คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีวันหยุดเพิ่มในวันที่ 16 เมษายน 2553 และวันที่ 13 สิงหาคม 2553 ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ
สำหรับรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และภาคเอกชนให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงแรงงานรับไปพิจารณาตามความเหมาะสมให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายต่อไป
ในกรณีที่หน่วยงานใด เช่น โรงพยาบาล ศาล เป็นต้น มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือราชการสำคัญในวันดังกล่าว โดยกำหนดหรือนัดหมายไว้ก่อนแล้ว หากยกเลิกหรือเลื่อนไป จะเกิดความเสียหาย หรือกระทบต่อการให้บริการประชาชน ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร โดยมิให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการและประชาชน
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 โดยได้ตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับวันหยุดราชการประจำปี ตรวจสอบวันหยุดราชการประจำปีที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา จากปฏิทินตรวจสอบวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและวันพระปกติประจำปี 2553 ของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และได้ขอความอนุเคราะห์ข้อมูลจากสำนักพระราชวัง ในการกำหนดวันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (เนื่องจากวันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ สำนักพระราชวังจะกำหนดเป็นปี ๆ ไป) ในปี พ.ศ. 2553 ว่าตรงกับวันใด ซึ่งสำนักพระราชวังแจ้งว่า ได้พิจารณากำหนดฤกษ์แล้ว วันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี พ.ศ. 2553 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า
1. วันหยุดราชการประจำปี จำนวน 16 วัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวันสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นั้น จะตรงกับวันดังต่อไปนี้
1.1 วันขึ้นปีใหม่ (วันศุกร์ที่ 1 มกราคม 2553)
1.2 วันมาฆบูชา (วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553)
1.3 วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ (วันอังคารที่ 6 เมษายน 2553)
1.4 วันสงกรานต์ (วันอังคารที่ 13 — วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน 2553)
1.5 วันฉัตรมงคล (วันพุธที่ 5 พฤษภาคม 2553)
1.6 วันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม 2553)
1.7 วันวิสาขบูชา (วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2553)
1.8 วันอาสาฬหบูชา (วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 2553)
1.9 วันเข้าพรรษา (วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม 2553)
1.10 วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม 2553)
1.11 วันปิยมหาราช (วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม 2553)
1.12 วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม 2553)
1.13 วันรัฐธรรมนูญ (วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2553)
1.14 วันสิ้นปี (วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม 2553)
2. วันหยุดชดเชย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (1 พฤษภาคม 2544) กำหนดเป็นหลักการว่า กรณีวันหยุดราชการประจำปีวันใดตรงกับวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ให้เลื่อนวันหยุดราชการประจำปีวันนั้นไปหยุดในวันทำการถัดไป โดยให้หยุดชดเชยได้ไม่เกิน 1 วัน นั้น จะตรงกับวันดังต่อไปนี้
2.1 วันหยุดชดเชยวันมาฆบูชา (วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม 2553)
2.2 วันหยุดชดเชยวันปิยมหาราช (วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม 2553) และ
2.3 วันหยุดชดเชยวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม 2553)
3. สรุปวันหยุดราชการประจำปีและวันหยุดชดเชย ในปี พ.ศ. 2553
3.1 ในเดือนมกราคม พฤษภาคม กรกฎาคม และธันวาคม มีวันหยุดราชการประจำปีต่อเนื่องกับวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ จำนวน 5 ครั้ง
3.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ ตุลาคม และธันวาคม มีวันหยุดชดเชย จำนวน 3 ครั้ง
3.3 ในเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และพฤศจิกายน ไม่มีวันหยุดราชการประจำปี
3.4 ในเดือนเมษายน พฤษภาคม และสิงหาคม มีวันหยุดราชการประจำปีแต่ไม่ได้หยุดต่อเนื่องกับวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ จำนวน 5 ครั้ง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2552 --จบ--