครั้ง ในปี 2542

4) สัญญาทำการตลาดบริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital AMPS 800 Band A (ฮัทชิสัน) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2539 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาทำการตลาดจำนวน 3 ครั้ง ในระหว่างปี 2540 - 2546

5) สัญญาเช่าและว่าจ้างให้ปรับปรุง เปลี่ยนซ่อมแซม บำรุงรักษา และดูแลจัดการเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital AMPS 800 Band A (BFKT) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2543

3. ในช่วงปี 2550 — 2551 บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ได้ขอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือในประเด็นการแก้ไขสัญญาและการให้สัมปทานในบางโครงการในช่วงที่ผ่านมาว่าได้มีการดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือไม่ และหากไม่ถูกต้อง บมจ. ทีโอที และ บสม. กสท. จะมีแนวทางปฏิบัติต่อไปอย่างไร โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยแนวทางดำเนินการในสัญญาต่างๆ สามารถสรุปได้ 4 ลักษณะ ดังนี้

1) กรณีมีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่าง บมจ. ทีโอที กับ AIS จำนวน 7 ครั้ง กรณีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนจัดตั้งโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟระหว่าง บมจ. ทีโอที กับ Comlink จำนวน 2 ครั้ง และกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าระหว่าง บมจ. กสท และ TAC จำนวน 3 ครั้ง

  • คณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยสรุปได้ว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการดำเนินโครงการหรือแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องเสนอคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 พิจารณา หากคณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย ก็จะต้องรายงานต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดตามมาตรา 23(2) และหากเป็นเรื่องที่มีผลเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการหรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐ หรือเป็นกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่มีผลเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการ รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดก็ชอบที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป และเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วหน่วยงานเจ้าของโครงการจึงจะลงนามแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาได้
  • ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ผ่านมาของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โดยไม่ได้ผ่านคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามนัยของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 อย่างไรก็ดี กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา อันเป็นนิติกรรมทางปกครองสามารถแยกออกจากข้อตกลงต่อท้ายสัญญาที่ทำขึ้นได้ และข้อตกลงต่อท้ายสัญญาที่ทำขึ้นนั้นยังคงมีผลอยู่ตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้นผลโดยเงื่อนเวลาหรือเหตุอื่น
                   - หากคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 ได้พิจารณาถึงเหตุแห่งการเพิกถอน ผลกระทบ และความเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประโยชน์สาธารณะแล้วว่า การดำเนินการที่ไม่ถูกต้องนั้น มีความเสียหายอันสมควรจะต้องเพิกถอนข้อตกลงต่อท้ายที่ทำขึ้น  คณะรัฐมนตรีก็ชอบที่จะเพิกถอนข้อตกลงต่อท้ายสัญญา แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีเหตุผลความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของรัฐหรือประโยชน์สาธารณะและเพื่อความต่อเนื่องของการให้บริการสาธารณะ คณะรัฐมนตรีก็อาจใช้        ดุลพินิจพิจารณาให้ความเห็นชอบให้มีการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดังกล่าวได้ตามความเหมาะสม โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการ  และคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22  เป็นผู้ดำเนินการเสนอข้อเท็จจริง เหตุผล และความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

2) กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมลงทุนสร้างโครงข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่าง บมจ. ทีโอที กับ Jasmine จำนวน 4 ครั้ง และสัญญาร่วมดำเนินการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำฝั่งทะเลด้านตะวันออก ระหว่าง บมจ. ทีโอที กับ Jasmine

  • คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่า การแก้ไขสัญญาโครงข่ายเคเบิ้ลฝั่งตะวันออกจะต้องดำเนินการเช่นเดียวกับกรณีของ AIS และ Comlink อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินการโครงข่ายเคเบิ้ลฝั่งตะวันตกนั้น บมจ. ทีโอที จะต้องคำนวณมูลค่าโครงการ และหากเกินกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ก็จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 ต่อไป

3) กรณีข้อตกลงเรื่องบริการเสริมระหว่าง บมจ. ทีโอที และ True

  • คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่า ข้อตกลงเรื่องบริการเสริมไม่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมการงานฯ ในสาระสำคัญ ดังนั้น รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดก็อาจใช้ดุลพินิจให้ความเห็นชอบกับการจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวได้ตามความเหมาะสม โดย บมจ. ทีโอที และคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 เป็นผู้ดำเนินการเสนอข้อเท็จจริง เหตุผล และความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐมนตรีต่อไป

4) สัญญาอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบ Digital PCN 1800 ระหว่าง บมจ. กสท กับ True Move และสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800 ระหว่าง บมจ. กสท และ DPC

  • คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่า แม้ว่าการโอนสิทธิและหน้าที่ของ TAC ในการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าบางส่วนให้กับ True Move และ DPC ไม่เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ แต่ บมจ. กสท ได้อนุญาตให้True Move และ DPC ใช้คลื่นความถี่วิทยุคมนาคมช่วง ดังกล่าว โดยมีการทำสัญญาระหว่าง บมจ. กสท กับ True Move และ DPC ขึ้นใหม่อีกสองฉบับแยกอิสระจากสัญญาของ บมจ. กสท กับ TAC แต่เนื่องจากได้มีการดำเนินการให้บริการโครงการไปแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะต้องประกาศเชิญชวนและ คัดเลือกเอกชน และให้นำบทบัญญัติหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งข้อเท็จจริง โดย บมจ. กสท ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 13 เพื่อดำเนินการตามมาตรา 21 (การนำผลการคัดเลือกพร้อมเหตุผลการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ของรัฐร่างสัญญา และเอกสารทั้งหมด เสนอรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 90 วันนับจากวันที่คณะกรรมการมาตรา 13 ตัดสิน) โดยอนุโลมต่อไป รวมถึงสัญญาที่แก้ไขเพิ่มเติมก็ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการตามมาตรา 13

4. กระทรวงการคลังเสนอแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 ดังนี้

1) แนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535

กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเดิม เห็นสมควรกำหนดแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมการงานฯ ตามขั้นตอน ดังนี้

  • คณะกรรมการ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท พิจารณาประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมการงานฯ และนำเสนอข้อเท็จจริง เหตุผล และความเห็นโดยคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญให้คณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22
  • คณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด
  • กระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาว่าการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมการงานฯ มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการหรือเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของรัฐหรือไม่

(1) กรณีไม่เป็นสาระสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงที่อยู่ของคู่สัญญา รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดใช้ดุลพินิจ ให้ความเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมการงานฯ ได้ตามความเหมาะสม

(2) กรณีเป็นสาระสำคัญหรือเกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐ เช่น การขยายอายุสัญญา การเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนแบ่งรายได้ การอนุญาตให้เอกชนใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมการงานฯ หรือเพิกถอนข้อตกลงต่อท้ายที่ทำขึ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

  • ในกรณีที่สัญญาที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมไปแล้วไม่เคยผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องเสนอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาด้วย

กรณีเกิดโครงการที่เข้าข่ายต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 แต่ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 ตั้งแต่ต้น ให้ดำเนินการ ดังนี้

  • คณะกรรมการ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ชุดปัจจุบัน พิจารณาเหตุผลและความจำเป็นของการร่วมดำเนินงานกับเอกชน และเสนอต่อคณะกรรมการตามมาตรา 13
  • คณะกรรมการตามมาตรา 13 ดำเนินการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 โดยเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
  • คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้มีการดำเนินงานตามสัญญาที่มีอยู่ระหว่าง บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท กับเอกชน หรือเพิกถอนสัญญา โดยคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

2) ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บมจ. ทีโอที และบมจ. กสท รวบรวมปัญหา เหตุผลและความจำเป็น ผลกระทบ ประโยชน์ที่รัฐได้รับหรือสูญเสีย จากการขอแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมการงานหรือการดำเนินการที่ได้ลงนามไปแล้ว เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือเพิกถอนภายใน 1 เดือน โดยยึดหลักการของการกำหนดอัตราส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหลักและประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญ และในกรณีที่รัฐเสียประโยชน์จากการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 ให้ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท จะต้องดำเนินการเรียกคืนผลประโยชน์ที่ขาดไปกลับเข้าสู่รัฐ

3) เห็นสมควรกำชับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจว่า สัญญาร่วมการงานที่ได้ดำเนินการตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 ซึ่งได้ผ่านการตรวจร่างจากสำนักงานอัยการสูงสุด และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้วนั้น ถือเป็นสัญญาหลักที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยส่วนราชการและ รัฐวิสาหกิจจะต้องสอบทานการดำเนินการตามสัญญา หากสำรวจพบว่าสัญญาร่วมการงานกับเอกชนที่มีอยู่ในปัจจุบันมีลักษณะการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 เช่นเดียวกับกรณี บมจ. ทีโอที บมจ. กสท ขอให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเร่งดำเนินการตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นโดยเร็วต่อไป

4) เห็นควรขออนุมัติหลักการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 ให้มีหลักการและขั้นตอนการพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมการงานให้สอดคล้องกับแนวทางที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้ว เพื่อใช้บังคับในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมการงานโดยหน่วยงานเจ้าของโครงการไม่เสียประโยชน์ และกำหนดบทลงโทษให้ชัดเจนในกรณีที่มีการให้เอกชนเข้าร่วมงานโดยไม่ผ่านขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 และในกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมการงานที่เป็นสาระสำคัญ ได้แก่ การขยายอายุสัญญาหรือลดส่วนแบ่งรายได้หรือเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายจนทำให้ผลประโยชน์ตอบแทนของรัฐลดลง

มติคณะกรรมการ รศก.

1. มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทาน ของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ตามแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยไว้แล้วอย่างเคร่งครัด โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอผลการดำเนินงานดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 90 วัน ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาดำเนินงานตามความเหมาะสมต่อไป

2. มอบหมายให้กระทรวงการคลังกำชับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีสัญญาร่วมการงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 กำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามสัญญาอย่างเคร่งครัด และหากพบว่ามีปัญหาการดำเนินงานไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายก็ให้เร่งดำเนินการแก้ไขตามแนวทางของ คณะกรรมการกฤษฎีกา และหากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจประสงค์จะให้เอกชนเข้าร่วมงานในโครงการของรัฐจะต้องดำเนินงานให้ถูกต้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัดต่อไป

3. มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณารายละเอียดในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 โดยเพิ่มหลักการและขั้นตอนการพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมการงานที่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้ว และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

4. การขยายเวลาการพำนักในประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอเรื่องการขยายเวลาการพำนักในประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ให้คณะกรรมการฯ พิจารณา โดยสรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญ

1. นักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิก GCC ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต โอมาน กาตาร์ บาห์เรน และซาอุดิอาระเบีย เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีฐานะดี และนิยมเข้ารับบริการด้านการแพทย์ของไทย สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวสามารถพำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน 30 วัน โดยได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา (ยกเว้นซาอุดีอาระเบียสามารถพำนักได้ไม่เกิน 15 วัน) ซึ่งบริการทางการแพทย์ที่เป็นที่นิยมส่วนใหญ่ใช้เวลาในการรักษาพักฟื้นและกายภาพบำบัดมากกว่า 3 สัปดาห์ จึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยและครอบครัวต้องขยายเวลาพำนักในประเทศไทยให้นานขึ้น

2. เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 เอกอัครราชทูตจากกลุ่มประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาขยายระยะเวลาการพำนักในราชอาณาจักร สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิก GCC โดยขอให้ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและสามารถพำนักนานกว่า 30 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการพำนักในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิก GCC

3. กระทรวงการต่างประเทศเสนอคณะกรรมการ รศก. พิจารณา ดังนี้

1) ขยายเวลาพำนักสำหรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศสมาชิก GCC ทั้ง 5 ประเทศ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต โอมาน กาตาร์ และบาห์เรน โดยขอให้ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและสามารถพำนักอยู่ในประเทศไทยได้ จากไม่เกิน 30 วัน ตามที่ได้รับอนุญาตในปัจจุบัน เป็นไม่เกิน 90 วัน

2) สำหรับประเทศซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากปัจจุบันยังมีประเด็นด้านความมั่นคง กอปรกับการที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย มีมาตรการห้ามมิให้ประชาชนของตนเดินทางมาประเทศไทย ในชั้นนี้จึงเห็นสมควรให้คงมาตรการกำหนดให้สามารถขอรับการตรวจลงตราแบบ Visa on Arrival และพำนักได้ไม่เกิน 15 วัน ไว้ก่อน

4. ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ขัดข้องในหลักการที่จะขยายเวลาพำนักในประเทศไทย สำหรับคนชาติจากประเทศสมาชิก GCC เฉพาะที่มีความจำเป็นต้องพำนักในประเทศไทยเกิน 30 วัน เนื่องจากต้องการเข้ามารับบริการทางการแพทย์ (โดยมีเอกสารรับรองทางการแพทย์) ซึ่งไม่ควรครอบคลุมคนชาติของประเทศสมาชิก GCC กลุ่มที่เป็นนักท่องเที่ยวทั่วไป

2) กระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบต่อการขอขยายเวลาพำนักในประเทศไทย แต่ควรมีการกำหนดระยะเวลาในการขออนุญาตให้ขยายเวลาการพำนักในประเทศได้ตามอาการของโรค สำหรับกรณีที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ภาวะการมีบุตรยากควรขยายเวลาได้ถึง 90 วัน สำหรับโรคอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ควรพิจารณาตามความเหมาะสมของโรคและอาการ แล้วอนุญาตให้ขยายเวลาเป็นกรณีๆ ไป โดยมีแพทย์ให้คำรับรองว่าแต่ละโรค/อาการ ควรใช้เวลาในการรักษายาวนานเท่าใด ตั้งแต่ 45 — 60 วัน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อนโยบายความมั่นคงของประเทศไทย

3) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เห็นว่าการขอขยายระยะเวลาการพำนักเกินกว่า 30 วัน เพื่อรับบริการทางการแพทย์ การรักษาพยาบาล และการพักฟื้นนั้น ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อีกทั้งจะต้องดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงฯ เพื่อขยายระยะเวลาพำนัก

4) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่ขัดข้องต่อการขยายเวลาการพำนักในประเทศไทย สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิก GCC จากไม่เกิน 30 วันตามที่ได้รับอนุญาตในปัจจุบัน เป็นไม่เกิน 90 วัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Medical Hub และเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพจากประเทศสมาชิก GCC

5) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ไม่ขัดข้องที่จะขยายเวลาการยกเว้นการตรวจลงตรามากกว่า 30 วัน สำหรับคนชาติจากประเทศสมาชิก GCC ที่ต้องการพำนักในประเทศไทยเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

มติคณะกรรมการ รศก.

มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ รับไปพิจารณาแนวทางการตรวจลงตราและระยะเวลาการพำนักในประเทศไทยสำหรับกลุ่มประเทศ GCC โดยหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาการขยายระยะเวลาการพำนักในประเทศไทยสำหรับกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย และกลุ่มประเทศอื่นที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์

5. ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ...... สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เสนอเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ. .... ของสำนักผู้แทนการค้าไทย เพื่อให้คณะกรรมการฯ พิจารณา ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี โดยให้มีการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ. .... ของสำนักผู้แทนการค้าไทย พร้อมกับร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ..... ของกระทรวงพาณิชย์ โดยสรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญ

1. ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ. .... ของสำนักผู้แทนการค้าไทย ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายที่มีการบังคับใช้ในต่างประเทศด้วย โดยนำบางประเด็นที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุงให้เหมาะสมกับลักษณะสภาพทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต สังคมวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของประเทศไทย โดยการการจัดทำร่างกฎหมายของสำนักผู้แทนการค้าไทย อยู่บนพื้นฐานการประกอบธุรกิจร่วมกันของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่และรายย่อย ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่และแบบดั้งเดิม สำหรับในพื้นที่ที่มีการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งหนาแน่น ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ชัดเจนเพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจร่วมกันได้อย่างเป็นธรรม และในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งรุนแรง ก็ให้สิทธิกับชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการอนุญาตการประกอบธุรกิจของธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง โดยเฉพาะรายใหญ่ทันสมัย

2. ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ. .... ของกระทรวงพาณิชย์ มีเจตนารมณ์เพื่อจัดระเบียบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง เฉพาะธุรกิจบางประเภทตามที่ประกาศกำหนด แก้ไขปัญหาการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่งแบบดั้งเดิม และส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่งรายย่อยดั้งเดิม โดยขอบเขตของกฎหมายมิให้ใช้บังคับแก่ การขายยา การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง การขายหนังสือหรือหนังสือพิมพ์ การขายของที่ระลึกตามแหล่งท่องเที่ยว การขายอัญมณีและเครื่องประดับ การขายอาหารที่ปรุงสำเร็จให้แก่ผู้ซื้อสามารถบริโภคได้ทันที การขายสินค้าซึ่งเป็นผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ของชุมชนเป็นหลัก ตลาดสด ร้านค้าสหกรณ์ และการขายสินค้าอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

3. ฝ่ายเลขานุการได้ทำการการเปรียบเทียบร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ. .... ของสำนักผู้แทนการค้าไทย และร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ. .... ของกระทรวงพาณิชย์ มีประเด็นข้อแตกต่างกันใน 10 ประเด็น ได้แก่ (1) ธุรกิจที่ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมาย (2) องค์ประกอบคณะกรรมการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง (3) อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประกอบธุรกิจปลีกหรือค้าส่ง (4) คณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด (5) ประเภทของธุรกิจที่ต้องขออนุญาต (6) การขออนุญาต และการพิจารณาอนุญาต (7) การอุทธรณ์ (8) กองทุนส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ (9) บทลงโทษ และ (10) บทเฉพาะกาล

มติคณะกรรมการ รศก.

มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสำนักงานผู้แทนการค้าไทย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่งพ.ศ ..... โดยยึดร่างกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์เป็นหลัก และนำร่างกฎหมายของสำนักงานผู้แทนการค้าไทย และประเด็นความเห็นของคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ. .... และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ