ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 5/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 16, 2009 15:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออก รายงานผลการประชุมและมติคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 5/2552 สรุปได้ดังนี้

1. รายงานผลการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง

1.1 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้รายงานผลการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สรุปได้ดังนี้

(1) คุณภาพอากาศในบรรยากาศ ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ถึงเดือนตุลาคม 2552 พบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เฉลี่ยประมาณร้อยละ 10-20 ของค่ามาตรฐานที่กำหนด ทั้งก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ยกเว้นค่าฝุ่นละอองต่ำกว่า 10 ไมครอน (PM10) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ที่ระดับใกล้หรือสูงกว่าค่ามาตรฐาน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาวและมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน ทำให้เกิดการฟุ้งกระจายตัว

(2) คุณภาพอากาศจากปล่องโรงงาน ปัจจุบัน กนอ. มีการวางระบบตรวจวัด 34 โรงงาน (139 ปล่อง) โดยเชื่อมโยงข้อมูลการระบายคุณภาพอากาศจากปล่องโรงงานมายังศูนย์เฝ้าระวังฯ ของ กนอ. ซึ่งเมื่อโรงงานปล่อยค่าต่างๆ ใกล้หรือเกินมาตรฐานที่กำหนด จะมีระบบแจ้งเตือนมายัง กนอ. เพื่อประสานงานควบคุมการดำเนินงานของโรงงานได้ทันที โดยผลการตรวจวัดที่ผ่านมามีแนวโน้มของสัญญาณเตือนลดลง

(3) คุณภาพน้ำ บริเวณคลองชากหมากซึ่งไหลผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยเก็บตัวอย่างน้ำ 7 จุดบนบก และ 3 จุดในทะเล พบว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

1.2 กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศและคุณภาพน้ำ สรุปได้ดังนี้

1.2.1 คุณภาพอากาศ ผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศโดยทั่วไป และเก็บตัวอย่างสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในบรรยากาศในพื้นที่จังหวัดระยองอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

(1) สารมลพิษทางอากาศพื้นฐาน จากการติดตามคุณภาพอากาศในปี 2549-กันยายน 2552 พบว่าสารมลพิษทางอากาศพื้นฐาน เช่น ฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) มีค่าเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะปริมาณ SO2 และ NO2 ในภาพรวมมีปริมาณลดลงตั้งแต่ปี 2549 โดยลดลงร้อยละ 27 และ 18 ตามลำดับ

(2) สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในบรรยากาศ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน พบว่าในพื้นที่มาบตาพุดมี VOCs อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 6 ชนิด และเกินค่ามาตรฐานในบางสถานี 3 ชนิด ได้แก่ สารเบนซีน สาร 1,3 Butadiene และสาร 1,2 Dichloroethane อย่างไรก็ดี สาร VOCs ทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวในปี 2552 มีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 แต่เมื่อเทียบกับปี 2551 พบว่า สาร 1,3 Butadiene และสาร 1,2 Dichloroethane มีแนวโน้มลดลง แต่เบนซีนมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากอุตสาหกรรมแล้ว อาจมาจากแหล่งกำเนิดอื่น เช่น การจราจรหนาแน่นในช่วงเช้าและเย็น

1.2.2 คุณภาพน้ำ ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเล น้ำในคลองสาธารณะ และน้ำใต้ดิน ดังนี้

(1) คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง จากการตรวจวัดจำนวน 22 สถานี พบว่าคุณภาพน้ำทะเลในปี 2551 และ 2552 ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 โดยมีเพียงแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มและแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์มที่มีค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการปนเปื้อนของน้ำเสียชุมชนที่ระบายลงสู่ทะเล

(2) คุณภาพน้ำในคลองสาธารณะ จากการตรวจวัดในพื้นที่ตำบลมาบตาพุดจำนวน 9 สาย โดยมีสถานีตรวจวัดจำนวน 17 สถานี พบว่าคุณภาพน้ำในคลองทุกสายสามารถใช้ประโยชน์ในการอุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภคได้โดยผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติ อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวโน้มของการปนเปื้อนแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มเพิ่มขึ้น

(3) คุณภาพน้ำใต้ดิน จากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีจำนวนบ่อน้ำใต้ดินที่ศึกษาจำนวน 242 บ่อ เป็นบ่อน้ำตื้น 188 บ่อ และบ่อน้ำบาดาล 54 บ่อ พบการปนเปื้อนโลหะหนัก 5 ชนิด ได้แก่ สารหนู เหล็ก แมงกานีส สังกะสี และตะกั่ว เกินกว่ามาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน คิดเป็นร้อยละ 49.4 ของจำนวนบ่อที่ตรวจวัด ซึ่งการปนเปื้อนโลหะหนักดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากสินแร่ในดินและน้ำใต้ดินในพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่ายหลายชนิด เช่น 1, 2-Dichloroethane เบนซีน และไวนิลคลอไรด์ เกินกว่ามาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน คิดเป็นร้อยละ 17.7 ของจำนวนบ่อที่ตรวจวัด โดยพบในวงจำกัดในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

มติคณะกรรมการ กพอ. รับทราบและมีมติ ดังนี้

1) มอบหมายการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รายงานสถิติจำนวนครั้งการตรวจวัดค่าคุณภาพอากาศจากปล่องโรงงาน (CEMs) ที่เกินมาตรฐาน (Alert) ในแต่ละเดือนต่อคณะกรรมการ กพอ. และพิจารณาการจัดทำป้ายหน้าโรงงานเพื่อแสดงสถิติจำนวนครั้งที่คุณภาพอากาศเกินมาตรฐาน รวมทั้งควรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมและค่ามาตรฐานที่กำหนด

2) มอบหมายกรมควบคุมมลพิษ หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน จัดทำสรุปแผนงาน และมาตรการแก้ไขปัญหามลพิษเร่งด่วน 3 ประการ คือ (1) การปนเปื้อนของโลหะหนักและสารอินทรีย์ระเหยง่ายในดินและน้ำใต้ดิน (2) การแก้ไขปัญหาการสะสมตัวของตะกอนดินปากคลองชากหมาก (3) การจัดการ VOCs ในภาพรวมบริเวณมาบตาพุด และนำเสนอต่อคณะทำงานแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุดโดยด่วนต่อไป

2. แผนงานพัฒนาระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุด และบริเวณใกล้เคียง จังหวัดระยอง

สถานะปัจจุบันของระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันพื้นที่มาบตาพุดมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ดำเนินการแล้ว 14 แห่ง และจะติดตั้งเพิ่มเติมภายในปีงบประมาณ 2553 อีก 10 แห่ง รวมเป็น 24 แห่ง ซึ่งจะเพียงพอสำหรับดูแลคุณภาพอากาศในพื้นที่มาบตาพุด อย่างไรก็ตาม สถานีที่มีอยู่ไม่สามารถตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ได้สำหรับป้ายอัจฉริยะรายงานผลคุณภาพอากาศ ปัจจุบัน กนอ. ได้ติดตั้งแล้ว 2 ป้าย และบริษัท IRPC จะติดตั้งเพิ่มเติมภายในปี 2553 อีก 2 ป้าย ซึ่งชุมชนต้องการให้ติดตั้งเพิ่มเติม นอกจากนี้ ชุมชนยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบ internet จึงมีข้อเรียกร้องให้ภาครัฐจัดระบบรายงานผลคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เข้าถึงชุมชนบนพื้นฐานการรับฟังความเห็นและความต้องการของชุมชนในส่วนของการตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบอัตโนมัติ ปัจจุบันมีสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบอัตโนมัติ 1 แห่งบริเวณปากคลองตากวน ซึ่งไม่เพียงพอในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำและเตือนภัยการลักลอบระบายน้ำเสียของภาคอุตสาหกรรมได้ทันท่วงที

2.2 แผนงานพัฒนาระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระยะต่อไป

2.2.1 การพัฒนาระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย (1) การติดตั้งป้ายอัจฉริยะแสดงผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Display Board) (2) การติดตั้งชุดตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) (3) การจัดตั้งศูนย์รับข้อมูลและจอแสดงผลในพื้นที่ชุมชน/อปท. และ (4) การดำเนินงาน บำรุงรักษา และ Audit ระบบ

2.2.2 การพัฒนาและติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบอัตโนมัติ เทศบาลเมืองมาบตาพุดได้เสนอโครงการติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบอัตโนมัติ จำนวน 14 สถานี วงเงินรวม 55.4 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

2.2.3 การประชาสัมพันธ์ข้อมูลการตรวจวัดให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะเร่งด่วน กนอ. ดำเนินการประมวลผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ในพื้นที่มาบตาพุด และประสานขอความร่วมมือเทศบาลเมืองมาบตาพุดในการประชาสัมพันธ์ผ่านระบบเสียงตามสาย โดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ระยะยาว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมวลผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งรัดการติดตั้ง Display Board ให้แล้วเสร็จตามกำหนด

มติคณะกรรมการ กพอ. มอบหมายให้คณะทำงานแก้ปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุด รับไปพิจารณารายละเอียดของแผนงานพัฒนาระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม (การติดตั้งป้ายแสดงคุณภาพสิ่งแวดล้อม ชุดตรวจวัด VOCs ศูนย์รับข้อมูลและแสดงผลใน อปท. ระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติ และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม) โดยจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว แล้วนำเสนอคณะกรรมการ กพอ. และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ