มาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 16, 2009 14:15 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีพิจารณามาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แล้วมีมติดังนี้

1. เห็นชอบแนวทางการชดเชยให้รัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ตามนโยบายรัฐบาล ไม่เป็นภาระทางการเงินต่อรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบดำเนินการและจำนวนเงินชดเชยเป็นไปตามหลักการที่เหมาะสม ดังนี้

1.1 ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) คำนวณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ดังนี้

1) ใช้หลักการปันส่วนจากจำนวนรถโดยสารธรรมดาประจำการทั้งหมด สำหรับค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้ เงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทน รายการสวัสดิการเงินบำเหน็จและเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าเหมาซ่อม ค่าเช่าสถานที่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ดอกเบี้ยจ่าย ค่าเสื่อมราคา

2) ใช้หลักการรายจ่ายจริงสำหรับค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น ค่าเช่ารถยนต์โดยสารธรรมดา จำนวน 80 คัน

1.2 ให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการกู้เงินเพื่อชดเชยยอดค้างชำระสำหรับนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน จำนวน 3,803.218 ล้านบาท และกรอบวงเงินชดเชยสำหรับมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนระยะที่ 2 จำนวน 11,117.000 ล้านบาท โดยให้สำนักงบประมาณตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เพื่อชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวต่อไป

1.3 อนุมัติขยายกรอบวงเงินสำหรับมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนระยะแรก เพิ่มเติมให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปานครหลวง (กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ในกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 62.151 ล้านบาท 37.418 ล้านบาท และ 39.407 ล้านบาท ตามลำดับ รวมทั้งสิ้น 138.976 ล้านบาท โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ได้รับอนุมัติจากกรมบัญชีกลางให้กันไว้เบิกเหลื่อมปี ทั้งนี้ ในส่วนของเงินที่ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่ ขสมก. ที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามหลักการคำนวณในข้อ 1.1 จำนวน 21.934 ล้านบาท ให้นำยอดเงินดังกล่าวไปหักออกจากการชดเชยภาระค่าใช้จ่ายของ ขสมก. สำหรับมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนระยะที่ 2

2. เห็นชอบการขยายระยะเวลาในการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนต่อไปอีก 3 เดือน (1 มกราคม — 31 มีนาคม 2553) ทั้งนี้ให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรเงินเพื่อสนับสนุนการขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการฯ ให้แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการคือ กปน. กปภ. กฟน. กฟภ. ขสมก. และ รฟท. เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 12,171.557 ล้านบาท โดยมีสาระสำคัญดังนี้

(1) มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน ดำเนินการผ่าน กปน. กปภ. และองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการใช้น้ำสำหรับผู้ใช้น้ำประเภทที่อยู่อาศัยที่มีปริมาณการใช้น้ำระหว่าง 0-20 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน (ประมาณ 130 ลิตรต่อคนต่อวัน) ลดลงจากมาตรการฯ เดิมที่ 0-30 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีการใช้น้ำประปาอย่างประหยัดและคุ้มค่า และสามารถลดวงเงินที่รัฐรับภาระได้ประมาณ 1,265 ล้านบาท (จาก 4,112 ล้านบาท เป็น 2,847 ล้านบาท) หรือร้อยละ 30.76 ของวงเงินของช่วงการใช้น้ำเดิมที่ 0-30 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน

(2) มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน ดำเนินการผ่าน กฟน. และ กฟภ. โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการใช้ไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน

(3) มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง ดำเนินการผ่าน ขสมก. โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถโดยสารประจำทางธรรมดาจำนวน 800 คันต่อวัน ใน 73 เส้นทางให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

(4) มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 ดำเนินการผ่าน รฟท. โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม จำนวน 164 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ระยะทางไกลในขบวนรถเชิงพาณิชย์จำนวน 8 ขบวนต่อวัน ให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ