สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งซอติก้าจากประเทศสหภาพพม่า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2009 14:31 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งซอติก้าจากประเทศสหภาพพม่าตามมติ

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2552 (ครั้งที่ 129)

คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. รับทราบมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ( กพช.) ครั้งที่ 7/2552 (ครั้งที่ 129) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 ที่ได้ให้ความเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่ง ซอติก้า จากประเทศสหภาพพม่า โดยมอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งซอติก้า เมื่อร่างสัญญาฯ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว

2. อนุมัติให้ใช้เงื่อนไขการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่ง ซอติก้า จากประเทศสหภาพพม่า

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งซอติก้า

(1) แหล่งซอติก้า ตั้งอยู่ในแปลง M9 และ M11 (บางส่วน) ในอ่าวเมาะตะมะ ประเทศสหภาพพม่า ซึ่งมีกลุ่มผู้ขายก๊าซฯประกอบด้วย Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) และบริษัท PTTEP International Limited (PTTEPI) (เป็น Operator) มีปริมาณสำรองก๊าซฯเริ่มต้น 1.4 ล้านล้านลบ.ฟุต ซึ่งเพียงพอที่จะผลิตก๊าซฯ ในเชิงพาณิชย์ได้ประมาณ 300 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และจะสามารถพัฒนาและพร้อมผลิตก๊าซฯ ได้ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป

(2) ปตท. ได้ดำเนินการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับกลุ่มผู้ขายก๊าซฯจนบรรลุข้อยุติ โดยสาระสำคัญใกล้เคียงกับสัญญาซื้อขายก๊าซฯแหล่งยาดานาและเยตากุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้

  • อายุสัญญา 30 ปี นับจากวันที่เริ่มส่งก๊าซฯ หรือ เมื่อปริมาณสำรองหมด หรือเมื่อ Production Sharing Contract หมดอายุ แล้วแต่กรณีใดเกิดขึ้นก่อน
  • จุดส่งมอบอยู่ที่ชายแดนไทย-พม่า บ้านอิต่อง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  • วันเริ่มส่งก๊าซฯอยู่ในช่วงเดือนเมษายน - ธันวาคม 2556
  • ปริมาณผลิตก๊าซฯรวม เท่ากับ 300 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน แบ่งเป็นของตลาดก๊าซฯ ภายในประเทศ สหภาพพม่าจำนวน 60 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และส่วนปริมาณที่เหลือ จำนวน 240 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน เป็นปริมาณซื้อขายก๊าซฯรายวันตามสัญญาของ ปตท. และถ้าหากในอนาคต มีการสำรวจพบปริมาณสำรองก๊าซฯเพิ่มขึ้น ปริมาณซื้อขายก๊าซฯ ก็จะปรับเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนข้างต้น
  • ผู้ขายก๊าซฯต้องเตรียมความสามารถส่งก๊าซฯเท่ากับร้อยละ 115 ของปริมาณซื้อขายก๊าซฯ รายวัน
  • ปตท. จะต้องรับก๊าซฯขั้นต่ำในแต่ละวันไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ของปริมาณซื้อขายก๊าซฯ รายวัน
  • เงื่อนไข Take-or-Pay เท่ากับร้อยละ 100 ของปริมาณรับก๊าซฯสุทธิในแต่ละปีสัญญา ทั้งนี้ ปตท. มีสิทธิที่จะเรียกรับก๊าซฯที่ได้จ่ายเงินค่า Take-or-Pay ไป โดยไม่ต้องชำระเงินอีก (Make-up) ภายหลังจากที่รับก๊าซฯครบตามปริมาณขั้นต่ำของเดือนนั้นๆ แล้ว
  • ถ้า ปตท. สามารถรับก๊าซฯเกินกว่าปริมาณขั้นต่ำในปีสัญญาใดๆ ปตท. มีสิทธินำปริมาณส่วนเกินดังกล่าว (Carry Forward Gas) ไปลดปริมาณรับก๊าซฯขั้นต่ำในปีสัญญาถัดๆ ไปได้ ภายในเวลา 5 ปี โดยสามารถใช้สิทธิได้ครั้งละไม่เกินร้อยละ 15 ของปริมาณรับก๊าซฯขั้นต่ำในปีสัญญานั้นๆ
  • ในกรณีที่ผู้ขายส่งก๊าซฯต่ำกว่าปริมาณที่ ปตท. เรียกรับในแต่ละวัน ปตท. สามารถเรียกรับก๊าซฯ ในปริมาณที่เท่ากับปริมาณที่ขาดส่งในราคาร้อยละ 75 ของราคาตามสัญญาฯ
  • เมื่อปริมาณการผลิตก๊าซฯสะสมเกินกว่าร้อยละ 62.5 ของปริมาณสำรองก๊าซฯ ผู้ขายมีสิทธิลด ปริมาณซื้อขายก๊าซฯลงได้ (Post Plateau Period) โดยแจ้งให้ ปตท. ทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 12 เดือน นอกจากนี้ ในช่วง Post Plateau Period ถ้า ปตท. ยังมีปริมาณ Take-or-Pay คงเหลืออยู่ คู่สัญญาจะมาเจรจาหาวิธีให้ ปตท. สามารถ Make-Up ให้ได้หมดก่อนที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาฯ
  • ในกรณีที่ผู้ขายพบปริมาณสำรองก๊าซฯเพิ่มเติมในแปลง M3, M4, M7 หรือ M11 ปตท. มี First right ในการซื้อก๊าซฯดังกล่าว (ภายหลังจากการแบ่งสรรก๊าซฯ ให้ตลาดพม่าแล้ว)
  • ในกรณีถ้าก๊าซฯผิดข้อกำหนดคุณภาพและแรงดัน ปตท. มีสิทธิปฏิเสธการรับก๊าซฯ หรือ ยอมรับก๊าซฯที่ผิดคุณภาพ และ เรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ขายตามที่กำหนดในสัญญา
  • แรงดันก๊าซฯไม่เกินกว่า 950 psia (ปอนด์ต่อตางรางนิ้ว) แต่ถ้าในอนาคตมีปริมาณซื้อขายก๊าซฯจากแหล่งซอติก้า หรือ ยาดานา หรือ เยตากุน เพิ่มขึ้น ผู้ขายจะต้องเพิ่มแรงดันก๊าซฯ แต่ไม่เกิน 1,250 psia เว้นแต่จะตกลงเป็นอย่างอื่น
  • ราคาและสูตรปรับราคาก๊าซฯเหมือนกับแหล่งยาดานาและเยตากุน
  • สัญญาฯใช้กฎหมายอังกฤษ
  • การยุติข้อพิพาท ให้ยุติด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการ โดยใช้ UNCITRAL Model Law และดำเนินการที่ประเทศสิงคโปร์

ทั้งนี้ ปตท. ได้ส่งร่างสัญญาซื้อขายก๊าซฯได้ให้สำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา

(3) สำหรับการนำเข้าก๊าซฯจากแหล่งซอติก้า ในปริมาณซื้อขายก๊าซฯ 240 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณซื้อขายก๊าซฯของแหล่งยาดานาและเยตากุน จำนวน 565 และ 400 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ตามลำดับ จะทำให้มีปริมาณก๊าซฯจากฝั่งตะวันตกรวมทั้งสิ้นเป็น 1,205 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ซึ่งเพียงพอต่อ การใช้ก๊าซฯในโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังเพียงพอต่อการขยายการใช้ก๊าซฯในภาคขนส่ง (NGV) และอุตสาหกรรมด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าของประเทศใช้ก๊าซฯส่วนใหญ่ ดังนั้น เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์จากการจัดหาก๊าซฯที่เพิ่มขึ้น จึงเห็นควรที่จะให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ โรงไฟฟ้า IPP ใช้ก๊าซฯในฝั่งตะวันตก ไม่ต่ำกว่า 830 พันล้านบีทียูต่อวัน (ประมาณ 964 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน) ซึ่งเป็นปริมาณก๊าซฯที่ กฟผ. และโรงไฟฟ้า IPP สามารถจัดการได้ นอกจากนี้ ในการจัดหาก๊าซฯจากแหล่งซอติก้าเพิ่มเติม อาจมีผลให้ค่าความร้อนเฉลี่ยของก๊าซฯในฝั่งตะวันตกเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ซึ่ง ปตท. และ กฟผ. จะต้องร่วมมือกันเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวต่อไป

เหตุผลความจำเป็นในการขอใช้วิธีอนุญาโตตุลาการ

โดยที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 ได้มีมติเกี่ยวกับสัญญาทุกประเภทที่หน่วยงานของรัฐทำกับเอกชนในไทยหรือต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางการปกครองหรือไม่ ไม่ควรเขียนผูกมัดในสัญญาให้มอบข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด แต่หากมีปัญหาหรือความจำเป็นหรือเป็นข้อเรียกร้องของคู่สัญญาอีกฝ่ายที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเป็นรายๆ ไป แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งซอติก้า จากประเทศสหภาพพม่า ใช้รูปแบบสัญญาโดยยึดหลักการการระงับข้อพิพาทเช่นเดียวกับสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่ง ยาดานาและเยตากุนเดิม ซึ่งกำหนดเงื่อนไขการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ กระทรวงพลังงาน จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ