คณะรัฐมนตรีเห็นชอบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2552 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้กระทรวงแรงงานส่งประกาศฉบับดังกล่าวไปยังสำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีข้อสังเกตว่าในส่วนของจังหวัดที่ยังไม่ได้รับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ รวม 5 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย เชียงราย เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี นั้น กระทรวงแรงงานควรรับไปพิจารณาทบทวนตามขั้นตอนต่อไปอีกครั้งหนึ่งด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงแรงงาน (รง.) รายงานว่า
1. สืบเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน แต่เมื่อพิจารณาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีพของผู้ใช้แรงงานยังคงมีราคาสูง รง. จึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานครและคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด 75 จังหวัด พิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันว่ายังมีความเหมาะสมกับภาวะค่าครองชีพในปัจจุบันหรือไม่
2. ได้รับรายงานจากคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 17 ว่า ได้มีการพิจารณาข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2553 ของคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร และคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด 75 จังหวัด ผ่านการกลั่นกรองและเสนอความเห็นจากคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง โดยคณะกรรมการค่าจ้างได้นำข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 มาพิจารณาประกอบความเห็นของคณะอนุกรรมการ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนภาครัฐ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กลุ่มองค์การแรงงานต่าง ๆ คณะกรรมการค่าจ้างจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำนวน 71 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร และให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ในอัตราเดิม จำนวน 5 จังหวัด ตามที่จังหวัดเสนอไม่ขอปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2552
3. ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำคณะกรรมการค่าจ้างมีแนวคิด ดังนี้
3.1 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำหมายถึงเป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานไร้ฝีมือ (แรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ) 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่สภาพเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น
3.2 แรงงานไร้ฝีมือ (แรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ) หมายถึง แรงงานที่มีวุฒิการศึกษาไม่เกินชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งที่เพิ่งจบการศึกษาหรือจบมาหลายปีแล้ว แต่ไม่เคยทำงานหรือเคยทำงานมาแล้ว แต่รวมระยะเวลาการทำงานเก่ากับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันไม่เกิน 1 ปี ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติเห็นชอบให้แก้ไขปรับปรุงนิยาม คำว่า “แรงงานไร้ฝีมือ” เป็น “แรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ (แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน)” เนื่องจากเห็นว่าคำว่า “แรงงานไร้ฝีมือ” ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่สร้างสรรค์ต่อแรงงานที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานว่าเป็นแรงงานที่ไม่มีฝีมือหรือไม่มีการพัฒนาตนเอง ทั้งนี้ในข้อเท็จจริงแรงงานไร้ฝีมือสามารถเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานกึ่งฝีมือหรือมีฝีมือได้หากมีความขยัน อดทน ตั้งใจจริง และใฝ่เรียนรู้
3.3 การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมุ่งให้ความคุ้มครองและเป็นหลักประกันรายได้ขั้นต่ำสำหรับแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือที่เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงงานจำนวนหนึ่งที่อายุการทำงานเกิน 1 ปีขึ้นไป แต่นายจ้างยังจ่ายค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ ซึ่งแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือและแรงงานฝีมือบางส่วนที่ได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำมีอยู่ประมาณ 2 ล้านคนทั่วประเทศ
สาระสำคัญของร่างประกาศ
ด้วยคณะกรรมการค่าจ้างได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นตามแนวทางในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552 และมีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79 (3) และมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 คณะกรรมการค่าจ้างจึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 และประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2551
ข้อ 2 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสองร้อยหกบาท ในท้องที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการ
ข้อ 3 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสองร้อยห้าบาท ในท้องที่จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร
ข้อ 4 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสองร้อยสี่บาท ในท้องที่จังหวัดภูเก็ต
ข้อ 5 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยแปดสิบสี่บาท ในท้องที่จังหวัดชลบุรี และสระบุรี
ข้อ 6 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยแปดสิบเอ็ดบาท ในท้องที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข้อ 7 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยแปดสิบบาท ในท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
ข้อ 8 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยเจ็ดสิบแปดบาท ในท้องที่จังหวัดระยอง
ข้อ 9 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยเจ็ดสิบสามบาท ในท้องที่จังหวัดนครราชสีมา พังงา และระนอง
ข้อ 10 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยเจ็ดสิบเอ็ดบาท ในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่
ข้อ 11 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยเจ็ดสิบบาท ในท้องที่จังหวัดกระบี่ ปราจีนบุรี และลพบุรี
ข้อ 12 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยหกสิบเก้าบาท ในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี
ข้อ 13 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยหกสิบแปดบาท ในท้องที่จังหวัดเพชรบุรี
ข้อ 14 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดบาท ในท้องที่จังหวัดจันทบุรี และราชบุรี
ข้อ 15 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยหกสิบห้าบาท ในท้องที่จังหวัดสิงห์บุรี และอ่างทอง
ข้อ 16 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยหกสิบสี่บาท ในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ข้อ 17 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยหกสิบสามบาท ในท้องที่จังหวัดเลย สมุทรสงคราม และสระแก้ว
ข้อ 18 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยหกสิบสองบาท ในท้องที่จังหวัดตรัง
ข้อ 19 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยหกสิบเอ็ดบาท ในท้องที่จังหวัดสงขลา
ข้อ 20 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยหกสิบบาท ในท้องที่จังหวัดชุมพร ตราด นครนายก นราธิวาส ยะลา ลำพูน และอุบลราชธานี
ข้อ 21 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยห้าสิบเก้าบาท ในท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัตตานี พัทลุง สตูล สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุดรธานี
ข้อ 22 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยห้าสิบแปดบาท ในท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร ชัยนาท นครสวรรค์ สุพรรณบุรี และอุทัยธานี
ข้อ 23 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยห้าสิบเจ็ดบาท ในท้องที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น เชียงราย บุรีรัมย์ ยโสธร ร้อยเอ็ด และสกลนคร
ข้อ 24 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยห้าสิบหกบาท ในท้องที่จังหวัดชัยภูมิ ลำปาง และหนองบัวลำภู
ข้อ 25 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยห้าสิบห้าบาท ในท้องที่จังหวัดนครพนม เพชรบูรณ์ มุกดาหาร และอำนาจเจริญ
ข้อ 26 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยห้าสิบสี่บาท ในท้องที่จังหวัดมหาสารคาม
ข้อ 27 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยห้าสิบสามบาท ในท้องที่จังหวัดตาก พิษณุโลก สุโขทัย สุรินทร์ และอุตรดิตถ์
ข้อ 28 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยห้าสิบสองบาท ในท้องที่จังหวัดน่านและ ศรีสะเกษ
ข้อ 29 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยห้าสิบเอ็ดบาท ในท้องที่จังหวัดพะเยา พิจิตร แพร่ และแม่ฮ่องสอน
ข้อ 30 เพื่อประโยชน์ตามข้อ 1 ถึงข้อ 29 คำว่า “วัน” หมายถึง เวลาทำงานปกติของลูกจ้าง ซึ่งไม่เกินชั่วโมงทำงานดังต่อไปนี้ แม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติเพียงใดก็ตาม
(1) เจ็ดชั่วโมง สำหรับงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
(2) แปดชั่วโมง สำหรับงานอื่นซึ่งไม่ใช่งานตาม (1)
ข้อ 31 ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
ข้อ 32 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2552 --จบ--