ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2009 13:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์ การจ่ายเงินทดแทน ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังและข้อพิจารณาของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

ข้อเท็จจริง

กระทรวงแรงงานเสนอว่า

1. ตามที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ได้ออกประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์นั้น ได้ให้อำนาจคณะกรรมการฯ ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินทดแทน จึงเห็นควรปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2539 ในส่วนของหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทนให้มีอัตราที่เหมาะสมยิ่งขึ้นและให้สอดคล้องกับอัตราค่ารักษาพยาบาล ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2551 ที่ประกาศใช้บังคับแล้ว

2. คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2550 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550 เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทน ซึ่งได้ปรับแก้ไขจากประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2539 ตามที่เสนอ

สาระสำคัญของร่างประกาศ

1. กำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาล โดยให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในกรณีการเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐให้จ่ายได้เต็มจำนวน และกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลเอกชนให้จ่ายได้ไม่เกิน 45,000 บาท (ร่างข้อ 1)

2. กรณีที่ค่ารักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลของเอกชนไม่เพียงพอให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกได้ไม่เกินหกหมื่นห้าพันบาท แต่หากค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างเพิ่ม 65,000 บาท ไม่เพียงพอสามารถจ่ายเพิ่มได้อีกเมื่อรวมค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 200,000 บาท ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ หากค่ารักษาพยาบาลไม่เพียงพอให้จ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงแต่รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 300,000 บาท โดยคณะกรรมการแพทย์ที่นายจ้างแต่งตั้งขึ้น ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คนพิจารณาและ คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจให้ความเห็นชอบ (ร่างข้อ 2 ถึงร่างข้อ 5)

3. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน โดยกำหนดค่าใช้จ่ายในกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพไม่เกิน 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพอีกไม่เกินสองหมื่นบาท (ร่างข้อ 6)

4. กำหนดให้จ่ายค่าทำศพเป็นเงินจำนวน 3 เท่าของค่าจ้างรายเดือนเดือนสุดท้าย แต่ต้องไม่น้อยกว่า 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน (ร่างข้อ 7)

5. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราการจ่ายค่าทดแทนรายเดือนสำหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้ กรณีสูญเสียอวัยวะบางส่วน กรณีทุพพลภาพ และกรณีถึงแก่ความตายหรือสูญหาย (ร่างข้อ 8 ถึงร่างข้อ 9 ร่างข้อ 11 และร่างข้อ 13 ถึงร่างข้อ 14)

6. กำหนดให้แพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นผู้ประเมินการสูญเสียอวัยวะหรือการสูญเสียสมรรถภาพของอวัยะ (ร่างข้อ 10 และร่างข้อ 12)

7. กำหนดบทเฉพาะกาล ให้ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทน หรือมีการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือสูญหายอันเนื่องมาจากการทำงานที่เกิดขึ้นก่อนวันประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ใช้บังคับตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2539 (ร่างข้อ 15 ถึงร่างข้อ 16)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ