ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 16, 2009 14:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. หลักการของยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 การกำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ได้จัดทำขึ้นภายใต้กรอบนโยบายของรัฐบาล แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552-2554 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (2550-2554) โดยคำนึงถึงการบริหารราชการแผ่นดินอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ประกอบกับคาดว่าจะยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณตามสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันซึ่งทำให้การจัดสรรงบประมาณ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของนโยบายของรัฐบาลที่มีลำดับความสำคัญสูง การกำหนดนโยบายการจัดสรรงบประมาณในยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 จึงให้ความสำคัญกับการกำหนดจุดเน้นการจัดสรรงบประมาณตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และวาระแห่งชาติที่สำคัญเพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถนำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีไปใช้เป็นแนวทางในการเสนอขอจัดสรรงบประมาณรายจ่าย รวมทั้งได้มีการควบรวมประเด็นยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันเข้าด้วยกัน เพื่อให้งบประมาณเป็นกลไกในการส่งเสริมการบูรณาการภารกิจต่างๆ ลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิผลในการใช้จ่ายให้มากขึ้น

2. สาระสำคัญของยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ประกอบด้วย 8 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ โดยมีสาระสำคัญโดยสรุปแต่ละยุทธศาสตร์ ดังนี้

2.1 การสร้างความเชื่อมั่นของประเทศ

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ยังมีความจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ การบูรณการการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก การสร้างระบบประกันรายได้และความเสี่ยงทางการเกษตร การพัฒนาคุณภาพสินค้าการเกษตรที่ยังมีโอกาสสูงและพัฒนาระบบกระจายสินค้าเกษตร รวมทั้งการดำเนินการตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ

2.2 การรักษาความมั่นคงของรัฐ

มุ่งสร้างความมั่นคงของประเทศบนพื้นฐานของความสมานฉันท์ และความสามัคคีของคนในประเทศ รักษาความมั่นคงของชาติ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในการพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ การพัฒนาระบบการแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองและแรงงานต่างด้าว และการเสริมสร้างศักยภาพในการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามข้ามชาติ

2.3 การพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและขยายโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาและยกระดับมาตรฐานแรงงาน การเสริมสร้างสุขภาวะของประชาชน การส่งเสริมและพัฒนาศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสวัสดิการสังคมให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและการส่งเสริมพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ

2.4 การจัดการเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน

มุ่งเน้นการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคให้เกิดความยั่งยืน การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจภาคการเกษตร การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ภาคการตลาด การค้า และการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการพัฒนาพลังงานที่สะอาด ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

2.5 การบริการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก

มุ่งเน้นการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก การอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ การป้องกัน เตือนภัย และฟื้นฟูความเสียหายจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย การควบคุมและการลดปริมาณของเสียและมลพิษอันเกิดจากการขยายตัวของเมืองและภาคอุตสาหกรรม

2.6 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม

ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการวิจัยเพื่อการผลิตและพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การส่งเสริมการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การส่งเสริมการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน การเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสู่ประชาชน รวมทั้งการสนับสนุนให้ภาคเอกชนพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม

2.7 การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี การส่งเสริมให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในประชาคมโลก และการคุ้มครอง รักษาส่งเสริมสิทธิและผลประโยชน์ของประเทศไทยและประชาชนไทย

2.8 การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ การส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน การพัฒนากฎหมายและ การยุติธรรม และการสนับสนุนการบริหารจัดการของรัฐสภา ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

2.9 รายการค่าดำเนินการภาครัฐ

ประกอบด้วย รายการ งบกลางเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ค่าใช้จ่ายบุคลากรในงบกลาง การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ