แผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2552-2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 9, 2009 15:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2552-2554 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนยุทธศาสตร์ฯ ไปปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขรับข้อสังเกตของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอนามัยสิ่งแวดล้อม ให้มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ทิศทาง ยุทธศาสตร์การดำเนินงานและส่งเสริม สนับสนุนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการอนามัยสิ่งแวดล้อม (จำนวน 6 คณะ) โดยทำการยกร่างแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2552-2554) และให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย 6 ด้าน ได้แก่ ด้าน คุณภาพอากาศ ด้านน้ำ สุขอนามัย และการสุขาภิบาล ด้านขยะมูลฝอย และของเสียอันตราย ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านการเตรียมการและวางแผนรองรับภาวะฉุกเฉินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 คณะทำงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ได้จัดการประชุมหลายครั้งเพื่อร่วมกันจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ รวมทั้งได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และได้นำแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่ปรับแก้ไขแล้วเสนอคณะกรรมการอนามัยสิ่งแวดล้อมพิจารณาในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2552 ที่ประชุมมีมติรับหลักการและเนื้อหาหลักของแผนยุทธศาสตร์ฯ และเห็นชอบให้นำแผนยุทธศาสตร์ฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ฯ

2. สาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ฯ

2.1 วิสัยทัศน์ มุ่งสู่การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและ ประชาคมโลก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเสมอภาค ด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วน

2.2 เป้าประสงค์ มีการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม และพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพอย่างเป็นระบบเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี

2.3 มาตรการและแนวทางการดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อม รายสาขา 6 สาขา ได้แก่ 2.3.1 มาตรการและแนวทางการดำเนินงานด้านคุณภาพอากาศ 2.3.2 มาตรการและแนวทางการดำเนินงานด้านน้ำ สุขอนามัย และการสุขาภิบาล 2.3.3 มาตรการและแนวทางการดำเนินงานด้านขยะมูลฝอย และของเสียอันตราย 2.3.4 มาตรการและแนวทางการดำเนินงานด้านสารเคมีเป็นพิษและสารอันตราย 2.3.5 มาตรการและแนวทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3.3.6 มาตรการและแนวทางการดำเนินงานด้านการเตรียมการและวางแผนรองรับภาวะฉุกเฉินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม

โดยเน้นการดำเนินงานใน 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของระบบบริหารจัดการ และการเข้าถึงการบริการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเสริมสร้างศักยภาพภาคีเครือข่าย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารสาธารณะและการเข้าถึงข้อมูลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริม สนับสนุนการใช้มาตรการทางกฎหมาย เศรษฐศาสตร์และสังคม ยุทธศาสตร์ที่ 6 การส่งเสริม สนับสนุนการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 7 การสนับสนุนและปฏิบัติตามพันธกรณี ข้อตกลง และความร่วมมือระหว่างประเทศ

กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแล้วเห็นว่า แผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดทำแผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานที่มีทิศทางและเป้าหมายร่วมกัน ตลอดจนจะเป็นเครื่องมือในการบูรณาการงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ