แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553-2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2009 14:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. รับทราบความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553-2557

2. เห็นชอบกำหนดแนวทางการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการกิจการรถไฟ ตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 16/2552 และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการกิจการรถไฟในรายละเอียดให้มีความชัดเจนทั้งในด้านระยะเวลาและแผนปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบรูปแบบโครงสร้างการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขของความสำเร็จของแผนการลงทุนฯ โดยเร็ว

3. มอบหมายกระทรวงคมนาคม จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม และจัดส่งให้สำนักงานฯ พิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณาภายใน 45 วัน นับจากวันที่สำนักงานฯ ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากกระทรวงคมนาคม

สาระสำคัญของเรื่อง

ความเห็นเบื้องต้นของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทยระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553 — 2557 มีความเห็นเบื้องต้น ดังนี้

1. แผนการลงทุนฯ ที่เสนอ เป็นการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาประสิทธิภาพการดำเนินงานและการให้บริการขนส่งทางรถไฟ มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่เน้นการพัฒนาการให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกทางรถไฟให้ได้มาตรฐาน เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และลดต้นทุนการขนส่ง นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (2550-2554) ในด้านการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งจากถนนสู่รางเพิ่มขึ้น และสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานในภาคขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ

2. อย่างไรก็ตาม แผนการลงทุนฯ ที่เสนอ เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะในด้านกายภาพ ซึ่งยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจและหลักประกันได้ว่า รฟท. จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการให้บริการได้ตามวัตถุประสงค์ของแผนการลงทุน โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพการให้บริการในกิจการรถไฟได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องปรับโครงสร้างการบริหารจัดการกิจการรถไฟของประเทศทั้งระบบอย่างจริงจัง ซึ่งหากจะพิจารณาจากมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาหลายครั้งที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการของ รฟท. จะเห็นว่า ยังไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

3. คณะกรรมการฯ เห็นว่า การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการกิจการรถไฟของประเทศ จะต้องมีความชัดเจนใน 2 ประการคือ

1. หลักการของการปรับโครงสร้างฯ รัฐบาลควรเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางราง เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟมีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยอาจพิจารณาแยกบทบาทการให้บริการขนส่งทางรถไฟระหว่างการให้บริการพื้นฐานและบริการเชิงพาณิชย์ที่ชัดเจนเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการกิจการรถไฟ และการปรับโครงสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาบุคลากร และฟื้นฟูฐานะการเงินขององค์กร ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความเชื่อมั่นในบริการมากขึ้น โดยการดำเนินการต้องสร้างความเข้าใจกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย

2. แนวทางการดำเนินการ ภายใต้หลักการข้างต้น คณะกรรมการฯ เห็นควรให้จัดตั้งส่วนราชการ เพื่อทำหน้าที่ก่อสร้าง บำรุงรักษา และกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ให้มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนและรับภาระการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางรางทั้งหมดในลักษณะเดียวกับการบริหารจัดการการขนส่งทางถนนซึ่งมีกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการ เป็นต้น และในส่วนของการให้บริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร อาจจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจหรือบริษัทลูก และ/หรือให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนและให้บริการ ขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเชิงพาณิชย์ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนของการสนับสนุนงบประมาณลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานทางรางได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจในคราวประชุมครั้งที่ 16/2552 วันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 มีมติเห็นชอบในหลักการของการปรับโครงสร้างองค์กรของ รฟท. ที่จะจัดตั้งหน่วยธุรกิจ จำนวน 3 หน่วยธุรกิจ ได้แก่ หน่วยเดินรถ หน่วยทรัพย์สิน และหน่วยซ่อมบำรุง และจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อให้บริการโครงการ Airport Rail Link ดังนั้น คณะกรรมการฯ เห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการกิจการรถไฟของประเทศตามความเห็นของคณะกรรมการฯ หรือเห็นควรดำเนินการตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจข้างต้น เพื่อที่กระทรวงคมนาคมจะได้เร่งดำเนินการจัดทำแผนการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการกิจการรถไฟในรายละเอียดที่มีความชัดเจนทั้งในด้านระยะเวลาและแผนการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนดำเนินการตามแผนการลงทุนฯ ต่อไป

4. สำหรับแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553 — 2557 ตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมนั้น เห็นควรให้กระทรวงคมนาคมจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาในชั้นสุดท้าย ดังนี้

4.1 การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด แผนการลงทุนฯ ที่เสนอควรต้องสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานและการให้บริการของ รฟท. ทั้งในด้านการเพิ่มความปลอดภัย ความตรงต่อเวลา ความเร็ว และลดต้นทุนการขนส่ง การเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากถนนสู่รางและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่งของประเทศ โดยจะต้องกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดในเชิงปริมาณที่ชัดเจนทั้งในช่วงระหว่างการดำเนินงานและหลังจากดำเนินการแล้วเสร็จ

4.2 แผนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ จำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมของเส้นทาง โดยคำนึงถึงการประมาณปริมาณความต้องการเดินรถ ความจุของทางในโครงข่ายรถไฟทั่วประเทศ และการจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่และเส้นทาง รวมทั้งภาพรวมการพัฒนารถไฟทางเดี่ยว ทางคู่ และการพัฒนารถไฟความเร็วสูงในอนาคต เพื่อให้การลงทุนมีความคุ้มค่าและสามารถขนส่งผู้โดยสารและสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ควรรวมโครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทาง ฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า — แก่งคอย ไว้ภายใต้แผนการลงทุนที่เสนอ เพื่อให้เห็นภาพรวมการลงทุนในช่วงระยะเวลาดังกล่าวที่ครบถ้วนสมบูรณ์

4.3 ขนาดการลงทุนตามแผนที่เสนอ โดยอาจพิจารณากำหนดแผนการดำเนินงานเป็นระยะ (Phasing) ซึ่งในระยะแรกควรพิจารณาให้สอดคล้องกับกรอบวงเงิน 153,053 ล้านบาท ตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 16/2552 พร้อมทั้งพิจารณาทางเลือกในการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในโครงการและกิจกรรมที่มีศักยภาพที่อาจให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนได้ เช่น การพัฒนาระบบโทรคมนาคม การให้บริการขนส่งผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ระดับ Premium และการพัฒนาสถานีย่านกองเก็บตู้สินค้า (CY) เป็นต้น เพื่อลดภาระการลงทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทยและภาครัฐ ต่อไป

4.4 ความครบถ้วนของแผนงาน/โครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารตามเป้าหมาย ได้แก่ การจัดหาตู้รถโดยสารเพื่อแก้ไขปัญหาความพร้อมใช้งาน (Availability) ของรถตู้โดยสาร การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการขนส่งสินค้า เช่น แผนการก่อสร้างสถานี ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เป็นต้น เพื่อให้สามารถพิจารณาภาพรวมการลงทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้อย่างครบถ้วนต่อไป

4.5 การเชื่อมโยงแผนการดำเนินงานและงบประมาณกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างโครงข่ายถนนและโครงข่ายรถไฟ จำเป็นต้องบูรณาการการดำเนินการระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการเชื่อมโยงการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟกับแผนการดำเนินการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งจากถนนสู่ระบบรางตามเป้าหมาย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ