ผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 23, 2009 15:31 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ครั้งที่ 5/2552

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ครั้งที่ 5/2552 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

1. การดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555

คณะกรรมการได้พิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดย มีรายละเอียด ดังนี้

1.1 โครงการสาขาการศึกษา

โครงการสาขาการศึกษาได้รับอนุมัติภายใต้แผนการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 รวมทั้งสิ้น 141,638 ล้านบาท จำนวน 27 โครงการ แบ่งเป็น (1) แผนงานโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา จำนวน 22 โครงการ วงเงิน 95,323 ล้านบาท และ(2) แผนงานการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งระบบ จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 46,315 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการสาขาการศึกษาได้รับการจัดสรรเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 จำนวน 17 โครงการ วงเงิน ปี 2553 — 2555 รวมทั้งสิ้น 51,981 ล้านบาท ดังนี้

หน่วย : ล้านบาท

          แผนงาน                                                วงเงินรวม      วงเงินตามพระราชกำหนดให้

อำนาจกระทรวงการคลังฯ

          1) แผนงานโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา              95,323 (22 โครงการ)        43,950 (16 โครงการ)
          2) แผนงานการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้าน             46,315 (5 โครงการ)         8,030  (1 โครงการ)

การศึกษาและการเรียนรู้ทั้งระบบ

             รวม                                                 141,638                     51,981

1.1.1 กลไกการบริหารจัดการโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในระดับหน่วยงาน

การดำเนินโครงการสาขาการศึกษาประกอบด้วยการดำเนินงานของหลายหน่วยงาน ซึ่งได้กำหนดกลไกการบริหารจัดการโครงการ ดังนี้ (1) กระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้กลุ่มงานติดตามและรายงาน สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานในระดับภาพรวมโครงการของกระทรวง (2) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มอบหมายให้สำนัก/กองที่เป็นเจ้าของโครงการรับผิดชอบในการกำกับ ติดตาม และรายงานผลการดำเนินงาน (3) กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอยู่ระหว่างการหารือเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการในการติดตามการดำเนินโครงการ ในขณะที่กรุงเทพมหานคร มอบหมายให้ฝ่ายบริการสถานศึกษา กรุงเทพมหานครรับผิดชอบในการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ (4) สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กำกับดูแลในเชิงนโยบาย ขณะที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มอบหมายให้รองผู้อำนวยการ สกว. (ดร.ศรีราพรฯ) เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินโครงการ (5) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพิจิตรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการ 6) กระทรวงวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีสำนักบริหารจัดการคลัสเตอร์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการกำกับ ดูแล ติดตามการดำเนินโครงการ

1.1.2 การติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการสาขาการศึกษา จะเห็นได้ว่า ขณะนี้หน่วยงานเจ้าของโครงการแต่ละหน่วยทำหน้าที่ในการติดตามความก้าวหน้าของโครงการที่รับผิดชอบโดยตรง จึงควรมีหน่วยงานหลักภายใต้กระทรวงศึกษาธิการที่รับผิดชอบการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการสาขาการศึกษาในภาพรวม โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการต่อหน่วยงานดังกล่าวเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การติดตามประเมินผลโครงการในสาขาการศึกษาเป็นไปอย่างมีระบบและเป็นเอกภาพ

1.1.3 การกำหนดดัชนีชี้วัดผลสำเร็จของโครงการ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำดัชนีชี้วัดผลสำเร็จของโครงการสาขาการศึกษาแล้ว ซึ่งฝ่ายเลขานุการเห็นว่า การกำหนดดัชนีชี้วัดดังกล่าวเป็นการรวบรวมจากผลผลิต (Output) ของโครงการ จึงอาจไม่สามารถใช้ในการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ที่คณะกรรมการฯ กำหนดไว้ ซึ่งฝ่ายเลขานุการได้ทำการปรับดัชนีชี้วัดดังกล่าวแล้ว เช่น

          นโยบาย/แผนงาน/โครงการ          กระทรวงศึกษาธิการ                 สศช.
          1.โครงการส่งเสริมการวิจัยใน        1) จำนวนมหาวิทยาลัยวิจัย            ผลผลิต
          สถาบันอุดมศึกษาและการพัฒนา         ไทยได้รับการจัดอันดับใน              1.สถาบันอุดมศึกษาได้รับ
          มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ             World University Ranking ใน     การจัดลำดับความสำคัญในระดับ
                                         ระดับที่สูงขึ้น                       นานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7 แห่ง
                                         2) จำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์           2. จำนวนผลงานวิจัยในระดับ
                                         ในวารสารต่างประเทศ               นานาชาติเพิ่มขึ้น

3. จำนวนบุคลากรด้านการวิจัยสาขา

ต่างๆ เพิ่มขึ้น 1,000 คน

ผลลัพธ์

1. มหาวิทยาลัยวิจัยไทยได้รับ

การจัดอันดับอยู่ในระดับ 200 อันดับ

แรกของโลก

2. จำนวนผลงานวิจัยที่ตอบสนองการพัฒนาชุมชน

และภาคการผลิต

ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการจะหารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการปรับดัชนีชี้วัดดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เพื่อใช้ในการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการสาขาการศึกษาต่อไป

1.2 โครงการประกันรายได้เกษตรกร

โครงการประกันรายได้เกษตรกร วงเงิน 40,000 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) ค่าชดเชยสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 6,350 ล้านบาท (2) ค่าชดเชยสำหรับเกษตรกร ผู้ปลูกมันสำปะหลัง 9,364 ล้านบาท (3) ค่าชดเชยสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 22,500 ล้านบาท (4) ค่าใช้จ่ายการประชาสัมพันธ์โครงการ 80 ล้านบาท และ (5) ค่าใช้จ่ายบริหารจัดการโครงการ 1,706 ล้านบาท โดยมีความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ ดังนี้

1.2.1 การขึ้นทะเบียน ทำสัญญา และใช้สิทธิของเกษตรกร ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 มีผลการดำเนินงาน ดังนี้

ความก้าวหน้าการขึ้นทะเบียน การทำประชาคม และการใช้สิทธิของเกษตรกร

กิจกรรม                            ข้าวนาปี               มันสำปะหลัง           ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
                               จำนวน    ร้อยละ        จำนวน    ร้อยละ         จำนวน     ร้อยละ
1) การขึ้นทะเบียน             3,291,336    88.59(1)   438,477   113.99(2)    393,110    104.29(3)
2) ผ่านการรับรองโดยประชาคม   3,188,410    97.46      430,805    98.25       388,753     98.89
3) ธ.ก.ส. รับทะเบียนเกษตรกร  2,622,140    79.75      431,334    98.37       389,138     98.99
4) ธ.ก.ส. ทำสัญญา             987,129    29.99      281,281    64.15       335,282     85.29
5) การใช้สิทธิของเกษตรกร          5,018     0.15          143     0.03        91,672     23.32
หมายเหตุ  1 หมายถึง ร้อยละของเป้าหมาย 3,715,326 ราย
2 หมายถึง ร้อยละของเป้าหมาย 384,628 ราย
3 หมายถึง ร้อยละของเป้าหมาย 376,909 ราย

1.2.2 การประกาศเกณฑ์กลางอ้างอิง กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศเกณฑ์กลางอ้างอิงของข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายน 2552 รวม 5 ครั้ง

1.2.3 ยอดเงินชดเชยส่วนต่างให้แก่เกษตรกร ยอดสะสมถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้แจ้งยอดเงินชดเชยที่จ่ายให้กับเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไปแล้ว 96,833 ราย รวมเป็นเงิน 1,614,240,559 บาท จำแนกเป็น (1) ชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 5,018 ราย เป็นเงิน 85,944,475 บาท (2) ชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 143 รายเป็นเงิน 1,660,378 บาท และ (3) ชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 91,672 ราย เป็นเงิน 1,526,635,706 บาท

1.2.4 ปัญหาและการเร่งรัดแก้ไข คณะกรรมการประสานการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร ที่มีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานฯ ได้ดำเนินการในการเร่งรัดการดำเนินโครงการและแก้ไขปัญหาผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในประเด็นสำคัญ ดังนี้ (1) การประสานและเร่งรัดการดำเนินงาน ได้เร่งรัดการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและพืชเศรษฐกิจ และการทำสัญญาประกันรายได้เกษตรกร ผ่านการรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งขอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จทันตามกำหนด (2) การรับรองสิทธิการปลูกพืชเศรษฐกิจของเกษตรกร ในกรณีพื้นที่ที่นอกเหนือจากพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ ได้แก้ปัญหาโดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประธานกรรมการชุมชน ในพื้นที่และหรือพื้นที่ข้างเคียงเป็นผู้รับรอง (3) การใช้เกณฑ์ผลผลิตเฉลี่ยระดับจังหวัดแทนผลผลิตเฉลี่ยระดับประเทศ ได้เสนอให้ปรับปรุงข้อมูลผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่จากที่ใช้ระดับเดียวทั้งประเทศเป็นระดับจังหวัดเพื่อให้มีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของแต่ละจังหวัดมากยิ่งขึ้น และ (4) การสนับสนุนและติดตามการดำเนินโครงการฯ ประกอบด้วย การแต่งตั้งคณะทำงานระดับอำเภอและตำบล การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร และการปรับปรุงการใช้สิทธิหลังทำสัญญา สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง

1.2.5 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอ มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อ 20 ตุลาคม 2552 ประกอบด้วย (1) โครงการรับฝากข้าวในยุ้งฉางเกษตรกรเพื่อรอการจำหน่ายปีการผลิต 2552/53 โดยให้ ธ.ก.ส.รับฝากข้าวในราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง พร้อมเงินค่ารับฝากอีกตันละ 1,000 บาท จำนวน 2 ล้านตัน (2) โครงการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือก โดยให้ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) แทรกแซงโดยผ่านโรงสีและสถาบันเกษตรกรที่มีศักยภาพในการเก็บรักษาคุณภาพข้าวเปลือกและสีแปรสภาพเป็นข้าวสารเมื่อจำเป็น ระยะเวลาดำเนินการ พฤศจิกายน 2552-กุมภาพันธ์ 2553 และ (3) โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก ดำเนินการใน 57 จังหวัด จำนวน 519 ครั้ง ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมากและราคามีแนวโน้มต่ำลง

1.2.6 การจัดทำดัชนีชี้วัดผลสำเร็จของโครงการ ฝ่ายเลขานุการได้เสนอการกำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญสำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกร ประกอบด้วย (1) รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชแต่ละชนิด เปรียบเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชแต่ละชนิด ในปีการผลิตที่ผ่านมา (2) จำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิด เปรียบเทียบกับจำนวนครัวเรือนเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชชนิดนั้นทั้งหมด และ (3) พื้นที่เพาะปลูกผลิตพืชแต่ละชนิด เปรียบเทียบกับ พื้นที่การเพาะปลูกพืชชนิดนั้นในปีที่ผ่านมา

1.3 คณะกรรมการมีความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ดังนี้

1.3.1 โครงการสาขาการศึกษา

1) การกำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในการติดตามการประเมินผลแผนการลงทุนสาขาศึกษาจะช่วยให้การติดตามประเมินผลของคณะกรรมการฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากการดำเนินการแผนการลงทุนสาขาศึกษามีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องพิจารณาความพร้อมของหน่วยงานด้วย

2) สำหรับการกำหนดดัชนีชี้วัดในการติดตามประเมินผล เห็นว่าดัชนีชี้วัดที่ฝ่ายเลขานุการ เสนอมีความแตกต่างจากที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอค่อนข้างมาก ซึ่งดัชนีชี้วัดที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอส่วนใหญ่เป็นระดับผลผลิต อาจไม่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการสาขาการศึกษาตาม วัตถุประสงค์ของการลงทุน เช่น การวัดจำนวนโรงเรียนที่เพิ่มขึ้นยังไม่สามารถสะท้อนให้เห็นการพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษา เป็นต้น ซึ่งผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการได้ชี้แจงว่า ตัวชี้วัดที่เสนอมานั้นเป็นการรวบรวมจากข้อมูลตามแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของกระทรวงศึกษาธิการ และจำเป็นจะต้องมีการบูรณาการผลลัพธ์ในระดับภาพรวมของแผนการลงทุนในสาขาการศึกษาต่อไป

3) ในเบื้องต้น กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรนำกรอบ วัตถุประสงค์ของการลงทุนในสาขาการศึกษาภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้วมาประกอบการจัดทำดัชนีชี้วัดดังกล่าวด้วย เพื่อให้สามารถกำหนดดัชนีชี้วัดที่สามารถสะท้อนกระบวนการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกรอบแนวคิดดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ดัชนีชี้วัดดังกล่าว จะต้องเป็นการบูรณาการผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีความชัดเจน เข้าใจง่าย และสามารถนำไปใช้ในการประเมินผลการดำเนินโครงการได้ต่อไป

4) จากการพิจารณาลักษณะของแผนงาน/โครงการของสาขาการศึกษา เห็นว่าการลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในโครงการปัจจัยสนับสนุนด้านการศึกษา วงเงินลงทุน 41,041 ล้านบาท และโครงการยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษา (Modernized Vocational Education) วงเงินลงทุน 18,250 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 60,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 63 ของวงเงินลงทุนในแผนงานโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ดังนั้นในการติดตามประเมินผลการลงทุนจึงอาจให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนดังกล่าว เพื่อให้สามารถกำหนดดัชนีชี้วัดที่สะท้อนวัตถุประสงค์การลงทุนในสาขาการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

5) การลงทุนในสาขาศึกษาที่ได้รับอนุมัติตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงินประมาณ 41,695 ล้านบาท ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 กระทรวงศึกษาธิการได้ส่งคำขออนุมัติจัดสรรเงินกู้ให้สำนักงบประมาณพิจารณาแล้วจำนวน 15 โครงการ วงเงิน 15,916 ล้านบาท ซึ่งได้รับอนุมัติจัดสรรเงินกู้จากสำนักงบประมาณแล้ว 7 โครงการ วงเงินลงทุน 12,114 ล้านบาท ที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมของราคาตามขั้นตอนของสำนักงบประมาณ นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนโครงการอีกประมาณร้อยละ 62 ที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรเงินกู้ตามขั้นตอน จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ภายในปี 2553 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555

1.3.2 โครงการประกันรายได้เกษตรกร

1) คณะกรรมการฯ มีความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จของโครงการประกันรายได้เกษตรกร ที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ ดังนี้

(1) รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของเกษตรกร ควรพิจารณาเปรียบเทียบกับเป้าหมายรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ต้องการให้เกษตรกรได้รับ มากกว่าเปรียบเทียบกับรายได้เฉลี่ยในปีที่ผ่านมา รวมทั้ง ในการพิจารณาผลกระทบของโครงการฯ ยังอาจพิจารณารายได้ของเกษตรกรเชิงฤดูกาลด้วย เพื่อประเมินผลสำเร็จของโครงการในด้านการเปลี่ยนแปลงของรายได้ ซึ่งจะทำให้การประเมินผลมีความสมบูรณ์มากขึ้น

(2) จำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิด ควรใช้สัดส่วนจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ได้ทำสัญญาต่อจำนวนครัวเรือนเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชชนิดนั้นทั้งหมดเป็นดัชนีชี้วัด และอาจกำหนดเป้าหมายการทำสัญญาให้ครบร้อยละ 100 ของจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด

(3) พื้นที่เพาะปลูกผลิตพืชแต่ละชนิด อาจปรับดัชนีชี้วัดดังกล่าวเป็นจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ได้ใช้สิทธิตามโครงการจริงเปรียบเทียบกับจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด เพื่อให้สามารถสะท้อนผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจากการดำเนินโครงการได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

2) เนื่องจากการรับฝากข้าวในยุ้งฉางเกษตรกรเป็นโครงการที่มีความเกี่ยวเนื่องกับโครงการประกันรายได้เกษตรกร คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าวด้วย รวมทั้งการติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว และที่ได้รับจัดสรรวงเงินจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ด้วย เพื่อให้ทราบผลสำเร็จของโครงการในภาพรวม

3) การประเมินผลกระทบการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร อาจรวมถึงการพิจารณาสัดส่วนวงเงินที่รัฐอุดหนุนให้แก่เกษตรกรเปรียบเทียบกับรายได้เฉลี่ยที่เกษตรกรได้รับและผลิตภาพการผลิต (Productivity) ที่จะเกิดขึ้นในระยะ 5-6 ปีหลังจากเริ่มดำเนินโครงการ โดยผลิตภาพการผลิตควรเพิ่มสูงขึ้นตามสัดส่วนวงเงินที่รัฐบาลอุดหนุน ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ อาจนำรูปแบบการให้เงินอุดหนุนของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย

4) ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขการทำสัญญากับเกษตรกร ซึ่งประกอบด้วย 3 เงื่อนไขที่สำคัญ ได้แก่ (1) พื้นที่การผลิตและปริมาณผลผลิตที่จะเข้าร่วมโครงการตามสัญญา โดยกำหนดปริมาณผลผลิตขั้นสูงที่จะเข้าร่วมโครงการได้ เช่น ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เกิน 20 ตัน มันสำปะหลังไม่เกิน 100 ตัน ข้าวหอมมะลิไม่เกิน 14 ตัน เป็นต้น ซึ่งคำนวณจากผลผลิตเฉลี่ยระดับจังหวัดคูณกับขนาดพื้นที่ทำการเกษตร (2) ระยะเวลาที่เกษตรกรจะสามารถใช้สิทธิการประกันรายได้ ซึ่งขณะนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เกษตรกรสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่ได้ทำสัญญาแล้วเสร็จ และ (3) การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันและเกณฑ์กลางอ้างอิง โดย ธ.ก.ส. จะจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวในระยะเวลา 15 วันภายหลังการใช้สิทธิ

2. ระบบการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555

คณะกรรมการฯ ได้หารือเกี่ยวกับระบบสารสนเทศของกระทรวงการคลังและการนำเสนอข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์www.tkk2555.com และมีความเห็น ดังนี้

2.1 ระบบการติดตามโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ควรเพิ่มเติมข้อมูลในส่วนของการขอรับจัดสรรเงินจากสำนักงบประมาณ โดยรายงานข้อมูลดังกล่าวในระบบสารสนเทศด้วย เริ่มจาก (1) การอนุมัติกรอบวงเงินจากคณะรัฐมนตรี (2) การขอรับจัดสรรเงินจากสำนักงบประมาณ โดยแยกเป็น ส่วนที่เสนอขอรับการจัดสรร และส่วนที่ยังไม่ได้เสนอขอรับการจัดสรร (3) การจัดสรรเงิน โดยแยกเป็น ส่วนที่สำนักงบประมาณจัดสรรแล้ว และส่วนที่รอการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ (4) การจัดซื้อจัดจ้าง และ (5) การเบิกจ่าย เพื่อให้สามารถติดตามการดำเนินงานได้ครบทุกขั้นตอน

2.2 การรายงานความก้าวหน้าของโครงการ (ด้านแผนงาน) ที่แสดงรายละเอียดโครงการ เช่น ชื่อโครงการ วัตถุประสงค์ สถานที่ตั้ง ความก้าวหน้าของงาน และผู้รับผิดชอบนั้น ควรแสดงแผนที่ประกอบการอธิบาย สถานที่ตั้งโครงการ และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการก่อสร้างถนน ควรระบุความกว้าง ความหนาของผิวถนน และระยะทางของถนน เพื่อให้ข้อมูลมีความชัดเจนและเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามความก้าวหน้าและตรวจสอบข้อมูล ทั้งนี้ ในส่วนของการระบุผู้รับผิดชอบ ควรระบุชื่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อความสะดวกในการติดตามโครงการ

3. การเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555

คณะกรรมการฯ ได้หารือเกี่ยวกับการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และมีความเห็น ดังนี้

3.1 จากการประเมินเบื้องต้น ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 มีวงเงินที่ยังไม่ได้เสนอขอรับจัดสรรเงินจากสำนักงบประมาณอีกประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งในทางปฏิบัติ บางโครงการจะมีขั้นตอนและระยะเวลาในการเตรียมการ เช่น โครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น หากจะให้โครงการเหล่านี้เริ่มดำเนินการได้ทันภายในปีงบประมาณ 2553 หน่วยงานจะต้องเสนอข้อมูลให้สำนักงบประมาณพิจารณาภายในเดือนมกราคม 2553 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกินเดือนมีนาคม 2553 ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ขอให้สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ร่วมกันกำหนดกรอบเวลาการจัดสรรเงินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยจัดทำ ในลักษณะปฏิทินงบประมาณ เพื่อให้หน่วยงานใช้เป็นกรอบเวลาในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 และแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล

3.2 คณะกรรมการฯ เห็นว่า ควรจะมีการพิจารณากำหนดแนวทางและขั้นตอนการดำเนินการในกรณีที่มีการยกเลิกโครงการด้วย เนื่องจากการเสนอโครงการใหม่เพื่อแทนโครงการเดิมที่ถูกยกเลิกจะต้องผ่านขั้นตอน การกลั่นกรองและอนุมัติโครงการอีกครั้งหนึ่ง และโครงการจะต้องเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2553 เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552

4. สรุปมติคณะกรรมการฯ

4.1 มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการประสานงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในการกำกับ ติดตามการดำเนินโครงการต่างๆ ในสาขาการศึกษา และร่วมกับ สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ในการจัดทำดัชนีชี้วัดสำหรับติดตามประเมินผลการ ลงทุนสาขาศึกษา และเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

4.2 มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเร่งจัดส่งรายละเอียดของโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้สำนักงบประมาณพิจารณาตามขั้นตอน เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ภายในปี 2553 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ต่อไป

4.3 มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ (สศช.) ปรับปรุงดัชนีชี้วัดความสำเร็จของโครงการประกันรายได้เกษตรกรภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ดังนี้

4.3.1 รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของเกษตรกร ให้เปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของเกษตรกรกับเป้าหมายรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ต้องการให้เกษตรกรได้รับ รวมทั้งพิจารณารายได้ของเกษตรกรเชิงฤดูกาลประกอบการประเมินผลสำเร็จของโครงการในด้านการเปลี่ยนแปลงรายได้ ซึ่งจะทำให้การประเมินผลมีความสมบูรณ์มากขึ้น

4.3.2 จำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิด ใช้สัดส่วนจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ได้ทำสัญญาต่อจำนวนครัวเรือนเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชชนิดนั้นทั้งหมดเป็นดัชนีชี้วัด โดยอาจกำหนดเป้าหมายการทำสัญญาให้ครบร้อยละ 100 ของจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด

4.3.3 พื้นที่เพาะปลูกผลิตพืชแต่ละชนิด ปรับดัชนีชี้วัดดังกล่าวเป็นจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ได้ใช้สิทธิตามโครงการจริงเปรียบเทียบกับจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด เพื่อให้สามารถสะท้อนผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจากการดำเนินโครงการได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

4.4 มอบหมายให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปประกอบการพิจารณาจัดทำระบบสารสนเทศในการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของกระทรวงการคลัง ดังนี้

4.4.1 จัดทำระบบติดตาม ตรวจสอบการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่ประกอบด้วยข้อมูลการขอรับจัดสรรเงินจากสำนักงบประมาณ ดังนี้ (1) การอนุมัติกรอบวงเงินจากคณะรัฐมนตรี (2) การขอรับจัดสรรเงินจากสำนักงบประมาณ โดยแยกเป็น ส่วนที่เสนอขอรับการจัดสรร และส่วนที่ยังไม่ได้เสนอขอรับการจัดสรร (3) การจัดสรรเงิน โดยแยกเป็น ส่วนที่สำนักงบประมาณจัดสรรแล้ว และส่วนที่รอการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ (4) การจัดซื้อจัดจ้าง และ (5) การเบิกจ่าย เพื่อให้สามารถติดตามการดำเนินงานได้ครบทุกขั้นตอน

4.4.2 จัดแสดงแผนที่อธิบายสถานที่ตั้งโครงการและข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ในกรณีโครงการก่อสร้างถนน ให้ระบุความกว้าง ความหนาของผิวถนน และระยะทางของถนน เป็นต้น ประกอบการรายงานความก้าวหน้าของโครงการ (ด้านแผนงาน) เพื่อให้ข้อมูลมีความชัดเจนและเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามความก้าวหน้าและตรวจสอบข้อมูล ทั้งนี้ ในส่วนของการระบุผู้รับผิดชอบ ควรระบุชื่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อความสะดวกในการติดตามโครงการ

4.4.3 มอบหมายให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังจัดทำปฏิทินการจัดสรรเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 เพื่อให้หน่วยงานเจ้าของโครงการใช้เป็นกรอบเวลาในการดำเนินการ รวมทั้งมีการพิจารณากำหนดแนวทางและขั้นตอนการดำเนินการในกรณีที่มีการยกเลิกโครงการด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ