ร่างประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 16, 2009 13:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างประมวลจริยธรรมด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

ข้อเท็จจริง

กระทรวงศึกษาธิการเสนอว่า

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 279 กำหนดให้มาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการ หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น ซึ่งมาตรฐานทางจริยธรรมจะต้องมีกลไกและระบบในการดำเนินงานเพื่อให้การบังคับใช้มีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ โดยการ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามถือเป็นการกระทำความผิดทางวินัย และมาตรา 280 บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่เสนอแนะหรือให้คำแนะนำในการจัดทำประมวลจริยธรรม

2. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 29 กำหนดให้การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยยึดถือระบบคุณธรรม ความเสมอภาคระหว่างบุคคล และหลักการได้รับการปฏิบัติและการคุ้มครองสิทธิอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30 ได้กำหนดหลักความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันและการไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

3. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมกับผู้แทนองค์กรกลางบริหารงานบุคคลแต่ละประเภทและหน่วยงานของรัฐได้ร่วมกันจัดทำค่านิยมหลักสำหรับใช้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท และได้แจ้งให้กระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา) ดำเนินการจัดทำประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

4. ได้ดำเนินการจัดทำร่างประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่ออนุวรรตให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยได้นำค่านิยมหลักที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนดให้หน่วยงานและส่วนราชการต่างๆ ถือปฏิบัติมาเป็นหลักในการยกร่าง อีกทั้งได้กำหนดให้ร่างประมวลจริยธรรมดังกล่าวเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและหลักความเสมอภาคตามข้อ 2 โดยกำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรม ไม่ซ้ำซ้อนกับมาตรการทางวินัยและจรรยาบรรณวิชาชีพ มีการวางระบบและกระบวนการเพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ร่างประมวลจริยธรรมดังกล่าวใช้บังคับกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พนักงานราชการและลูกจ้างในหน่วยงานการศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งคณะกรรมการ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ให้ความเห็นชอบด้วยแล้ว

5. กระบวนการจัดทำร่างประมวลจริยธรรมในเรื่องนี้ได้ดำเนินการให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคต่าง ๆ และได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงแก้ไขร่างประมวลจริยธรรมดังกล่าวแล้ว

สาระสำคัญของร่างประมวลจริยธรรม

1. กำหนดหลักการเกี่ยวกับอุดมการณ์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (หมวด 1)

2. กำหนดคำนิยาม ค่านิยม จริยธรรม จรรยา ประมวลจริยธรรม ข้าราชการ คณะกรรมการจริยธรรม ของขวัญ และหัวหน้าส่วนราชการ (ร่างข้อ 3)

3. กำหนดค่านิยมหลักที่ต้องยึดมั่น (ร่างข้อ 4)

4. กำหนดจริยธรรมที่ต้องยึดถือปฏิบัติ เช่น ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม ศรัทธาและปฏิบัติตนตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เป็นต้น (หมวด 4 ร่างข้อ 5 ถึงร่างข้อ 17)

5. กำหนดจรรยาที่ต้องยึดถือปฏิบัติ เช่น ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม ศรัทธาและปฏิบัติตนตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องเที่ยงธรรม มีจิตบริการ เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงตน เป็นต้น (หมวด 5 ร่างข้อ 18 ถึงร่างข้อ 28)

6. กำหนดให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ควบคุมกำกับการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม กำหนดให้มีคณะกรรมการจริยธรรมประจำส่วนราชการและกำหนดอำนาจหน้าที่ (ร่างข้อ 29 ถึงร่างข้อ 31)

7. กำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการและผู้บริหารส่วนราชการมีหน้าที่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมและประพฤติตนเป็นแบบอย่างแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และกำหนดอำนาจหน้าที่ (ร่างข้อ 32)

8. กำหนดให้มีการจัดตั้งกลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมขึ้นในทุกส่วนราชการขึ้นตรงต่อหัวหน้าส่วนราชการ และกำหนดอำนาจหน้าที่ (ร่างข้อ 33)

9. กำหนดให้การฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมตามหมวด 4 เป็นความผิดทางวินัย สำหรับการฝ่าฝืนประมวล จริยธรรมตามหมวด 5 ไม่ถือเป็นความผิดทางวินัย แต่ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยมาใช้บังคับโดยอนุโลม และกำหนดให้การกระทำครั้งเดียวที่มีทั้งความผิดทางวินัยและฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมให้ลงโทษทางวินัยได้ครั้งเดียว (ร่างข้อ 34 ถึงร่างข้อ 36)

10. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการตามประมวลจริยธรรมของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการจริยธรรม และหัวหน้าส่วนราชการส่งเสริมจริยธรรมของข้าราชการ (ร่างข้อ 37)

11. กำหนดอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยปัญหาการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม (ร่างข้อ 38 และร่างข้อ 39)

12. กำหนดบทเฉพาะกาล การแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรม กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมในส่วนราชการ และให้มีการประเมินการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมเมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ประมวลจริยธรรมมีผลใช้บังคับ (ร่างข้อ 40 และร่างข้อ 41)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ