คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 9/2552
2. เห็นชอบมติคณะกรรมการ กรอ. และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการ กรอ. ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ แล้วรายงานให้คณะกรรมการ กรอ. และคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 9/2552 มีดังนี้
1. การกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
1.1 สาระสำคัญ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอที่ประชุมพิจารณา ดังนี้
1.1.1 กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนในการกำหนดให้สินค้าใดเป็นสินค้าควบคุม โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กล่าวคือสินค้าและบริการนั้น มีการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่าย หรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
1.1.2 ทบทวนความเหมาะสมในการกำกับดูแลสินค้าและมาตรการต่างๆ ที่กำหนดไว้กับสินค้าที่ต้องติดตามดูแล (Watch List ซึ่งประกอบด้วย Sensitive Watch List, Priority Watch List และ Watch List) โดยการแยกหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการกำหนดและกำกับดูแลกลุ่มสินค้าที่ต้องติดตามดูแลให้ชัดเจน และแตกต่างจากกลุ่มสินค้าควบคุม
1.1.3 ทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ขึ้นราคาสินค้าและบริการของสินค้าควบคุม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขันและกลไกตลาด ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต และการจัดจำหน่าย
1.1.4 จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลและตัวแทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยตรง ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อสร้างความชัดเจนในการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการกำหนดหรือทบทวนรายการสินค้าและราคาสินค้า ของทั้งกลุ่มสินค้าควบคุมและกลุ่มสินค้าที่ต้องติดตามดูแล
1.1.5 ขอการสนับสนุนจากภาครัฐในการทำโครงการศึกษาวิจัย “แนวทางในการกำหนดราคาสินค้าและบริการที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย” ของ กกร. ซึ่งมีเป้าหมายที่จะจัดทำเอกสารงานวิจัยเชิงกลยุทธ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านผู้บริโภค และด้านแรงงาน เพื่อจะได้นำไปสู่การกำหนดนโยบาย และจัดทำแผนปฏิบัติการที่สามารถปฏิบัติได้จริง
1.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนการค้าไทย โดยให้อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน และผู้แทนกรมการค้าภายในและภาคเอกชน เป็นเลขานุการร่วม เพื่อทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดสินค้าควบคุม แนวทางการกำกับดูแลราคาสินค้าเฝ้าระวัง และหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาการขึ้นราคาสินค้าและบริการ โดยคำนึงถึงกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางและนโยบายในเรื่องราคาสินค้าและบริการที่เหมาะสมต่อไป แล้วนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรายงานคณะกรรมการ กรอ. ภายใน 2 เดือน
2. ขออนุมัติเปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนย ปี 2552 เพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการกลุ่มนิติบุคคลที่ 2
2.1 สาระสำคัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอที่ประชุมพิจารณาการอนุมัติให้เปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนย ปี 2552 เพิ่มเติม จำนวน 2,569.42 ตัน ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป (กลุ่มนิติบุคคลที่ 2) เนื่องจากเกินสัดส่วนร้อยละ 20 ที่กำหนดตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 โดยให้กำหนดอัตราภาษีร้อยละ 5 และให้นำเข้ามีกำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552 ให้นำเรื่องเสนอคณะกรรมการ กรอ. พิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
2.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งรัดแจ้งผลการจัดสรรโควตาการนำเข้านมผงปี 2553 ให้กระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำไปดำเนินการออกประกาศโควตานำเข้านมผงสำหรับปี 2553 เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และในกรณีที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีความต้องการนำเข้านมผงเพิ่มเติม ให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
3. ผลการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 27
3.1 สาระสำคัญ หอการค้าไทยเสนอผลการจัดการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 27
ระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2552 ณ จังหวัดเชียงใหม่ และได้จัดทำ “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจประเทศไทย” เสนอต่อ นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มีบัญชาให้นำเสนอต่อคณะกรรมการ กรอ. เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยประกอบด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจประเทศไทย 6 ยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์การพัฒนา 7 กลุ่มธุรกิจ และยุทธศาสตร์การพัฒนา 18 กลุ่มจังหวัด
3.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ กรอ. รับไปพิจารณาประกอบในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์เศรษฐกิจประเทศไทย ของหอการค้าไทย โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดนั้น ให้ประสานคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) และกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณานำยุทธศาสตร์ 18 กลุ่มจังหวัด ของหอการค้าไทย ไปใช้ประกอบในการขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่ควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดของภาครัฐต่อไป
4. ความคืบหน้าข้อเสนอมาตรการภาษี
4.1 สาระสำคัญ กระทรวงการคลัง รายงานความคืบหน้าข้อเสนอมาตรการภาษีของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งเป็นผลจากการพิจารณาของคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอมาตรการภาษีของ กกร.) ที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์) เป็นประธาน โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญ ได้แก่
4.1.1 การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Provision of tax incentive for tourism industry) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของภาคธุรกิจในปี 2552-2553 โดยเฉพาะธุรกิจด้านโรงแรม โดยมีการดำเนินการ ดังนี้ (1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีสรรพสามิตให้แก่สถานบริการประเภทอาบน้ำหรืออบตัวและนวดในสถานบริการเสริมความงามหรือเพื่อสุขภาพ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2552 (2) ธนาคารออมสินได้เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาภายในประเทศ ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และให้ธนาคารออมสินและ ธพว. ผ่อนปรน หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ และ (3) อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงภาวะวิกฤติเพิ่มเติม เช่น การหักค่าใช้จ่ายอัตราพิเศษสำหรับการเปิดบูธในต่างประเทศ และหักค่าเสื่อมราคาปรับปรุงโรงแรมในอัตราเร่ง เป็นต้น
4.1.2 การผ่อนปรนเงื่อนไขการจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (reducing the requirement from ROH) โดยผ่อนปรนให้ ROH สามารถให้บริการวิสาหกิจในเครือหรือสาขาที่อยู่นอกประเทศได้ 3 สาขาภายในระยะเวลา 5 ปี ได้มีการดำเนินการ อาทิ (1) อยู่ระหว่างการดำเนินการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ดังกล่าวตามข้อเสนอ โดยต้องมีการกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประเทศไทย และ (2) อยู่ระหว่างการดำเนินการทบทวนมาตรการ ROH โดยอย่างน้อยต้องให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และไม่ควรให้สิทธิด้อยกว่าประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งนี้จะได้มีการพิจารณาประเด็นภาษี และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ในคณะอนุกรรมการพัฒนานโยบายส่งเสริมการลงทุนกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคโดยเร็วต่อไป
4.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
รับทราบ และมอบหมายให้กระทรวงการคลังเสนอรายงานผลการพิจารณามาตรการภาษีต่อคณะกรรมการ กรอ. อีกครั้งหนึ่ง ภายในเดือนมกราคม 2553
5. ความคืบหน้าการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67
5.1 สาระสำคัญ สศช. รายงานว่าคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2552 ได้พิจารณาเรื่อง ความคืบหน้าการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67 ตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2552 โดยคณะรัฐมนตรีมีข้อสรุปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบแต่มีเหตุผลและข้อมูลสนับสนุนในการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจากการพิจารณารายละเอียดโครงการทั้ง 65 โครงการในเบื้องต้น ปรากฏว่ามีโครงการที่อยู่ในข่ายที่จะสามารถให้ข้อมูลชี้แจงเพิ่มเติมจำนวน 42 โครงการ (โครงการดำเนินการแล้ว 11 โครงการ ก่อสร้างแล้วเสร็จ 9 โครงการ และ กำลังก่อสร้าง 22 โครงการ) โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 เป็นโครงการที่คิดว่ามีเหตุผลเพียงพอในการขอผ่อนผันการคุ้มครองชั่วคราว จำนวน 19 โครงการ และ กลุ่มที่ 2 เป็นโครงการที่ต้องหาเหตุผลอื่นในการขอผ่อนผันต่อศาล จำนวน 23 โครงการ ซึ่งคณะกรรมการ กรอ. ได้มีความเห็น ดังนี้
5.1.1 ภายหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมที่เข้าข่ายต้องดำเนินการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสอง เป็นการชั่วคราว ภาครัฐได้พยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยความรอบคอบ ให้เกิดการยอมรับได้ของทุกฝ่าย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำในลักษณะเดิมอีก โดยผ่านกลไกการทำงานของคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่าย และในการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งต่อไปจะมีการพิจารณาเรื่องประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเดิมคณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบแล้วแต่ยังไม่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากมีการทักท้วง โดยจะตัดประเด็นเรื่ององค์การอิสระออกไปก่อน ทั้งนี้ ประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะมีการพิจารณาใหม่จะเป็นการรวมแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
5.1.2 สำหรับการดำเนินการเฉพาะหน้า ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมตรวจสอบข้อมูลสถานะโครงการซึ่งเดิมศาลสั่งระงับจำนวน 76 โครงการ ต่อมาได้มีคำสั่งยกเว้น 11 โครงการ คงเหลือโครงการที่ถูกศาลสั่งระงับจำนวน 65 โครงการ และจากข้อมูลการตรวจสอบสถานะโครงการของหน่วยงานปรากฏว่ามี 23 โครงการ ที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างหรือเริ่มดำเนินการซึ่งจะต้องไปดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ ทำให้เหลือโครงการที่อยู่ในเกณฑ์การพิจารณาที่จะขอผ่อนผันต่อศาล 42 โครงการ
5.1.3 จากรายละเอียดข้อมูลสถานภาพของ 42 โครงการ แบ่งเป็นกลุ่มโครงการที่มีเหตุผลเพียงพอในการขอผ่อนผันต่อศาลจำนวน 19 โครงการ เนื่องจากมีลักษณะโครงการเข้าเกณฑ์เหมือนกับ 11 โครงการที่ศาลมีคำสั่งยกเว้น ซึ่งได้ให้ภาคเอกชนยื่นข้อมูลเพื่อขอผ่อนผันต่อศาลเป็นรายๆ ไป และอีก 23 โครงการ มี 15 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ได้ขอให้เอกชนที่คิดว่าโครงการหรือกิจกรรมนั้นไม่ก่อให้เกิดผลกระทบตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ทำคำขอยื่นต่อศาลให้สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ โดยเอกชนยอมรับความเสี่ยงหากในอนาคตศาลพิจารณาเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีผลกระทบและต้องหยุดกิจการ ส่วนที่เหลือ 8 โครงการ ต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งว่าจะมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะเสนอต่อศาลได้หรือไม่ ซึ่งดำเนินการในแนวทางนี้ไม่ได้ จะได้พิจารณาหาแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ต่อไป โดยในเบื้องต้นเห็นว่ามี 7 โครงการ ที่ดำเนินการแล้วน่าจะมีเหตุผลเพียงพอที่จะยื่นต่อศาลเช่นเดียวกับกลุ่มของ 19 โครงการ
5.1.4 ขณะนี้มีสถาบันการเงินหลายแห่งไม่ยอมปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลซึ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุน ดังนั้น หน่วยงานสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เป็นต้นควรมีการส่งสัญญาณเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าคำสั่งศาลปกครองไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อ เพราะข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อธนาคารเพิ่มขึ้น
5.1.5 ภาคเอกชนมีข้อกังวลว่าการดำเนินการตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญฯ ต้องใช้เวลานาน ประกอบกับมีบางโครงการที่ได้มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านสุขภาพไปบ้างแล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรมีการจัดทำคู่มือกรอบแนวทางดำเนินการ และระยะเวลาในกรณีที่เป็นโครงการที่จะดำเนินการต่อยอดจากที่ได้มีการประเมินผลไว้แล้วด้วย
5.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
รับทราบและขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการ กรอ. ไปประกอบการพิจารณาในการดำเนินการต่อไปด้วย
6. ผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 21
6.1 สาระสำคัญ กระทรวงพาณิชย์รายงานผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 21 ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญในเรื่อง “การเติบโตอย่างยั่งยืน และการเชื่อมโยงในภูมิภาค” หรือ “Sustaining Growth, Connecting the Region” โดยมีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับภาคเอกชนเรื่องแผนงาน Ease of Doing Business ของเอเปค ที่ให้ความสำคัญกับการลดอุปสรรคทางกฎระเบียบ ตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ (The Ease of Doing Business Action Plan) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายให้สามารถลดต้นทุน ระยะเวลา และจำนวนขั้นตอนลงร้อยละ 25 ภายในปี 2558 ใน 5 เรื่องสำคัญ ตามเกณฑ์การวัดของธนาคารโลก ได้แก่ (1) การเริ่มต้นธุรกิจ (2) การได้รับสินเชื่อ (3) การค้าชายแดน (4) การบังคับตามสัญญา และ (5) การขอใบอนุญาต อีกทั้งกำหนดให้ลดค่าใช้จ่ายทางด้านธุรกรรมลงร้อยละ 5 ภายในปี 2554 และให้มีประสานการทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งในเรื่องนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ประสานการดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจให้เกิดผลสำเร็จต่อเนื่องต่อไป
6.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
รับทราบ และมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานประสานและบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจให้เกิดผลสำเร็จต่อเนื่องต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2552 --จบ--