ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 23, 2009 13:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงยุติธรรม สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานศาลยุติธรรม ไปประกอบการพิจารณา แล้วส่งให้ คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. และสำนักงบประมาณ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดคำนิยามคำว่า “วิชาชีพสังคมสงเคราะห์” “ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์” “ใบอนุญาต” “ข้อบังคับ” “สมาชิก” “กรรมการ” “คณะกรรมการ” “เลขาธิการ” และ “รัฐมนตรี” (ร่างมาตรา 3)

2. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 4)

3. กำหนดให้มีสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 5)

4. กำหนดวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่และรายได้ของสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ (ร่างมาตรา 7 - ร่างมาตรา 9)

5. กำหนดให้มีสมาชิกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ 4 ประเภท คือ สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ (ร่างมาตรา 10)

6. กำหนดคุณสมบัติ สิทธิและหน้าที่ การสิ้นสุดของสมาชิกภาพสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ (ร่างมาตรา 11-ร่างมาตรา 15)

7. กำหนดองค์ประกอบคณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ประกอบด้วย ผู้แทนของหน่วยงานของรัฐและองค์กรสาธารณประโยชน์ คุณสมบัติของคณะกรรมการและวาระการดำรงตำแหน่ง (ร่างมาตรา 16 ร่างมาตรา 20 และร่างมาตรา 21)

8. กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ในการบริหารและดำเนินกิจการสภาวิชาชีพฯ แต่งตั้งอนุกรรมการ กำหนดแผนการดำเนินงาน รวมทั้งออกข้อบังคับสภาวิชาชีพ (ร่างมาตรา 24)

9. กำหนดองค์ประชุม และการมีมติของที่ประชุมคณะกรรมการฯ (ร่างมาตรา 26 — ร่างมาตรา 28)

10. กำหนดลักษณะงานสังคมสงเคราะห์ที่ต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ซึ่งต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในการปฏิบัติงาน และกำหนดลักษณะงานที่ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการฯ (ร่างมาตรา 29 — ร่างมาตรา 30)

11. กำหนดให้มีการควบคุมไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ใช้หรือแสดงข้อความให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ (ร่างมาตรา 31)

12. กำหนดการขึ้นทะเบียน การรับใบอนุญาต ของสมาชิกสามัญแห่งสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ (ร่างมาตรา 33)

13. กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ เพื่อควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งกำหนดโทษการประพฤติผิดจรรยาบรรณ (ร่างมาตรา 34 — ร่างมาตรา 37)

14. กำหนดให้มีคณะกรรมการจรรยาบรรณ กำหนดองค์ประกอบ คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่ง (ร่างมาตรา 38 — ร่างมาตรา 40)

15. บทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนการประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ (ร่างมาตรา 47 — ร่างมาตรา 48)

16. กำหนดบทเฉพาะกาล ให้มีคณะกรรมการชั่วคราวในวาระเริ่มแรกที่ยังมิได้เลือกตั้งสมาชิกสามัญของสภาวิชาชีพฯ และให้แต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทำหน้าที่เลขาธิการรองเลขาธิการ และเหรัญญิก จนกว่าจะมีผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว และในระหว่างยังมิได้จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทำหน้าที่ธุรการและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการสภาวิชาชีพฯ (ร่างมาตรา 49 — ร่างมาตรา 50)

17. กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์ในหน่วยงานของรัฐและเอกชนก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์กำหนด (ร่างมาตรา 51)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ