คณะรัฐมนตรีรับทราบยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษหมอกควัน ตามมติคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2552 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า
1. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มีคำสั่งที่ 041/2550 ลงวันที่ 26 มกราคม 2550 แต่งตั้งคณะทำงานศึกษากรณีไฟป่าและหมอกควันจากไฟป่าซึ่งแพร่กระจายมาจากต่างประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงาน มาตรการ และแนวทางการบริหารจัดการด้านไฟป่าและหมอกควันจากไฟป่าซึ่งแพร่กระจายมาจากต่างประเทศ
2. คณะทำงานศึกษากรณีไฟป่าและหมอกควันจากไฟป่าซึ่งแพร่กระจายมาจากต่างประเทศ ได้ประชุมเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2550 และวันที่ 26 กรกฎาคม 2550 มีมติเห็นชอบให้เพิ่มยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจากไฟป่าซึ่งแพร่กระจายมาต่างประเทศไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 1 ระยะ 6 ปีแรก (พ.ศ. 2549-2554) ภายใต้แผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านอัคคีภัยแห่งชาติ โดยใช้กรอบแนวทางและมาตรการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ แนวทาง/มาตรการ/แผนการควบคุมไฟป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แผนแม่บทการควบคุมการเผาในที่โล่ง/ การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันจากไฟป่าซึ่งแพร่กระจายมาจากต่างประเทศของกรมควบคุมมลพิษ แผนและมาตรการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้นำร่างยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจากไฟป่าซึ่งแพร่กระจายมาจากต่างประเทศเข้าที่ประชุม กปอ. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานหลักเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพื่อปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจากไฟป่าซึ่งแพร่กระจายมาจากต่างประเทศ
3. คณะทำงานศึกษากรณีไฟป่าและหมอกควันจากไฟป่าซึ่งแพร่กระจายมาจากต่างประเทศ ได้ประชุม เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2552 มีมติให้ปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจากไฟป่าซึ่งแพร่กระจายมาจากต่างประเทศและปรับชื่อร่างเป็น “ร่างยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษหมอกควัน”
4. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้นำร่างยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษหมอกควัน เสนอ กปอ. เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2552 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบและให้นำยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบต่อไป
5. ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษหมอกควัน ประกอบด้วย มาตรการระยะเร่งด่วน (ปี 2552) มาตรการระยะปานกลาง (ปี 2553-2554) และมาตรการระยะยาว (ปี 2555-2559) ในการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษหมอกควัน แบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้
5.1 ด้านไฟป่า การเผาในที่โล่ง
5.1.1 ด้านไฟป่า แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ (1) ก่อนเกิดภัย (ขั้นเตรียมการ) (2) ขณะเกิดภัย (ขั้นการปฏิบัติการ) (3) หลังเกิดภัย (ขั้นการฟื้นฟูบูรณะ)
5.1.2 ด้านการเผาในชุมชน
5.1.3 ด้านการเผาเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร
5.1.4 ด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน
5.1.5 ด้านการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์
5.1.6 ด้านการใช้มาตรการทางกฎหมาย
5.2 ด้านมลพิษหมอกควัน
5.2.1 การรองรับข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน
5.2.2 การสร้างกลไกการติดตามตรวจสอบ
5.2.3 การป้องกันการเกิดไฟในที่โล่งและไฟป่าทั้งหมด
5.2.4 การเตรียมความพร้อมในการดำเนินการร่วมกับประเทศภาคีอื่น
5.2.5 การจัดทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉินแห่งชาติ
5.2.6 การให้ความช่วยเหลือ ความร่วมมือด้านเทคนิคและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
5.3 กลไกการติดตามประเมินผล
5.3.1 กำหนดบทบาทหน้าที่ตรวจประเมินของคณะบุคคลที่จะทำการตรวจติดตามและประเมินผล
5.3.2 กำหนดขอบเขต หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจติดตามและประเมินผล
5.3.3 การจัดทำระบบฐานข้อมูล เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ แปรผลเชิงวิชาการโดยมีหน่วยงานร่วมบูรณาการ จำนวน 43 หน่วยงาน ซึ่งในยุทธศาสตร์ได้กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานสนับสนุนในมาตรการทั้ง 3 ระยะ ไว้อย่างชัดเจน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2552 --จบ--