คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแนวทางการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนตามมติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ครั้งที่ 8/2552 และครั้งที่ 9/2552 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ สำหรับการจัดซื้อด้วยวิธีการพิเศษให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังไปพิจารณา
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) รายงานว่า
1. ปีงบประมาณ 2553 คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงการบริหารจัดการน้ำนมดิบ หรือ MOU ใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2553 จากปริมาณน้ำนมดิบรวมทั้งสิ้น 2,559.37 ตัน/วัน มีผู้ประกอบการตกลงทำ MOU นมพาณิชย์ จำนวน 1,353.82 ตัน/วัน และนมโรงเรียน จำนวน 1,088.25 ตัน/วัน แต่ไม่สามารถหาผู้ซื้อ หรือจัดทำ MOU ได้ จำนวน 117.30 ตัน/วัน ซึ่งหากพิจารณางบประมาณนมโรงเรียนปี 2553 ที่เพิ่มขึ้นกว่า 14,000 ล้านบาท โดยการขยายการดื่มนมถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 และโรงเรียนเอกชนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับงบประมาณด้วย จะมีกลุ่มเป้าหมายนักเรียนรวมประมาณ 8.4 ล้านคน โดยสามารถรองรับน้ำนมดิบได้ประมาณ 1,200 ตัน/วัน ซึ่งน่าจะรองรับน้ำนมดิบที่ไม่มีผู้ซื้อ จำนวน 117.30 ตัน/วันได้ แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ประกอบการขอจัดทำ MOU เพิ่ม เนื่องจากการบริหารจัดการนมโรงเรียนในปัจจุบันเป็นการแข่งขันโดยเสรีไม่มีการกำหนดเขตพื้นที่จำหน่ายหรือโซนนิ่งตามมติคณะรัฐมนตรี (10 มีนาคม 2552) และไม่มีระบบการรับรองสิทธิตามปริมาณน้ำนมดิบที่รับซื้อ ทำให้ผู้ประกอบการเกรงว่าหากจัดทำ MOU ได้แล้วไม่สามารถจำหน่ายได้จะต้องรับผิดชอบน้ำนมดิบที่ตกลงไว้แล้ว
2. การที่องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ต้องรับภาระนมส่วนเกิน MOU ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 ต่อเนื่องมาตลอดจวบจนถึงปัจจุบัน หลังจากวันที่ 30 กันยายน 2552 ยังมีสต็อกนมโรงเรียนคงเหลือ 60 ล้านกล่อง ซึ่ง อ.ส.ค.ไม่ได้รับสิทธิพิเศษในการจำหน่ายนมโรงเรียนแล้ว (มติคณะรัฐมนตรี 13 พฤษภาคม 2552) กำหนดให้ อ.ส.ค. ได้รับสิทธิพิเศษถึงสิ้นเดือนกันยายน 2552) ทำให้ อ.ส.ค.ยังประสบปัญหานม ยู.เอช.ที. ล้นคลังสินค้า อ.ส.ค.จึงจำเป็นต้องปฏิเสธการจัดทำ MOU ส่วนเกินสำหรับ MOU ใหม่ จำนวนประมาณ 80 ตัน/วัน (เป็นปริมาณที่อยู่ใน MOU ไม่มีผู้ซื้อ จำนวน 117.30 ตัน/วัน) ส่งผลให้เกษตรกรในชุมนุมสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์กเดือดร้อนและร้องขอความช่วยเหลือจาก กษ.
3. เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ในคราวการประชุมครั้งที่ 8/2552 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2552 จึงมีมติเห็นชอบในหลักการให้ทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน โดยให้ อ.ส.ค.เป็นองค์กร กลางในการบริหารจัดการนมโรงเรียน และให้ อ.ส.ค.ช่วยรับซื้อน้ำนมดิบส่วนเกิน MOU ต่อไปก่อน โดยให้จัดสรรสิทธิการ จำหน่ายหรือหาผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิมาช่วยจำหน่ายนมส่วนนี้ให้กับ อ.ส.ค.ในโอกาสแรกที่จะดำเนินการต่อไป และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนโดยมีหน้าที่พิจารณารายละเอียดการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน โดยให้ อ.ส.ค.เป็นองค์กรกลางบริหารจัดการนมโรงเรียน เพื่อรองรับน้ำนมดิบที่นำมาแปรรูปเข้าสู่ตลาดนมโรงเรียนได้ทั้งหมด และพิจารณาในรายละเอียดด้านการบริหารจัดการ โดย อ.ส.ค.จัดระบบบัญชีและการบริหารโครงการฯ แยกออกจากงานปกติเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและโปร่งใส เกษตรกรจำหน่ายน้ำนมดิบได้หมด ได้รับเงินค่านมตรงเวลาและเด็กนักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ ซึ่งคณะทำงานฯ ได้จัดทำกรอบการปรับโครงสร้างระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนเสนอคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมเพื่อพิจารณา สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
3.1 การบริหารจัดการโครงสร้างระบบนมโรงเรียน
1) ให้มีองค์กรกลางซึ่งเป็นคณะกรรมการกลาง 4 ฝ่าย ได้แก่ ภาคราชการ ฝ่ายเกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูปและผู้แทนฝ่ายจัดซื้อ รวม 19 คน เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการระบบนมโรงเรียน โดยมอบหมายให้ อ.ส.ค.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐให้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการขององค์กรกลาง เป็นผู้แทนในการบริหารจัดการ
2) อ.ส.ค.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานตัวแทนของรัฐจะทำหน้าที่แทนองค์กรกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยแยกระบบการบริหารเงินและการดำเนินงานออกจากภารกิจที่ดำเนินการตามปกติของ อ.ส.ค.และให้ดำเนินการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้และพัฒนาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3) ให้งบประมาณยังคงใช้งบประมาณกระจายสู่ท้องถิ่นหรือหน่วยจัดซื้อเช่นเดิม เพื่อไม่ให้ขัดกับกฎหมายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และพระราชบัญญัติงบประมาณ
4) ให้ทุกหน่วยงานที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อจัดซื้ออาหารเสริมนมโรงเรียน จัดซื้อจาก อ.ส.ค.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐโดยวิธีกรณีพิเศษ
5) อ.ส.ค.จะเป็นคู่สัญญาซื้อขายกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวทุกราย เพื่อจำหน่ายนมโรงเรียนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยจัดซื้อเพื่อกำกับดูแลและรับรองคุณภาพน้ำนมดิบและนมที่ให้นักเรียน โดย อ.ส.ค.สามารถมอบอำนาจให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ส่งมอบสินค้าและรับชำระเงินตลอดจนรับผิดชอบความเสียหายตามสัญญาที่ อ.ส.ค.ทำกับหน่วยจัดซื้อทั่วประเทศ และให้หน่วยจัดซื้อเปลี่ยนระบบการชำระเงินจากเดิมที่ชำระเป็นรายภาคเรียนให้ชำระเป็นรายเดือน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและคล่องตัวในการบริหารเงินทุนหมุนเวียน
3.2 การจัดการนมโรงเรียนปริมาณ 1,200 ตันต่อวัน
1) ให้คณะกรรมการกลางทำหน้าที่จัดสรรปริมาณน้ำนมดิบ ปริมาณการจำหน่าย และพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียนให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยยึดปริมาณน้ำนมดิบที่ทำ MOU กับกรมส่งเสริม สหกรณ์ ศักยภาพการผลิต การจัดการระบบโลจิสติกส์ การขนส่งผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณภาพมาตรฐาน ประวัติการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นผู้ทำการผลิตเองไม่จ้างผู้อื่นผลิต และโรงงานจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ในรายละเอียดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
2) เกษตรกรผู้มีสิทธิ์จำหน่ายน้ำนมดิบต้องจดทะเบียน เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกับกรมปศุสัตว์และมีคุณภาพน้ำนมดิบตามมาตรฐานที่กำหนด
3) นมที่จัดส่งให้โรงเรียนต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและให้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ รวมทั้งให้มีการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนเพื่อทำให้เด็กชอบดื่มนม
4) ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะมีบทลงโทษโดยไม่ได้รับสิทธิการจำหน่ายนมในโครงการนมโรงเรียน
4. คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมในการประชุมครั้งที่ 9/2552 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 ได้พิจารณากรอบการปรับโครงสร้าง ระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนตามที่คณะทำงานฯ เสนอแล้วมีมติเห็นชอบแนวทางการปรับโครงสร้างระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนตามที่คณะทำงานฯเสนอ และมีประเด็นเพิ่มเติม ดังนี้
4.1 การแต่งตั้งคณะกรรมการกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนตามที่คณะทำงานฯ เสนอนั้น หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบแล้วให้คณะกรรมการกลางฯ ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการในกำกับดูแลของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม
4.2 เหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนในปัจจุบัน เนื่องจากงบประมาณโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนเป็นของรัฐบาล มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นก่อนวัยเรียนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ ผลิตจากน้ำนมโคสดภายในประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้จำหน่ายน้ำนมดิบได้ทั้งหมดไม่เกิดปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด การให้ อ.ส.ค.เป็นองค์กรกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยให้หน่วยจัดซื้อทั่วประเทศจัดซื้อและเป็นคู่สัญญาซื้อขายกับ อ.ส.ค.เนื่องจาก อ.ส.ค.เป็นองค์กรของรัฐสามารถมีบทบาทและหน้าที่ตามภารกิจที่รัฐบาลมอบหมายเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของรัฐ
4.3 ประโยชน์ที่รัฐบาลจะได้รับจากการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนในครั้งนี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตและจำหน่ายนมโรงเรียนของผู้ประกอบการลดลงจากการลดภาระดอกเบี้ย เนื่องจากระบบการชำระเงินที่รวดเร็วขึ้น และจากการลดต้นทุนค่าขนส่งเนื่องจากการจัดการระบบโลจิสติกส์ โดยคณะกรรมการกลางฯ ที่จะจัดตั้งขึ้นจะพิจารณาต้นทุนที่ลดลงเพื่อนำเสนอปรับลดราคากลางการจำหน่ายนมโรงเรียน เพื่อนำงบประมาณส่วนที่ลดลงนี้นำไปใช้ในภารกิจที่จำเป็นอื่น ๆ ของรัฐบาลต่อไป
4.4 ให้ระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนตามแนวทางใหม่มีผลทันทีตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบ โดยกรณีที่หน่วยจัดซื้อได้ดำเนินการจัดซื้อนมโรงเรียนตามแนวทางเดิมไปแล้ว ให้คณะกรรมการกลางฯ เป็นผู้พิจารณาการทบทวนคู่สัญญาซื้อขายและเงื่อนไขตามสัญญาซื้อขายตามที่เห็นว่าเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 ธันวาคม 2552 --จบ--