มาตรการป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 16, 2009 14:36 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. รับทราบสถานการณ์เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและมาตรการการดำเนินการป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

2. เห็นชอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นผู้รับผิดชอบหลัก และใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินฯ ในการดำเนินการและหากมีการใช้เงินทดรองราชการไปบางส่วนแล้ว ให้สามารถใช้เงินทดรองราชการที่มีอยู่ดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอต่อไปจนแล้วเสร็จตามแผนปฏิบัติการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ความสำคัญของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นแมลงปากดูดชนิดสำคัญที่ระบาดทำลายต้นข้าวในแถบเอเชียอาคเนย์ โดยทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย จะทำลายต้นข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งและตายเป็นหย่อมๆ เรียกว่า “Hopper burn” นอกจากนี้ ยังเป็นพาหะนำเชื้อโรคจู๋ โรคเขียวเตี้ย ทำให้ต้นข้าวไม่สามารถออกรวงให้ผลผลิตได้ โดยความเสียหายของผลผลิตอาจสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ตัวแก่ที่มีปีกยาวอพยพโดยอาศัยกระแสลมช่วย วงจรชีวิตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ประมาณ 25 — 35 วัน และใน 1 ฤดูปลูกข้าว สามารถวางไข่และเพิ่มปริมาณระบาดทำลายต้นข้าวได้ 2-3 รุ่น พื้นที่นาข้าวของประเทศไทยเคยมีการระบาดทำลายอย่างรุนแรงโดยเพลี้ยชนิดนี้ เมื่อประมาณปี 2520, 2530 และปี 2540 นับเป็นจำนวนกว่าล้านไร่ และเมื่อปี 2550 ได้เคยเกิดการระบาดในประเทศเวียดนาม ทำความเสียหายแก่ผลผลิตข้าวมหาศาล จนเกิดวิกฤตด้านพืชอาหาร มีผลทำให้ข้าวเปลือกในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และในปัจจุบันก็ยังมีการระบาดอยู่

2. สถานการณ์การระบาด

ปัจจุบัน ในประเทศไทยพบมีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายนาข้าวในแถบจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 18 จังหวัด คือ กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครนายก ขอนแก่น และมหาสารคาม โดยจากการสำรวจของกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นพื้นที่ 1.985 ล้านไร่ (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1) และมีแนวโน้มจะมีการระบาดมากขึ้น โดยจากการสำรวจติดตามพบว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลกำลังแพร่กระจายและอพยพขึ้นไปทางภาคเหนือ หากไม่มีการป้องกันกำจัดอย่างใดอย่างหนึ่ง จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าว ประมาณ 1.1 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 11,000 ล้านบาท รวมทั้งอาจขยายการระบาดไปทั่วประเทศ หรืออาจเพิ่มปริมาณและระบาดทำลายต้นข้าวในฤดูกาลต่อไปเป็นพื้นที่มากถึง 5-10 เท่า

3. สาเหตุการระบาด

3.1 การทำนาปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการพัก หรือคั่นด้วยการปลูกพืชชนิดอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชลประทานซึ่งสามารถปลูกข้าวได้ตลอดปี ทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีอาหารกินตลอดปี

3.2 การหว่านข้าวโดยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์สูงมาก กล่าวคือ 30-40 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้มีประชากรต้นข้าวหนาแน่นเกินไป เกิดความอับชื้นเหมาะแก่การอยู่อาศัยและแพร่พันธุ์ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล นอกจากนี้ ยังยากลำบากในการสำรวจตรวจสอบการระบาด และการพ่นสารเคมีเข้าไปไม่ถึงตัวแมลง ซึ่งทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีความสามารถต้านทานสารเคมี

3.3 การใช้พันธุ์ข้าวชนิดเดียวปลูกติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เช่น ปัจจุบันมีการใช้พันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 ซึ่งแต่เดิมสามารถต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ปลูกต่อเนื่องติดต่อกันกว่า 10 ปี ทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีการปรับตัวสามารถทำลายข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ได้

3.4 การขังน้ำในระดับสูงในแปลงนาข้าวตลอดเวลา โดยไม่มีการระบายน้ำออกให้แห้งบ้างสลับกันไป ทำให้สภาพนิเวศในแปลงนามีความเหมาะสมในการระบาดทำลายมากขึ้น ซึ่งหากมีการจัดการระบบน้ำเปียกสลับแห้งจะมีส่วนช่วยในการลดปริมาณการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแปลงนาได้ส่วนหนึ่ง

3.5 การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดที่ไม่ถูกต้องของเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีที่เกษตรกรใช้อยู่ทั่วไปในปัจจุบันไม่สามารถทำลายเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ เช่น การใช้สารอะบาเม็กติน ซึ่งมีฤทธิ์รุนแรงทำลายแมลงทุกชนิดแม้กระทั่งศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในการควบคุมปริมาณเพลี้ย ได้แก่ มวนเขียวดูดไข่ แมงมุมลาย มด ทำให้สูญเสียความสมดุลตามธรรมชาติ และทวีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล นอกจากนี้ การใช้สารเคมีที่ไม่ถูกกับระยะการเจริญเติบโตของต้นข้าว เช่น อายุน้อยกว่า 40 - 60 วัน หรือมากกว่า 60 วัน เป็นต้น ทำให้การกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลไม่ได้ผล

3.6 การใช้ปุ๋ยเคมีประเภทไนโตรเจนในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้ต้นข้าวมีสีเขียวเข้ม และ ลำต้นอวบอ่อนเป็นที่ดึงดูดและง่ายต่อการดูดทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

4. มาตรการป้องกันกำจัด

เพื่อเป็นการเร่งรัดการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และสกัดกั้นไม่ให้เพลี้ยเพิ่มปริมาณและ ขยายวงการระบาดไปสู่แหล่งอื่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดมาตรการโดยความเห็นชอบของที่ประชุมเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2552 โดยแยกเป็นมาตรการเร่งด่วนระยะสั้น ได้แก่ แผนปฏิบัติการควบคุมกำจัด เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของจังหวัดที่เกี่ยวข้อง และมาตรการระยะยาว ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้ดำเนินการต่อไป โดยสรุป ดังนี้

4.1 มาตรการเร่งด่วนระยะสั้น: แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

(1) จัดตั้งศูนย์อำนวยการควบคุมกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หรือ war room ณ กรมการข้าว เพื่ออำนวยการกำกับ เร่งรัด ติดตามประเมินผล เฝ้าระวังสถานการณ์ ชี้แจงตอบปัญหาแก่เกษตรกรผู้ประสบภัยและผู้เกี่ยวข้อง

(2) ประชุม ชี้แจงขั้นตอนการปฏิบัติงานแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งระดับส่วนกลางและระดับจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อเสนอแนะจังหวัดในการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และใช้งบประมาณตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ. 2549 และระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ จัดเตรียมสารเคมี วัสดุอุปกรณ์และงบประมาณดำเนินงาน ตลอดจนให้จังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อปฏิบัติการโดยเร่งด่วน

(3) สำรวจตรวจสอบ วิเคราะห์พื้นที่การระบาด อายุข้าว และวงจรชีวิตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยคณะนักวิชาการจากกรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินงานร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่ของจังหวัด ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะใช้เพื่อการกำหนดชนิดสารเคมีและอุปกรณ์ในการกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และขอความร่วมมือให้จังหวัดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และใช้งบประมาณระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ด้านภัยธรรมชาติเพื่อการจัดหาสารเคมีและอุปกรณ์ดังกล่าว

(4) กำหนดวัน ดี เดย์ D-Day Big Cleaning Lock and Seal Area เพื่อระดมฉีดพ่นสารเคมีพร้อมกันทุกจังหวัด โดยวางแผนกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติงานด้านวิธีการ การจัดการความเสี่ยง การนัดหมายเวลา สถานที่ เพื่อกำจัดเพลี้ยอย่างเด็ดขาดและมิให้เคลื่อนย้ายหนีไปยังแหล่งอื่น ทั้งนี้ การกำหนด ดีเดย์ จัดดำเนินการเป็น 2 ระยะ ตามช่วงเวลาอายุข้าวที่เหมาะสม คือระยะ 40 — 60 วัน และระยะหลัง 60 วันขึ้นไป และเลือกใช้สารเคมีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

(5) ติดตามประเมินผลและทบทวนแผนปฏิบัติการ โดยการจัดคณะนักวิชาการเข้าสำรวจตรวจสอบประเมินผลการฉีดพ่นสารเคมี ปริมาณการตายและการรอดตายของเพลี้ย การต้านทานสารเคมี พฤติกรรมการเคลื่อนย้ายหนีสารเคมี รวมทั้งประเมินการบริหารจัดการ และจัดให้มีการเฝ้าระวัง ติดตามการระบาด และการสอบสวนการระบาดทางระบาดวิทยาอย่างต่อเนื่อง

(6) เตรียมการฟื้นฟูช่วยเหลือ โดยการสำรวจความเสียหายทั้งก่อนและหลังการดำเนินงาน รวมทั้งการเตรียมการป้องกันการระบาดในรอบต่อไป ตลอดจนการประเมินความเสียหายเชิงเศรษฐกิจในภาพรวม โดยกรมการข้าวได้ปรับเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพื่อเปลี่ยนสายพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกรในฤดูกาลต่อไป รวมทั้งแนะนำเกษตรกรให้จัดระบบเกษตรกรรมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

4.2 มาตรการระยะยาว

(1) เร่งรัดงานวิจัย ด้านพันธุ์ข้าวต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ด้านการป้องกันกำจัด และการรักษาสมดุลตามธรรมชาติ เพื่อให้มีสายพันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานต่อโรคอย่างแมลงและโรคอย่างต่อเนื่อง

(2) เพิ่มปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้พอเพียงตามความต้องการของเกษตรกร โดยใช้กลไกศูนย์ข้าวชุมชนซึ่งผลิตโดยเกษตรกร

(3) จัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน โดยความร่วมมือของเกษตรกรและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังการระบาดและวางมาตรการป้องกันกำจัดศัตรูข้าวที่จะเกิดขึ้นในแต่ละชุมชนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน

เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี

โดยเหตุที่การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากอาจทำความสูญเสียให้กับผลผลิตข้าวประมาณ 1.1 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นมูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงขอความร่วมมือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตพื้นที่การระบาดเพื่อระดมสรรพกำลัง เจ้าหน้าที่จากกรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานอื่นๆ ในส่วนภูมิภาค ในการป้องกันกำจัดอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อสกัดกั้นมิให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทวีความรุนแรงทำลายผลผลิตข้าวของเกษตรกร

อนึ่ง สำหรับจังหวัดที่ได้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ได้จัดซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไปแล้ว แต่ยังคงมีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หากมีความจำเป็นขอให้จังหวัดดังกล่าวสามารถใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฯ ได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ