การขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 23, 2009 13:50 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร

คณะรัฐมนตรี

1. อนุมัติหลักการ

1.1 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

1.2 ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

2. เห็นชอบในหลักการ

2.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (ฉบับที่ ..)

ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมเป็นพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (ฉบับที่ ..)

ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมเป็นพิเศษ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร (ฉบับที่ ..)

รวม 5 ฉบับ (การขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรโดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดใน วันที่ 31 ธันวาคม 2552 นั้น

กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อช่วยสนับสนุนการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องภายใต้สภาวการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน จึงเห็นควรขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และปรับปรุงโครงสร้างองค์กรตามหลักการเดิม โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. สิทธิประโยชน์ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

1.1 หลักการ

ให้สิทธิประโยชน์ภาษีอากรและค่าธรรมเนียมในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้

1.1.1 ด้านภาษีอากร

(1) ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน

(2) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินและสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการ และสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

(3) ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้อื่น

(4) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นและเจ้าหนี้อื่น สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการ และสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

(5) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินนำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินและสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โดยลูกหนี้ของสถาบันการเงินต้องนำเงินได้นั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน

1.1.2 ด้านค่าธรรมเนียมการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์

ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนอสังหาริมทรัพย์และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ร้อยละ 0.01 ในส่วนที่เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) กรณีลูกหนี้ของสถาบันการเงินโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงิน หรือลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่น

(2) กรณีสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้อื่นโอนอสังหาริมทรัพย์ที่รับโอนมาตาม (1) ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น

(3) กรณีการจำนองอสังหาริมทรัพย์ระหว่างลูกหนี้ของสถาบันการเงินกับเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน หรือระหว่างลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นกับเจ้าหนี้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นหลักประกันอยู่เดิมหรืออสังหาริมทรัพย์ซึ่งนำมาเป็นหลักประกันใหม่

(4) กรณีลูกหนี้ของสถาบันการเงินโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินนำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินที่ได้จากการโอนอสังหาริมทรัพย์นั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 0.01 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ตาม (4) สำหรับเงินที่นำไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน และให้เรียกเก็บตามอัตราปกติสำหรับราคาประเมินทุนทรัพย์ส่วนที่เกินจำนวนเงินที่นำไปชำระหนี้ดังกล่าว

1.1.3 ขอบเขตของหนี้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์

หนี้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ฯ ข้างต้นต้องเป็นหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และให้รวมถึงหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญที่กันสำรองครบร้อยละ 100 และตัดออกจากบัญชีแล้ว แต่ยังไม่ได้บันทึกกลับเข้ามาในบัญชี และได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามแนวนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ทั้งนี้ ไม่ว่าบัญชีลูกหนี้จะได้รับการจัดชั้นดังกล่าวก่อนปี พ.ศ. 2553 หรือภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

2. สิทธิประโยชน์ในการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร

2.1 หลักการ

ให้สิทธิประโยชน์ภาษีและค่าธรรมเนียมในการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ดังนี้

2.1.1 ด้านภาษีอากร

ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัดที่มีความสัมพันธ์กัน สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันบางกรณี

2.1.2 ด้านค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์

ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนอสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ร้อยละ 0.01 สำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร เฉพาะผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัดที่ได้โอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีตามข้อ 2.1.1

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ