การขยายระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมสำหรับแปลง B-17-01

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 9, 2009 16:24 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การขยายระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมสำหรับแปลง B-17-01

ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างสัญญาเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) ของสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract, PSC) เพื่อขยายระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมของแปลง B-17-01 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี ให้แก่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท PC JDA Limited ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

พน. รายงานว่า

1. สัญญาแบ่งปันผลผลิตที่ผู้ได้รับสัญญาได้ลงนามกับองค์กรร่วมเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 มีอายุสัญญา 35 ปี ประกอบด้วยช่วงเวลาต่าง ๆ คือ ระยะเวลาสำรวจ 5 ปี ระยะถือครองเพื่อการหาตลาด 5 ปี (เฉพาะกรณีแหล่งก๊าซ) ระยะเวลาพัฒนา 5 ปี และระยะเวลาผลิต 20 ปี (สำหรับแหล่งก๊าซ) หรือ 25 ปี (สำหรับแหล่งน้ำมันดิบ) ทั้งนี้ ระยะเวลาสำรวจ 5 ปีครบกำหนดในวันที่ 29 กันยายน 2552

2. ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ผู้ได้รับสัญญาได้ดำเนินการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนของชั้นหินแบบ 3 มิติ (3D SEISMIC) ครอบคลุมเนื้อที่ 1,162 ตารางกิโลเมตร และเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมจำนวน 7 หลุม โดยมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ผ่านมา 102 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,570 ล้านบาท) ซึ่งเกินกว่าข้อผูกพันที่กำหนดในสัญญา (สำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนของชั้นหินแบบ 3 มิติ ครอบคลุมเนื้อที่ 300 ตารางกิโลเมตร เจาะหลุมสำรวจอย่างน้อย 2 หลุม และมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำในการสำรวจ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

3. จากผลการสำรวจดังกล่าวทำให้มีการค้นพบแหล่งก๊าซ 7 แหล่งมีปริมาณสำรองก๊าซ (2P) รวม 674 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ผู้ได้รับสัญญาได้รับอนุมัติจากองค์กรร่วมให้ถือครองพื้นที่ของแหล่งก๊าซทั้ง 7 แหล่ง ต่อไปอีกเป็นเวลา 5 ปี นับจากสิ้นสุดระยะเวลาสำรวจเพื่อการหาตลาดและกำหนดแผนพัฒนาแหล่ง ทำให้เหลือพื้นที่ที่ยังสำรวจไม่พบปิโตรเลียมประมาณ 2,906 ตารางกิโลเมตร

4. ผู้ได้รับสัญญาได้ยื่นคำขอต่อองค์กรร่วมเพื่อสงวนพื้นที่บางส่วนในแปลงสำรวจของตนที่ยังไม่ได้กำหนดเป็นพื้นที่ถือครองแหล่งก๊าซ โดยขอขยายระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมสำหรับพื้นที่ดังกล่าวออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยเสนอข้อผูกพันการสำรวจเพิ่มเติม คือ ผู้ได้รับสัญญาต้องเจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม และอาจเจาะสำรวจเพิ่ม (Optional) อีก 1 หลุม ศึกษาทางธรณีวิทยา และสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนของชั้นหินแบบ 3 มิติ ครอบคลุมเนื้อที่ 300 ตารางกิโลเมตร โดยมีค่าใช้จ่ายในการสำรวจขั้นต่ำรวม 5,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ และผู้ได้รับสัญญาต้องจ่ายเงินอุดหนุนสำหรับฝึกอบรมบุคลากรขององค์กรร่วมทุกปีปีละ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ

5. องค์กรร่วมได้พิจารณาคำขอของผู้ได้รับสัญญาในการประชุมครั้งที่ 86 และ 87 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม และ 15 สิงหาคม 2552 ตามลำดับแล้ว มีมติเห็นชอบการขอขยายระยะเวลาสำรวจในพื้นที่บางส่วนของแปลง B-17-01 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี ทั้งนี้ การขอขยายระยะเวลาดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อระยะเวลาโดยรวม 35 ปี ของสัญญาแบ่งปันผลผลิต กล่าวคือระยะเวลาสำรวจที่ขยายออกไป 3 ปี จะนับต่อเนื่องพร้อมไปกับระยะเวลาถือครองแหล่งก๊าซ 5 ปี ตามสัญญาฯ โดยมีเงื่อนไขและข้อผูกพันเพิ่มเติมตามที่ระบุในข้อ 4 ข้างต้น ทั้งนี้ โดยกำหนดรูปแบบให้ทำเป็นสัญญาเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) ของสัญญาแบ่งปันผลผลิตดังร่างสัญญาฯ ที่องค์กรร่วมได้ตรวจพิจารณาแล้วนำเสนอขอรับความเห็นชอบจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซีย

6. การขยายระยะเวลาสำรวจออกไปอีก 3 ปี สำหรับพื้นที่ของแปลงส่วนที่ยังสำรวจไม่พบปิโตรเลียมซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงและศักยภาพค่อนข้างต่ำ ให้แก่ผู้ได้รับสัญญาเดิมที่มีประสบการณ์อยู่แล้วจะช่วยให้มีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ต่อไป และเพิ่มโอกาสในการพบปิโตรเลียมมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาสำรวจดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อระยะเวลาโดยรวม 35 ปี ของสัญญาแบ่งปันผลผลิตหลักแต่อย่างใด (ระยะเวลา 35 ปีของสัญญายังคงเดิม)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ