สรุปรายงานสภาวะสังคมไตรมาสสาม ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 16, 2009 14:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สรุปรายงานภาวะสังคมไตรมาสสาม ปี 2552 ดังนี้

1. ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2552

การจ้างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 1.4 จำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานลดลงเป็นลำดับจาก 250,557 คน ในไตรมาส 1/2552 เป็น 181, 266 คนในไตรมาส 2 และ149,108 คนในไตรมาสนี้และอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.2 ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนว่าคุณภาพชีวิตประชาชนมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ ได้แก่ (1) ผู้ประกอบอาชีพอิสระมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคการค้า และบริการ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ และรูปแบบการทำงานที่ต้องการความเป็นอิสระและยืดหยุ่น จึงควรมีการเตรียมมาตรการในเรื่องการคุ้มครองแรงงานและหลักประกันทางสังคมรวมทั้งแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระ และ (2) แรงงานโดยเฉลี่ยมีระดับการศึกษาดีขึ้น แต่การยกระดับคุณภาพและสมรรถนะในการประกอบอาชีพยังมีความจำเป็นเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหรือโครงสร้างการผลิต ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภาพแรงงานสูงขึ้น

ปัญหาสุขภาพจากโรคติดต่ออุบัติใหม่ยังเป็นประเด็นเฝ้าระวังที่สำคัญ โดยเฉพาะการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ทำให้มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่โดยรวมมากกว่า 4 หมื่นคนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 8.6 เท่า ซึ่งยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษอย่างใกล้ชิดในช่วงปลายปี รวมทั้งโรคไข้หวัดนกที่มักจะระบาดในช่วงฤดูหนาว และโรคปอดอักเสบ

การสูบบุหรี่และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีทิศทางลดลง เป็นผลจากการดำเนินมาตรการควบคุมและรณรงค์อย่างต่อเนื่อง และการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตในเดือนพฤษภาคม 2552 แต่พบว่าบุหรี่มวนเองและยาสูบไร้ควันที่ใช้จุกปากกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น จำเป็นต้องมีมาตรการการควบคุมการจำหน่ายและการบริโภคอย่างเร่งด่วน รวมทั้งพิจารณาปรับอัตราภาษีเพื่อปิดช่องโหว่

ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินยังเป็นปัญหาของสังคม คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสองร้อยละ 12.7 คดีชีวิต ร่างกาย และเพศ ที่เป็นคดีอุกฉกรรจ์มีจำนวนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ปัญหายาเสพติดยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมอื่น ทั้งในธุรกิจค้ายาและการก่ออาชญากรรมของผู้เสพ และพบเด็กและเยาวชนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีแนวโน้มแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กอายุน้อยลง

การคุ้มครองผู้บริโภคมีแนวโน้มดีขึ้นหลังกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ 2 ฉบับ มีผลบังคับใช้ในปี 2551 พ.ร.บ. ความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย ทำให้ผู้ประกอบการมีความระมัดระวังต่อการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น และ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคช่วยให้ผู้บริโภคฟ้องร้องได้รวดเร็วและสะดวกขึ้น และผลการดำเนินงานของสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมในปีนี้มีการร้องเรียนเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ค่อนข้างมาก มีการแจ้งให้ผู้ประกอบการแก้ไขและไกล่เกลี่ยได้ประมาณร้อยละ 41 ของเรื่องที่ร้องเรียน ผู้บริโภคจึงต้องมีความระมัดระวังในการเลือกใช้บริการและเข้าใจเรื่องสิทธิของตนเอง

หนี้สินภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีครัวเรือนร้อยละ 61.8 ที่มีหนี้สิน มูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่มีหนี้อยู่ที่ 215,684 บาท เพิ่มขึ้นอัตราเฉลี่ยร้อยละ 8.5 ต่อปี และประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังคือเรื่องหนี้นอกระบบ เพราะผู้กู้มีความเสี่ยงต่อภาระการจ่ายชำระหนี้ที่สูงและการเอาเปรียบจากเจ้าหนี้ โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่และภาวะการเงินตึงตัวมากขึ้น ทำให้ประชาชนบางกลุ่มต้องหันไปพึ่งพาเงินด่วนและแหล่งเงินนอกระบบเพิ่มขึ้น

เรื่องเด่นประจำฉบับ “เงินด่วน : ที่พึ่งหรือหลุมพรางของคนร้อนเงิน”

สินเชื่อเงินด่วนมีการให้บริการแพร่หลายและเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เงินด่วนในระบบประกอบด้วยการให้สินเชื่อในรูปบัตรเงินสด สินเชื่อเช่าซื้อหรือเงินผ่อน เงินด่วนนอกระบบมีรูปแบบหลากหลาย แบ่งเป็น เงินกู้นอกระบบทั่วไป และเงินกู้ที่อาศัยเครื่องมือทางเงินในระบบ เช่น การอาศัยบัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าและให้เงินสดผ่านการอนุมัติสินเชื่อเงินผ่อน เป็นต้น

จากการที่ สศช. ได้มีการสำรวจหนี้ผู้เป็นหนี้เงินด่วนจากผู้ประกอบการที่มิใช่ธนาคารและเงินด่วนนอกระบบ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีหนี้สินมีสัดส่วนร้อยละ 53.8 แบ่งเป็น หนี้เงินด่วนร้อยละ 33.5 หนี้อื่นๆ ร้อยละ 20.3 พ่อค้าแม่ค้ามีสัดส่วนเป็นหนี้เงินด่วนมากที่สุด ทั้งนี้ ร้อยละ 82.2 ของการใช้บริการเงินด่วนเป็นการกู้นอกระบบ โดยกลุ่มเกษตรกรมีสัดส่วนมากที่สุด และผู้มีรายได้น้อยมีสัดส่วนเป็นหนี้เงินด่วนนอกระบบสูงกว่าผู้มีรายได้สูง สาเหตุที่กู้เพราะได้เงินง่ายสะดวกรวดเร็ว ร้อยละ 67.4 เคยกู้เงินจากแหล่งอื่นส่วนใหญ่เป็นโรงรับจำนำ และร้อยละ 13.5 มีการขอกู้จากสถาบันการเงินก่อนกู้เงินด่วนแต่ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการอนุมัติ วัตถุประสงค์ของการกู้ได้แก่ เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อการศึกษา ลงทุน/เป็นทุนหมุนเวียนและชำระหนี้ ที่น่าเป็นห่วงคือการกู้เพื่อผ่อนค่างวด/ชำระหนี้ และกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่กู้เพื่อใช้หนี้พนันและเที่ยวกลางคืน ผู้กู้เงินด่วนมีหนี้เฉลี่ย 35,090 บาทต่อคน ส่วนใหญ่สามารถชำระได้ตามเงื่อนไข แต่มีถึงร้อยละ 25.8 ที่ใช้วิธีกู้จากแหล่งอื่นมาชำระซึ่งเป็นการหมุนหนี้ที่ก่อหนี้เป็นลูกโซ่ไม่สิ้นสุด

เงินด่วนสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงทีและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ แต่การกู้ยืมได้ง่ายสร้างแรงจูงใจให้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และมีผลกระทบด้านลบ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากภาระดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง ปัญหาจากการติดตามทวงหนี้ทั้งในด้านความเครียด และสวัสดิภาพในการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข ครอบครัวแตกแยก รวมทั้งการถูกโกงจากเจ้าหนี้ ผู้ที่แก้ไขปัญหาหนี้สินไม่ได้บางรายหาทางออกด้วยการก่ออาชญากรรมก่อให้เกิดปัญหาสังคม

มาตรการภาครัฐที่ผ่านมามีการดำเนินงานสำคัญ คือ ขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น สินเชื่อธนาคารประชาชน กองทุนหมู่บ้านฯลฯ ปรับโครงสร้างหนี้ภาคครัวเรือน จัดทำแผนแม่บทการเงินฐานรากเพื่อสนับสนุนองค์กรการเงินชุมชนให้เข้มแข็ง และให้คำปรึกษาและช่วยเหลือลูกหนี้ มาตรการที่จะเริ่มดำเนินการในระยะต่อไป คือ (1) เพิ่มเงินทุนหมุนเวียนให้กับกองทุนหมู่บ้านแห่งละ200,000 — 600,000 บาท และขยายเวลาการชำระหนี้จาก 1 ปีเป็น 2 ปี คาดว่าจะทำให้มีผู้เข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นประมาณ 9 แสนราย และ (2) ปรับโครงสร้างหนี้ โดยแปลงหนี้นอกระบบเป็นหนี้สถาบันการเงินของรัฐในวงเงินรายละไม่เกิน 200,000 บาท รวมทั้งมีแนวคิดจัดระเบียบธุรกิจเงินกู้นอกระบบ

แนวทางในการลดปัญหาหนี้เงินด่วน ผู้กู้เงินต้องสร้างค่านิยมของการไม่เป็นหนี้โดยกำหนดแผนใช้จ่ายอย่างรอบคอบ หารายได้เพิ่มและเพิ่มการออมเพื่อให้มีหลักประกันเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ภาครัฐควรสนับสนุนแหล่งเงินให้ประชาชนเข้าถึงอย่างทั่วถึง สนับสนุนองค์กรการเงินชุมชน และจัดระเบียบเงินกู้นอกระบบ รวมทั้งประชาสัมพันธ์หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือและให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและข้อกฎหมายเพื่อป้องกันการเอาเปรียบลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่มีความยั่งยืนนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นการสร้างฐานรายได้ที่มั่นคงของประชาชน การส่งเสริมการออม และการปลูกฝังการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีการใช้จ่ายอย่างพอประมาณตามความจำเป็นอย่างสมเหตุสมผล

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ