ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 18/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 23, 2009 13:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 18/2552

2. มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) ประสานกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้ดำเนินการปรับปรุงร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง “กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ” ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2552 โดยแยกเรื่องการจัดตั้งองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ ออกจากการจัดทำร่างประกาศดังกล่าวก่อน สำหรับการจัดตั้งองค์การอิสระดังกล่าวนั้น ควรพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม และเมื่อได้ข้อยุติแล้วให้เร่งจัดทำกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์การอิสระดังกล่าวต่อไป

3. มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำข้อมูลสถานะโครงการของภาคเอกชน ข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการลงทุน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และแนวทางการดำเนินการ โดยให้แล้วเสร็จภายในวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2552 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันอังคารที่ 22 ธันวาคม ต่อไป

4. มอบหมายกระทรวงพลังงาน จัดทำข้อมูลสถานะโครงการของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการลงทุน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และแนวทางการดำเนินการโดยให้แล้วเสร็จภายในวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2552 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2552 ต่อไป

5. รับทราบการดำเนินการให้เอกชนเข้าดำเนินโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ (Thailand Privilege Card) ของกระทรวงการคลัง และให้ดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

6. เห็นชอบให้มีการแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการหรือหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504 ตามความเห็นของคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ โดยให้ปรับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ซึ่งปัจจุบันคือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ออกจากองค์ประกอบของคณะกรรมการตามระเบียบดังกล่าว และให้เพิ่มผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับแก้ไขระเบียบดังกล่าว และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการ รศก. ประกอบด้วย สาระสำคัญ และมติคณะกรรมการ รศก. ดังนี้

1. การแก้ไขมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 17/2552 ในระเบียบวาระที่ 4.1 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระหว่างภาคเอกชน กับ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท. โทรคมนาคม

1.1 สาระสำคัญ

1.1.1 สศช. ได้เสนอผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 17/2552 ให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมและเห็นชอบมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 17/2552

1.1.2 ปลัดกระทรวงการคลังได้ขอแก้ไขมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 17/2552 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระหว่างภาคเอกชน กับ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท. โทรคมนาคม ข้อ 3.3.1 ในหน้า 11 จากเดิม “มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทาน ของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ตามแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยไว้แล้วอย่างเคร่งครัด โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอผลการดำเนินงานดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 90 วัน ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาดำเนินงานตามความเหมาะสมต่อไป” แก้ไขเป็น “มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทาน ของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ตามแนวทางปฏิบัติที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยแนวทางดำเนินการของแต่ละสัญญาไว้แล้ว โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอผลการดำเนินงานดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 90 วัน ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาดำเนินงานตามความเหมาะสมต่อไป”

1.2 มติคณะกรรมการ รศก.

รับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 17/2552 ในวันพุธที่ 16 ธันวาคม 2552 โดยให้ฝ่ายเลขานุการ ปรับแก้มติที่ประชุม เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระหว่างภาคเอกชน กับ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท. โทรคมนาคมตามความเห็นของปลัดกระทรวงการคลัง และรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบการแก้ไขมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจต่อไป

2. ความคืบหน้าการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67 สศช. ได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการฯ พิจารณา โดยสรุปได้ดังนี้

2.1 สาระสำคัญ

2.2.1 การแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบคำสั่งศาลปกครองสูงสุด กระทรวงอุตสาหกรรม โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เชิญผู้ประกอบการทั้ง 65 ราย ที่ถูกระงับการดำเนินการ ร่วมประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 เพื่อแจ้งคำสั่งศาลปกครองสูงสุดและสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่ง และได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2552

2.2.2 การจัดทำข้อมูลสถานะโครงการ ข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการลงทุนและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำแบบสอบถามเพื่อรวบรวมข้อมูลสถานะโครงการในเบื้องต้น โดยเป็นโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จำนวน 53 โครงการ และอยู่ในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จำนวน 12 โครงการ โดยมีผลการสำรวจ ดังนี้

                       ลำดับที่    ประเภท                                  จำนวนโครงการ
                       1        ประกอบกิจการแล้ว                               10
                       2        อยู่ระหว่างการก่อสร้าง                            29
                       3        ยื่นคำขอฯ แล้ว (อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาต)         19
                       4        ยังไม่ยื่นคำขอฯ / ไม่ทราบสถานะ                     7
                                รวม                                          65

2.2.3 ผลกระทบของโครงการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงาน

1) โครงการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงาน จำนวน 32 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการที่ต้องอนุมัติ/อนุญาตโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงาน จำนวน 7 โครงการ โดยโครงการที่ได้รับยกเว้นการคุ้มครองชั่วคราว 3 โครงการ และโครงการที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง 4 โครงการ และ(2) โครงการของกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีโครงการที่เกี่ยวข้อง 25 โครงการ ซึ่งจากคำสั่งศาลจะได้รับยกเว้นการคุ้มครองชั่วคราว จำนวน 7 โครงการ และมีโครงการที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 จำนวน 18 โครงการ

2) ผลกระทบจากการระงับโครงการ มีดังนี้

  • การขาดแคลนก๊าซ LPG ในประเทศ เนื่องจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 กำลังการผลิตมากกว่า 1,000,000 ล้านตัน/ปี ถูกสั่งระงับซึ่งอาจจะทำให้เกิดการขาดแคลนก๊าซ LPG ในปี 2553 โดยกระทรวงพลังงาน คาดว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซ LPG ประมาณ 100,000 ตัน/เดือน ขณะที่คลังก๊าซ LPG ที่เขาบ่อยา จังหวัดชลบุรี มีขีดความสามารถในการรองรับการนำเข้าก๊าซ LPG ได้เพียง 88,000ตัน/เดือน นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องรับภาระชดเชยการนำเข้าก๊าซ LPG สูงถึง 16,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในที่สุด นอกจากนี้ หากไม่สามารถดำเนินการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ได้ จะส่งผลให้ไม่สามารถรับก๊าซธรรมชาติซึ่งจะกระทบต่อค่า take or pay ประมาณ 5,900 ล้านบาทในปี 2553
  • เกิดการว่างงานทางตรง ประมาณ 12,000 คน และทางอ้อมประมาณ 36,000 คน
  • ผลกระทบของข้อตกลงระหว่างประเทศในเรื่องสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีปลายน้ำขาดวัตถุดิบในการผลิตและบางรายต้องนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตอุตสาหกรรม ต่อเนื่อง รวมทั้งไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญามูลค่าความสูญเสียกว่า 260,000 ล้านบาท ซึ่งภาครัฐจะต้องพิจารณามาตรการสนับสนุน เช่น การอำนวยความสะดวกการจัดหาวัตถุดิบ และการเจรจาผ่อนปรนแหล่งเงินกู้ เป็นต้น

3) แนวทางการแก้ไขบรรเทาปัญหา

  • การแก้ไขการขาดแคลนก๊าซ LPG ในประเทศ โดย (1) พิจารณาสนับสนุนการนำเข้าก๊าซ LPG ให้ได้ 100,000 ตัน/เดือน โดยจัดทำคลังลอยน้ำในทะเล (2) ขอให้ ปตท. พิจารณาโอกาสการเลื่อนการปิดซ่อมบำรุงประจำปีโรงแยกก๊าซธรรมชาติบางแห่งออกไป (3) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาชดเชยการใช้ LPG โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (4) การบริหารจัดการการใช้ก๊าซ LPG ในประเทศ โดยสร้างแรงจูงใจให้รถแท็กซี่เปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV)
  • เร่งให้โครงการที่ถูกระงับดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 เมื่อการกำหนดกระบวนการและระยะเวลาการดำเนินการตามมาตรา 67 มีความชัดเจนแล้ว กระทรวงพลังงานร่วมกับภาคเอกชนจะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนยื่นคำขอต่อศาลปกครองกลางให้มีคำสั่งแก้ไขหรือยกเลิกวิธีการชั่วคราวในแต่ละราย

4) การประสานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ เพื่อเร่งพิจารณาความเหมาะสมของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ได้พิจารณาความเหมาะสมของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ ใกล้แล้วเสร็จ คงเหลือเพียงภาคผนวก ข. แนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) เท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2552 ส่วนการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมาก จะดำเนินการโดยออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อไป

2.2 มติคณะกรรมการ รศก.

2.2.1 มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) ประสานกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้ดำเนินการปรับปรุงร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง “กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ” ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2552 โดยแยกเรื่อง การจัดตั้งองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ ออกจากการจัดทำร่างประกาศดังกล่าวก่อน สำหรับการจัดตั้งองค์การอิสระดังกล่าวนั้น ควรพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม และเมื่อได้ข้อยุติแล้วให้เร่งจัดทำกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์การอิสระดังกล่าวต่อไป

2.2.2 มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำข้อมูลสถานะโครงการของภาคเอกชนข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการลงทุน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และแนวทางการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2552 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2552 ต่อไป

2.2.3 มอบหมายกระทรวงพลังงานจัดทำข้อมูลสถานะโครงการของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน ข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการลงทุน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และแนวทางการดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2552 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2552 ต่อไป

3. ร่างขอบเขตของงาน (Term of Reference: TOR) โครงการให้เอกชนเข้าดำเนินโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ (บัตรอีลิทการ์ด) ของ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัดกระทรวงการคลัง ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการฯ พิจารณา โดยสรุปได้ดังนี้

3.1 สาระสำคัญ

3.1.1 กระทรวงการคลังได้ปรับปรุงร่างขอบเขตของงาน (TOR) ของโครงการให้ เอกชนเข้าดำเนินโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ (Thailand Privilege Card) ตามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญของ TOR ดังนี้

1) ขอบเขตการดำเนินงาน

  • โครงการให้เอกชนเข้าดำเนินโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ (Thailand Privilege Card) ของ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด(บจ. TPC) เป็นการขายหุ้นของบริษัทที่ ททท. เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด
  • เนื่องจาก บจ. TPC มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น กระบวนการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นของบริษัทให้แก่ภาคเอกชนจึงจำเป็นจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการหรือหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของพ.ศ. 2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นต้น
  • ในการขายหุ้นจะต้องยึดถือแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง แนวทางเลือกการดำเนินโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ (บัตรอีลิทการ์ด) ที่กำหนดให้ผู้เสนอขอดำเนินการฯ ต้องรับไปดำเนินการทั้งหมด ได้แก่ การชดเชยเงินลงทุนภาครัฐ การรับภาระหนี้สิน และความรับผิดชอบทางกฎหมายไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังจากการรับซื้อหุ้น ซึ่งจะเป็นไปตามรายงานการตรวจสอบมูลค่าและภาระผูกพันของกิจการ (Due Diligence) และรายงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการฯ พ.ศ. 2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีมติให้จัดทำไว้โดยละเอียดแล้ว นอกจากนี้ ผู้เสนอขอดำเนินการ โดยการเข้าถือหุ้นใน บจ. TPC จะต้องรับโอนพนักงานทั้งหมดของ บจ. TPC ในปัจจุบันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

2) คุณสมบัติของผู้เสนอขอดำเนินการ ที่สำคัญได้แก่ (1) ต้องมีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจโดยตรง และ/หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานบริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (2) ต้องเป็นนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือกลุ่มนิติบุคคลที่ร่วมทุนระหว่างนิติบุคคลไทยกับนิติบุคคลต่างประเทศในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) และ (3) ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีสถานะการเงินมั่นคง มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ในกรณีกิจการร่วมค้า (Joint Venture) โดยบริษัทหลักต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

3) วิธีการดำเนินการ กำหนดให้ใช้วิธีการประมูล โดยจะมีการคัดเลือกคุณสมบัติและแผนงานของผู้ขอรับการคัดเลือกก่อนและการคัดเลือกผู้มีสิทธิเสนอราคาประมูลโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการฯ พ.ศ. 2504 จะพิจารณาคุณสมบัติและแผนงานของผู้ขอเข้ารับการคัดเลือก และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเสนอราคาประมูลให้ทราบและเมื่อผู้ขอรับการคัดเลือกผ่านเกณฑ์การพิจารณา จึงจะมีสิทธิในการเสนอราคาประมูลต่อไป

3.1.2 การดำเนินการประมูลโครงการ ยังมีปัญหาการปฏิบัติตามระเบียบจำหน่ายกิจการ หรือหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

1) ขั้นตอนการดำเนินการประมูลโครงการฯ ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการหรือหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ.2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องดำเนินงาน ดังนี้ (1) ขอรับอนุมัติหลักการจากคณะรัฐมนตรี เนื่องจากมีสินทรัพย์เกิน 5 ล้านบาท (2) กระทรวงเจ้าสังกัดแต่งตั้งคณะกรรมการ (3) จัดประชุมคณะกรรมการเพื่อขอความเห็นชอบในเรื่องวิธีการจำหน่าย ราคาที่จะจำหน่าย หรือเรื่องอื่น ๆ ตามควรแต่กรณี (4) คณะกรรมการเสนอผลการพิจารณาต่อกระทรวงเจ้าสังกัดและกระทรวง การคลัง และ (5) กระทรวงเจ้าสังกัดเสนอขอมติจากคณะรัฐมนตรี

2) ปัญหาการปฏิบัติตามระเบียบจำหน่ายกิจการฯ ตามระเบียบสำนักนายกฯ ข้อ 6 กำหนดให้กระทรวงเจ้าสังกัดตั้งกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัด เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทน สศช. และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นกรรมการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องวิธีการ ราคาที่จำหน่าย แต่เนื่องจากที่ผ่านมาผู้แทน สตง. ในฐานะผู้ตรวจสอบ จะไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ จึงทำให้คณะกรรมการนี้ไม่ครบองค์ประชุม

3.1.3 แนวทางแก้ไข กระทรวงการคลังมีประเด็นที่จะเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณา ดังนี้

1) เห็นชอบในหลักการให้มีการจำหน่ายหุ้นของบริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด และให้ดำเนินการตามกระบวนการของระเบียบการจำหน่ายกิจการฯ

2) ให้ยกเว้นเรื่องขององค์ประกอบของคณะกรรมการ ตามข้อ 6 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการหรือหุ้นที่ส่วนราชการเป็นเจ้าของพ.ศ. 2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่ต้องมีผู้แทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเข้าร่วมเป็นกรรมการ

3.2 ความเห็นเพิ่มเติมของกระทรวงการคลัง เพื่อให้การหาผู้เสนอขอดำเนินการเป็นไปตามเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 จึงเห็นควรที่คณะกรรมการที่จะได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการฯ พ.ศ. 2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจนในประเด็นดังต่อไปนี้

1) สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการถือครองวีซ่าและการอำนวยความสะดวกในการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวพิเศษ (Special Entry Visa) ควรมีความชัดเจนว่าจะสามารถทำให้เกิดผลผูกพันในทางปฏิบัติในอนาคตอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดกรอบระยะเวลาการให้สิทธิคราวละ 5 ปี และจะต้องมีความเห็นของกระทรวงมหาดไทยประกอบด้วย

2) ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่คัดกรองคุณสมบัติของผู้ที่จะถือครองวีซ่าก่อนที่ บจ. TPC จะรับเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวควรมีองค์ประกอบอย่างน้อยคือ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

3) ทำความชัดเจนเกี่ยวกับคำว่าเงินชดเชยตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 ก่อนดำเนินการหาผู้เสนอขอดำเนินการ

4) ควรมีการจัดจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อช่วยสนับสนุนในการประเมินมูลค่ากิจการและการเจรจาต่อรองการประมูลโครงการ

3.3 มติคณะกรรมการ รศก.

3.3.1 รับทราบ และมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้เอกชนเข้าดำเนินโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ (Thailand Privilege Card) ตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

3.3.2 เห็นชอบให้มีการแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการหรือหุ้นที่ ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504 ตามความเห็นของคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ โดยให้ปรับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ซึ่งปัจจุบันคือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ออกจากองค์ประกอบของคณะกรรมการตามระเบียบดังกล่าว และให้เพิ่มผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับแก้ไขระเบียบดังกล่าว และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ