สาระสำคัญ 65 โครงการ ที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสองและแนวทางการแก้ไขปัญหา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 23, 2009 14:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการแก้ไขบรรเทาปัญหาจากผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดจากการระงับโครงการ 65 โครงการที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1. มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน ให้การสนับสนุนและประสานข้อมูลกับภาค เอกชนในการจัดทำคำชี้แจงศาลในประเด็นโครงการที่อาจเข้าข่ายยกเว้นคุ้มครองชั่วคราวส่งให้ศาลตามขั้นตอนต่อไป

2. มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมประสานกระทรวงแรงงานพิจารณากำหนดมาตรการบรรเทาผล กระทบการว่างงานและสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี ต่อไป

3. มอบหมายกระทรวงพลังงานจัดทำรายละเอียดการการแก้ไขการขาดแคลนก๊าซ LPG ในประเทศและ สรุปเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

แนวทางการแก้ไขบรรเทาปัญหา มีดังนี้

ระยะสั้น : เร่งจัดทำคำชี้แจงศาลในประเด็นโครงการที่อาจเข้าข่ายยกเว้นคุ้มครองชั่วคราว แก้ปัญหาแรงงาน และการขาดก๊าซ LPG

1. เร่งจัดทำคำชี้แจงศาลในประเด็นโครงการที่อาจเข้าข่ายยกเว้นคุ้มครองชั่วคราว การ พิจารณาโครงการที่จะยื่นต่อศาลเพื่อขอยกเว้นการคุ้มครองชั่วคราว โดยพิจารณาจากโครงการที่ศาลมีวินิจฉัยให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องคุ้มครองชั่วคราว 11 โครงการ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นโครงการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อลดมลพิษและเป็นโครงการที่ไม่ใช่ประเภทรุนแรง เป็นหลัก

กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน พิจารณาแล้วเห็นควรพิจารณาจากหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 4 เกณฑ์ คือ 1 เป็นโครงการที่ไม่ใช่ประเภทรุนแรง(1) 2 เป็น โครงการที่ไม่มีการผลิตหรือเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งกลุ่มที่มีการดำเนินการเพื่อลดมลพิษ 3 เป็นโครงการลดมลพิษ และ 4 เป็นโครงการที่ EIA ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการก่อนรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ (24 ส.ค 2550) ได้ข้อสรุปจากการพิจารณา 65 โครงการ ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานได้มีการวิเคราะห์จัดกลุ่มตามลำดับโอกาสที่จะเข้าข่ายการยกเว้นการคุ้มครองชั่วคราว โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม สรุปดังนี้

สถานภาพโครงการ

           กลุ่ม                                 ดำเนิน   ก่อสร้าง   อยู่ระหว่าง    ยังไม่  ไม่ดำเนินการ    รวม

การแล้ว แล้วเสร็จ ก่อสร้าง ก่อสร้าง

กลุ่ม 1 ไม่ใช่ประเภทรุนแรงและผ่าน 2 หลักเกณฑ์              2        2          3       1           0      8
(1+ 2/3 หรือ 3/4) หรือ โครงการ
ไม่มีการผลิตและลดมลพิษ (2+3) *
กลุ่ม 2 ไม่ใช่ประเภทรุนแรง                              2        5          4       6           0     17
และผ่าน 1 หลักเกณฑ์
กลุ่ม 3 ไม่ใช่ประเภทรุนแรง                              0        1          0       0           0      1
รวม                                                4        8          7       7           0     26
หมายเหตุ : กรณี (2+3) จะเป็นโครงการที่มีลักษณะกิจกรรมคล้ายโครงการอุตสาหกรรม 45 โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ของ บริษัทอินโดรามาปิโตรเคมี จำกัด ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลางที่ไม่มีการเพิ่มกำลังการผลิตและลดมลพิษ
(1) ประเภทรุนแรง หมายถึง ประเภทโครงการที่ศาลมีความเห็น น่าเชื่อว่าเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ได้แก่ ประเภทโครงการตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ     ลงวันที่ 14 กันยายน 2552 และตามร่างประเภทหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

2. การบรรเทาภาวะการว่างงาน กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างประสานกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมพิจารณากำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบการว่างงานเสนอคณะรัฐมนตรี ต่อไป

3. การแก้ไขการขาดแคลนก๊าซ LPG ในประเทศ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างดำเนินการ 4 มาตรการที่สำคัญ โดยจะได้ข้อสรุปสามารถดำเนินการได้ภายในมกราคม 2553 คือ

1) พิจารณาสนับสนุนการนำเข้าก๊าซ LPG ให้ได้ 100,000 ตัน/เดือน โดยจัดทำคลังลอยน้ำในทะเล (Floating Storage) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการนำเข้า LPG โดยปัจจุบัน กรมธุรกิจพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องคาดว่าจะสามารถนำเข้าโดยวิธีนี้ได้ภายในมกราคม 2553

2) ขอให้ ปตท. พิจารณาโอกาสการเลื่อนการปิดซ่อมบำรุงประจำปีโรงแยกก๊าซธรรมชาติบางแห่งออกไปเพื่อไม่ให้กระทบต่อปริมาณการผลิต LPG ในประเทศ

3) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาชดเชยการใช้ LPG โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

4) การบริหารจัดการการใช้ก๊าซ LPG ในประเทศโดยภาครัฐสร้างแรงจูงใจให้รถแท็กซี่เปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นต้น

ระยะยาว : เร่งให้โครงการที่ถูกระงับดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง

เมื่อการกำหนดกระบวนการและระยะเวลาการดำเนินการตามมาตรา 67 มีความชัดเจนแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานจะร่วมกับภาคเอกชนเร่งดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดโดยเร็ว เพื่อยื่นคำขอต่อศาล ปกครองกลางให้มีคำสั่งแก้ไขหรือยกเลิกวิธีการชั่วคราวในแต่ละราย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ