คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ข้อเท็จจริง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอตามรายงานของกรมชลประทานว่า พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเพื่อดำเนินการตามแผนพัฒนากฎหมายประจำปี 2552 สมควรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันในเรื่องเกี่ยวกับการเกณฑ์แรงงานเพื่อรองรับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและเพิ่มเติมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวนโยบายของรัฐ และได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ของกรมชลประทาน และจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. บททั่วไป
กำหนดบทนิยาม “การชลประทาน” “ทางน้ำชลประทาน” “เขตชลประทาน” “เขตงาน” “คันคลอง” “ชานคลอง” “เจ้าพนักงาน” “นายช่างชลประทาน” “อธิบดี” “กองทุน” และ “รัฐมนตรี” (ร่างมาตรา 5)
2. หมวด 1 การชลประทาน
กำหนดให้กรมชลประทานจัดทำแผนการชลประทานเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐอื่นและประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลและเสนอความเห็นในการจัดทำระบบชลประทาน และแนวทางในการจัดหา การพัฒนา และการอนุรักษ์แหล่งน้ำให้มีน้ำใช้อย่างพอเพียงและทั่วถึง รวมทั้งแผนการดำเนินการเพื่อกำหนดให้ทางน้ำใดเป็นทางน้ำชลประทาน เพื่อให้มีการบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกัน ซึ่งเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบจะมีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้ สอดคล้องกับแผนการชลประทาน ในกรณีที่มีปัญหาไม่อาจปฏิบัติการให้เป็นไปตามแผนการชลประทานได้ ให้กรมชลประทานเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อวินิจฉัยให้ได้ข้อยุติ เพื่อให้การจัดทำการชลประทานซึ่งเป็นกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ (ร่างมาตรา 7 - มาตรา 17)
3. หมวด 2 การบริหารจัดการเขตชลประทาน
3.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการเขตชลประทาน เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกรมชลประทาน ยกเว้นทางน้ำชลประทานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ร่างมาตรา 18)
3.2 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจเรียกเก็บค่าชลประทานในทางน้ำชลประทานที่ เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารจัดการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง และในกรณีที่ยังไม่มีกฎกระทรวงได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อเรียกเก็บค่าชลประทานจนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวง โดยค่าชลประทานที่เรียกเก็บได้นำส่งเข้ากองทุนตามอัตราที่รัฐมนตรีกำหนด ส่วนที่เหลือให้ตกเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการชลประทาน (ร่างมาตรา 21)
3.3 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับโอนอำนาจหน้าที่จากกรมชลประทานในการบริหารจัดการทางน้ำชลประทานมีหน้าที่ดูแลการบริหารจัดการขององค์กรผู้ใช้น้ำในเขตชลประทาน และเมื่อมีการจดทะเบียน องค์กรผู้ใช้น้ำ ให้กรมชลประทานแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อทราบ ให้องค์กรผู้ใช้น้ำมีอำนาจบริหารจัดการทางน้ำแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าองค์กรผู้ใช้น้ำบริหารจัดการทางน้ำเกิดความเสียหายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งต่อนายช่างชลประทานเพื่อเสนออธิบดีให้เพิกถอนการบริหารจัดการน้ำและการจดทะเบียนขององค์กรผู้ใช้น้ำได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบการจดทะเบียนและการเพิกถอนการจดทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำมีมาตรฐานเดียวกัน (ร่างมาตรา 28)
4. หมวด 3 กองทุนเพื่อการชลประทาน
กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการชลประทานขึ้น โดยโอนทรัพย์สิน สิทธิและหนี้สินของทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 มาเป็นของกองทุนเพื่อการชลประทานตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและกำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายเงินของกองทุนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา 30 - ร่างมาตรา 33)
5. หมวด 4 การจัดการน้ำ
5.1 กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจในการออกประกาศเพื่อการบริหารจัดการน้ำ (ร่างมาตรา 34)
5.2 กำหนดให้เจ้าพนักงานมีอำนาจส่งน้ำ ระบายน้ำ หรือสูบน้ำเข้าในที่ดินแห่งใดเพื่อประโยชน์ในการชลประทาน และกำหนดให้นายช่างชลประทานมีอำนาจในการสั่งให้ผู้ที่ปิดกั้นน้ำเปิดสิ่งปิดกั้นน้ำแทนเจ้าพนักงาน เนื่องจากนายช่างชลประทานมีอำนาจในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ดังกล่าว (ร่างมาตรา 35)
6. หมวด 5 คุ้มครองการชลประทาน
กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตชลประทานหลวงที่อาจส่งผลกระทบกับทางน้ำชลประทานในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เพื่อมิให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายหรือเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ (ร่างมาตรา 41 - ร่างมาตรา 55)
7. หมวด 6 ผู้ปฏิบัติงานในเขตชลประทาน
กำหนดให้นายช่างชลประทานมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการดำเนินการเกี่ยวกับการชลประทานในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการชลประทาน การอนุญาต การออกคำสั่ง และการบังคับการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งการกำกับการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ส่วนเจ้าพนักงานที่ได้รับแต่งตั้งให้รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องใดจะมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติในขอบเขตเพียงใดให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมชลประทานกำหนด (ร่างมาตรา 56 - ร่างมาตรา 60)
8. บทกำหนดโทษ
กำหนดหลักเกณฑ์ในการชำระค่าเสียหายในทางแพ่งสำหรับการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางน้ำชลประทานหรือสิ่งก่อสร้างหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการชลประทาน โดยให้อธิบดีกรมชลประทานมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดค่าเสียหายขึ้นและหากผู้กระทำความผิดชำระค่าเสียหายตามที่คณะกรรมการกำหนดก็ให้ถือว่าคดีอาญาเลิกกัน แต่ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่ยอมชำระค่าเสียหายก็ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป โดยให้ดำเนินคดีอาญาและเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นควบคู่กัน (ร่างมาตรา 61 และร่างมาตรา 67)
9. กำหนดบทเฉพาะกาล
9.1 กำหนดให้มีการโอนทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานตามพระราชบัญญัติการชลประทาน พุทธศักราช 2485 มาเป็นของกองทุนเพื่อการชลประทานตามร่างพระราชบัญญัตินี้
9.2 กำหนดให้ทางน้ำชลประทานที่ประกาศกำหนดอยู่ก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นทางน้ำชลประทานตามร่างพระราชบัญญัตินี้
9.3 กำหนดรองรับทางน้ำชลประทานที่มีการเรียกเก็บค่าชลประทานให้ยังคงมีการเรียกเก็บค่าชลประทานตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ตามอัตราเดิมจนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าชลประทานตามร่างพระราชบัญญัตินี้
9.4 กำหนดให้นายช่างชลประทาน เจ้าพนักงาน หรือเจ้าพนักงานผู้ซึ่งอธิบดีแต่งตั้งตามร่างพระราชบัญญัติเดิมให้เป็นนายช่างชลประทาน เจ้าพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ชลประทานตามร่างพระราชบัญญัตินี้
9.5 กำหนดรองรับบรรดากฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ฯลฯ ที่ออกตามพระราชบัญญัติเดิม ให้มีผลต่อได้จนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ฯลฯ ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 68 - ร่างมาตรา 74)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2552 --จบ--