รายงานผลการพิจารณา เรื่อง “การพัฒนาพันธุ์ข้าวของประเทศสหรัฐอเมริกา”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 23, 2009 14:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการศึกษาติดตามรายละเอียดและการกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบอันอาจจะเกิดขึ้นกับการค้าข้าวของไทยในตลาดโลก ตลอดจนชาวนาและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

1. เรื่องเดิม

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปศึกษาติดตามในรายละเอียดอย่างเร่งด่วน เรื่อง “การพัฒนาพันธุ์ข้าวของประเทศสหรัฐอเมริกา” ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปกป้องผลประโยชน์และกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบอันอาจจะเกิดขึ้นกับการค้าข้าวของไทยในตลาดโลก ตลอดจนชาวนาและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องด้วย

2. การดำเนินการ

เพื่อให้เป็นไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เชิญหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือเพื่อศึกษาติดตามรายละเอียดและกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบ เมื่อวันอังคารที่ 20 ตุลาคม 2552 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว

3. ข้อเท็จจริงและแนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบ

3.1 ข้อเท็จจริง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับตัวอย่างข้าว Jazzman จากสำนักงานเกษตร ดี.ซี. และได้ มอบหมายให้ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กรมการข้าว ทำการวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดข้าว Jazzman เปรียบเทียบกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2552 สรุปผลได้ดังนี้

3.1.1 คุณภาพเมล็ดของข้าว Jazzman เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 พบว่าเมล็ดมีรูปร่างเรียวเช่นเดียวกัน แต่ขนาดเมล็ดของข้าว Jazzman เมล็ดจะสั้นกว่าและหนากว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 ส่วนปริมาณ อมิโลสมีค่าใกล้เคียงกัน คือ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 มีค่าอมิโลส เท่ากับ 15.52% ส่วนข้าว Jazzman มีค่าเท่ากับ 16.19 % จึงจัดเป็นประเภทข้าวสุกนุ่มและมีอุณหภูมิแป้งสุกต่ำโดยข้าว Jazzman จะใช้เวลาในการหุงต้ม ประมาณ 20 นาที ส่วนข้าวขาวดอกมะลิ 105 ใช้เวลาในการหุงต้ม ประมาณ 17 นาที และพบว่า ข้าว Jazzman มีกลิ่นหอมที่ไม่ใช่กลิ่นข้าวหอมมะลิไทย ข้าวสุกมีความเลื่อมมัน ส่วนความนุ่มเมื่อเปรียบเทียบกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 จะมีความกระด้างกว่าเล็กน้อย โดยคุณภาพข้าวสุกของข้าว Jazzman จะใกล้เคียงกับข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 มากกว่าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105

3.1.2 จากผลการตรวจสอบดีเอ็นเอ (DNA) จากเมล็ดข้าวสารของข้าวพันธุ์ Jazzman เปรียบเทียบกับข้าวหอมของไทย โดยศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว พบว่า ข้าวพันธุ์ Jazzman เป็นข้าวหอมประเภทเดียวกันกับพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 แต่มีความหอมเหมือนกับข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ซึ่งแตกต่างจากความหอมของพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ส่วนความอ่อนนุ่มของข้าวสุก ข้าวพันธุ์ Jazzman คล้ายกับข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 และกข33 (หอมอุบล 80) มากกว่าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และกข15คือค่อนข้างแข็งกว่าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และกข15

3.1.3 ผลสรุปจากการตรวจสอบคุณสมบัติเปรียบเทียบข้าวขาวดอกมะลิ 105 ของไทยกับพันธุ์ข้าว Jazzman เป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้จัดเป็นกลุ่มเดียวกัน การทำตลาดที่จะจัดเป็นกลุ่มเดียวกับข้าวหอมมะลิของไทย ยังไม่สามารถเทียบได้ในเชิงคุณภาพและการทำตลาดจะเน้นเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก โดยอาจมีผลกระทบต่อปริมาณการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยในตลาดประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่บ้าง เพราะโดยคุณสมบัติของข้าวหอมมะลิไทยจัดเป็นข้าวที่มีคุณภาพของแป้งข้าวที่ดีที่สุดเป็นที่ยอมรับทั้งทางวิชาการและโภชนาการ จึงมีหลายประเทศที่พยายามพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้เทียบเท่ากับข้าวหอมมะลิของไทย

3.2 แนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบ

3.2.1 ควรใช้กลยุทธ์การโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลผู้บริโภคทราบถึงข้อดีเด่นของข้าวหอมมะลิไทยทั้งในด้านคุณภาพและความหอม รวมไปถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับข้าวหอมมะลิไทย เพื่อป้องกันความสับสนของผู้บริโภคในตลาดโลก ทั้งนี้ เนื่องจากข้าวหอมมะลิไทยยังคงมีลักษณะและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นโดยเฉพาะเรื่องคุณภาพและความหอม อีกทั้งยังคงเป็นสินค้าข้าวชนิด Highest Premium ที่ผู้บริโภคนิยมทั่วโลก การแนะนำข้าวพันธุ์ใหม่ Jazzman ต่อผู้บริโภคจึงไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้ระยะเวลาและรายละเอียดอีกมาก

3.2.2 พัฒนาระบบมาตรฐานการผลิตข้าวหอมมะลิไทยให้ครบวงจรครอบคลุมทุกขั้นตอนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อป้องกันประเด็นการปลอมปนและการกล่าวอ้างว่าข้าวพันธุ์ Jazzman เป็นข้าวหอมมะลิไทย 100%

3.2.3 เร่งใช้มาตรการ SPS ( Sanitary and phytosanitary measures) ในการนำเข้าข้าว และการระบุของแหล่งกำเนิดสินค้า (source of origin ) เพื่อเป็นการเสริมสร้างมาตรฐานสินค้าข้าวของไทย เนื่องจากประเทศไทยต้องเปิดให้นำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านในวันที่ 1 มกราคม 2553 ภายใต้ข้อกำหนดของ AFTA

3.2.4 ควรมีการจัดกลุ่มข้าวหอมเพิ่มเติมนอกเหนือจากพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และกข15 เพราะยังมีพันธุ์ข้าวหอมที่พัฒนามาจากพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 มีพื้นฐานทางพันธุกรรมใกล้เคียงกันมาก คุณภาพเมล็ดเหมือนกัน ควรจะจัดรวมในกลุ่มข้าวหอมเดิมเพื่อเพิ่มความหลากหลายหรือขยายฐานพันธุกรรมลดความเสี่ยงต่อความเสียหายจากการทำลายของโรค แมลง และสภาพแวดล้อมแปรปรวนได้

3.2.5 ควรหามาตรการเพื่อให้มีการยอมรับข้าวหอมที่ปลูกนอกเขตข้าวหอมมะลิ (ข้าวหอมจังหวัด) หรือพัฒนาสินค้าข้าวหอมจังหวัดให้มีคุณภาพเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indication good) ระดับจังหวัดหรือระดับเขตได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มปริมาณผลผลิตของข้าวหอมแล้ว ยังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกได้อีกด้วย

3.2.6 การวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ และ conventional breeding เป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการเตรียมการรองรับสภาวการณ์ดังกล่าวนี้ และรัฐบาลควรให้การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาข้าวหอมมะลิอย่างจริงจังและต่อเนื่องทั้งด้านงบประมาณ เครื่องมืออุปกรณ์ และบุคลากร ทั้งนี้ เนื่องจากในอนาคตการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ต้องอาศัยองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องนั้น จะเป็น เครื่องมือสำคัญในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ