ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 23, 2009 15:55 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 15 (COP15)

และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 5 (CMP5)

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 15 (COP15) และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 5 (CMP5) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ สรุปผลการประชุมดังนี้

1. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการ ระหว่างวันที่ 7-16 ธันวาคม 2552 ประกอบด้วย

1) การประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยความร่วมมือระยะยาวภายใต้อนุสัญญาฯ ครั้งที่ 8 (the 8th session of Ad Hoc Working Group on Long-term Cooperative Action under the Convention: AWG-LCA8)

2) การประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยพันธกรณีต่อเนื่องสำหรับประเทศในภาคผนวกที่ 1 ภายใต้พิธีสารเกียวโต ครั้งที่ 10 (the 10th session of Ad Hoc Working Group on Further Commitments for Annex I Parties under the Kyoto Protocol: AWG-KP10)

3) การประชุมองค์กรย่อยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 31 (the 31th session of Subsidiary Body for Scientific and Technological Advice: SBSTA31)

4) การประชุมองค์กรย่อยด้านการดำเนินงาน ครั้งที่ 31 (the 31th of Subsidiary Body for Implementation: SBI31)

5) การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 15 (the 15th United Nations Climate Change Conference: COP15)

6) การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 5 (the 5th Session of the Conference of the Parties serving as the meeting of the Parties to the Kyoto Protocol: CMP5)

สาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้เน้นการประชุมของคณะทำงานเฉพาะกิจ 2 ชุด ซึ่งเป็นการพิจารณาเตรียมการเกี่ยวกับเรื่องวิสัยทัศน์ร่วมสำหรับความร่วมมือระยะยาว (Shared vision for long-term cooperative action) การปรับตัว (Adaptation) การเงิน (Finance) การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถ (Technology transfer and capacity building) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) พันธกรณีรอบสองของพิธีสารเกียวโต (Second Commitment Period) โดยพิจารณาในประเด็นของการกำหนดปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศในภาคผนวกที่ 1 ปีฐาน ตลอดจนระยะเวลาการดำเนินการ ในการนี้ คณะผู้แทนไทยได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นในที่ประชุมครบองค์ประชุม (Plenary) และการประชุมของคณะทำงานกลุ่มย่อยต่างๆ

2. การประชุมระดับประมุขของประเทศ/หัวหน้ารัฐบาล สรุปได้ดังนี้

             ประมุขของประเทศ/หัวหน้ารัฐบาลของรัฐภาคี (Head of States/Governments) จำนวน 119 ประเทศ  ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุม ที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างข้อตกลง Copenhagen Accord ซึ่งจะใช้เป็น decision-/CP15 และ decision -/CMP5 โดยรัฐบาลเดนมาร์กได้ยกร่าง Copenhagen Accord และนายกรัฐมนตรีเดนมาร์กได้นำหารืออย่าง ไม่เป็นทางการกับประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรี จากประเทศที่คัดเลือกมาเป็นตัวแทนของกลุ่มจำนวน 26 ประเทศ ทั้งจากประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา โดยมาจากประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ เช่น บราซิล อัฟริกาใต้ อินเดีย จีน อินโดนีเซีย สหรัฐเอมริกา รัสเซีย ประธานของกลุ่มภูมิภาคคือ ซาอุดิอาระเบีย เลโซโท อัลจีเลีย เอธิโอเปีย สวีเดน ออสเตรเลีย และเม็กซิโก เป็นต้น โดยเป็นการหารือเพื่อเรียกร้องให้ผู้นำประเทศเห็นชอบในร่างข้อตกลง        ดังกล่าว เพื่อจะได้นำไปเป็นมติของ COP15 และCMP5

สาระสำคัญของร่างข้อตกลง Copenhagen Accord มีดังนี้

  • ประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 ภายใต้อนุสัญญาฯ จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการลด ก๊าซเรือนกระจก ตาม Appendix II รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรา 4.1 และ 4.7 ของอนุสัญญาฯ บนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเสนอต่อสำนักเลขาธิการฯ ภายในวันที่ 31 มกราคม 2553 ประเทศด้อยพัฒนาและประเทศหมู่เกาะสามารถดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกได้โดยความสมัครใจ โดยจะได้รับการสนับสนุนทางการเงิน การดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกโดยประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก ต้องรวมอยู่ในรายงานแห่งชาติ ตามมาตรมา 12.1(b) ของอนุสัญญาฯ และเสนอต่อสำนักเลขาธิการฯ ทุก 2 ปี แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกในรายงานแห่งชาติหรือที่รายงานต่อสำนักเลขาธิการฯ จะต้องรวม Appendix II และจะต้องตรวจวัด รายงาน และตรวจสอบได้ในระดับประเทศ
  • การเพิ่มแหล่งเงินทุนใหม่ที่พอเพียงและคาดการณ์ได้ และการปรับปรุงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับประเทศกำลังพัฒนาสำหรับการปรับตัวและการลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการสนับสนุนทางการเงินต่อการลดก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่า และการทำให้ป่าเสื่อมโทรม (REDD-plus) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ ผ่านองค์กรระหว่างประเทศ จะอยู่ที่ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับช่วงเวลาในปี 2553 — 2555 โดยจะให้การสนับสนุนทั้งด้านการปรับตัวและการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล และจะเน้นที่ประเทศที่มีความล่อแหลมมากที่สุด เช่นประเทศด้อยพัฒนา ประเทศหมู่เกาะและกลุ่มประเทศแอฟริกา ส่วนกิจกรรมในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยประเทศกำลังพัฒนา ประเทศพัฒนาแล้วมีพันธกรณีต่อเป้าหมายในการให้การสนับสนุน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี ภายในปี 2563

ที่ประชุมได้อภิปรายคัดค้าน โดยแสดงความไม่เห็นด้วย และไม่รับร่าง “Copenhagen Accord” ซึ่งเสนอโดยประธาน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้บันทึก (Noting) ว่า การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกเป็นไปโดยความสมัครใจ ถ้าประเทศใดมีความประสงค์จะจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ขอให้แสดงความจำนง และจัดทำรายละเอียดตาม Appendix II ส่งให้สำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาฯ ภายในวันที่ 31 มกราคม 2553 ส่วนข้อสังเกตจากประเทศต่างๆ ได้มอบหมายให้ คณะทำงานเฉพาะกิจทั้ง 2 ชุดไปดำเนินการ และเสนอในที่ประชุม COP 16 ที่กำหนดจะจัดขึ้นในปี ค.ศ. 2010 ณ ประเทศเม็กซิโก ต่อไป

ในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้กล่าวสุนทรพจน์ของประเทศไทย และในฐานะประธานอาเซียน ในการประชุมระดับประมุขของประเทศ/หัวหน้ารัฐบาล ในการสนับสนุนการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ โดยเรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มความสนับสนุนด้านเทคนิควิชาการและการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่เศรษฐกิจอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อดำเนินการตามอนุสัญญาฯ และคณะผู้แทนไทยได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นในที่ประชุมครบองค์ประชุม (Plenary) และการประชุมของคณะทำงานกลุ่มย่อยต่างๆ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ