สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ครั้งที่ 5

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 9, 2009 16:08 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ครั้งที่ 5 ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2552 ประกอบด้วย สถานการณ์อุทกภัย ผลกระทบด้านการเกษตร การให้ความช่วยเหลือ และสถานการณ์น้ำ สรุปได้ดังนี้

สถานการณ์อุทกภัย

จากอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ส่งผลทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ และน้ำล้นตลิ่ง 3 ช่วง ดังนี้

ช่วงวันที่ 2-11 พฤศจิกายน 2552 พื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา นราธิวาส และปัตตานี

ช่วงวันที่ 19-22 พฤศจิกายน 2552 พื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา นราธิวาส พัทลุง สตูล ปัตตานี และยะลา

ช่วงวันที่ 1-3 ธันวาคม 2552 พื้นที่ 1 จังหวัด คือ จังหวัดนราธิวาส ในเขตเทศบาลเมืองสุไหง-โกลก ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.80 เมตร และบริเวณตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ และตำบลมะนังตายอ อำเภอเมือง บางส่วน ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.50-0.60 เมตร แนวโน้มลดลง หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 3 -5 วัน

ผลกระทบด้านการเกษตร ช่วงภัยวันที่ 2-23 พฤศจิกายน 2552 (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2552)

ด้านพืช 9 จังหวัด เกษตรกรประสบภัย 133,718 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 327,085 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 172,119 ไร่ พืชไร่ 34,631 ไร่ และพืชสวน 120,335 ไร่

ด้านปศุสัตว์ 9 จังหวัด เกษตรกรประสบภัย 65,909 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 1,406,322 ตัว แบ่งเป็น โค-กระบือ 125,828 ตัว สุกร-แพะ-แกะ 74,894 ตัว และสัตว์ปีก 1,205,600 ตัว แปลงหญ้า 4,714 ไร่

ด้านประมง 10 จังหวัด เกษตรกรประสบภัย 11,562 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย แบ่งเป็น บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ 10,158 บ่อ คิดเป็นพื้นที่ 14,787 ไร่ กระชังเลี้ยงสัตว์น้ำ 7,387 กระชัง คิดเป็นพื้นที่ 111,168 ตารางเมตร

การช่วยเหลือเบื้องต้น

1. สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 91 เครื่อง ได้แก่ นราธิวาส (20) ยะลา (8) สงขลา (57) และ นครศรีธรรมราช (6)

2. สนับสนุนพืชอาหารสัตว์ 461.49 ตัน และดูแลสุขภาพสัตว์ 20,387 ตัว

สถานการณ์น้ำ

1. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ (4 ธันวาคม 2552) มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ ทั้งหมด 54,649 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 79 ของความจุอ่างฯ ทั้งหมด น้อยกว่าปี 2551 (57,528 ล้าน ลบ.ม.) จำนวน 2,879 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 4 ของความจุอ่างฯ ทั้งหมด ปริมาตรน้ำใช้การได้ 31,123 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ ทั้งหมด

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำ น้อยกว่า ร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ จำนวน 1 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำแม่กวง (29%)

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำ มากกว่า ร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ จำนวน 16 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำแม่งัด(88%) กิ่วลม(83%) จุฬาภรณ์(91%) ลำปาว(83%) สิรินธร(86%) ป่าสักชลสิทธิ์(93%) กระเสียว(86%) ศรีนครินทร์(90%) วชิราลงกรณ์(87%) ขุนด่านฯ(83%) หนองปลาไหล(100%) ประแสร์(96%) แก่งกระจาน(85%) ปราณบุรี(90%) รัชชประภา(88%) และบางลาง(82%)

อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีปริมาตรน้ำรวมกัน จำนวน 15,112 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุทั้งสองอ่างฯ น้อยกว่าปี 2551(18,268 ล้านลบ.ม.) จำนวน 3,156 ล้านลบ.ม.

2. สภาพน้ำท่า

ภาคเหนือ แม่น้ำปิง ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นบริเวณเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย แม่น้ำน่าน ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดน่าน ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย แม่น้ำวัง และแม่น้ำยม ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม่น้ำชี ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ยกเว้น อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร และกิ่งอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ แม่น้ำมูล ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ยกเว้น อำเภอเราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำปกติ

ภาคกลาง แม่น้ำเจ้าพระยาปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ และ แม่น้ำป่าสัก อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคใต้ ส่วนใหญ่ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้น อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ท่วม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ