การขอผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2009 15:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ดังนี้

1. ขยายระยะเวลาการจัดซื้ออาหารสด (ปลา สัตว์น้ำ เนื้อสัตว์ พืชผัก) และวัสดุสำหรับปรุงอาหารด้วยวิธีการเดิมออกไปอีก 3 เดือน (วันที่ 1 มกราคม — 31 มีนาคม 2553) และให้ส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุพิจารณาในประเด็นการขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมต่อไป

2. ขยายระยะเวลาการทดลองนำร่องการซื้อ-ขายผลไม้ระหว่างกรมราชทัณฑ์กับกรมส่งเสริมการเกษตรออกไปอีก 3 เดือน (วันที่ 1 มกราคม — 31 มีนาคม 2553) โดยเพิ่มพื้นที่จังหวัดนำร่องให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ กำหนดให้เกษตรกรสามารถจัดส่งผลไม้ข้ามพื้นที่และข้ามจังหวัดได้ ขยายประเภทผลไม้ให้ครอบคลุมถึงพืชอื่นที่รับประทานแทนผลไม้ได้ เช่น แห้ว มันแกว ข้าวโพด อ้อย มันเทศ เผือก และถั่วลิสง เป็นต้น รวมถึงประชาสัมพันธ์เพิ่มจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการศึกษาผลลัพธ์และผลกระทบที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพทางภูมิศาสตร์ กรมราชทัณฑ์กับกรมส่งเสริมการเกษตรจะได้สามารถวางระบบการจัดซื้อผลไม้ในภาพรวมทั้งประเทศไทยโดยสะดวกนักโทษ/ผู้ต้องขังไม่เกิดภาวะจำเจในการบริโภคผลไม้ เกษตรกรในพื้นที่ที่ผลผลิตมากล้นสามารถเพิ่มช่องทางในการระบายผลไม้ กรมราชทัณฑ์สามารถมีผลไม้ที่หลากหลายชนิดและราคาให้เลือกสรร ขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตรสามารถศึกษาระบบการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อรองรับต่อช่วงฤดูผลไม้ล้นตลาดซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างเดือนเมษายน — สิงหาคม ของทุกปี

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) รายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552, วันที่ 29 กันยายน 2552, และวันที่ 13 ตุลาคม 2552 ตามลำดับ นั้น ยธ. ได้ดำเนินการ ดังนี้

1. ผลการดำเนินงาน

1.1 การจัดซื้ออาหารสด (ปลา สัตว์น้ำ เนื้อสัตว์ พืชผัก) และวัสดุสำหรับปรุงอาหาร

กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการจัดซื้ออาหารสดและวัสดุ สำหรับปรุงอาหารจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และองค์การตลาด (อต.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และได้รวบรวมปริมาณความต้องการอาหารสดของรายการอาหารในแต่ละมื้อ/แต่ละวันจากเรือนจำทัณฑสถานทั่วประเทศ จำนวน 141 แห่ง ซึ่งมีรายละเอียดในการดำเนินการค่อนข้างมาก เช่น กระบวนการและขั้นตอนในการคัดเลือกคุณภาพของอาหารสด การจัดหาอุปกรณ์และสถานที่ในการเก็บรักษาอาหารสด การจัดซื้อ การวางระบบการจัดซื้อ และการชำระราคา เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลมากำหนดแนวทางการจัดซื้ออาหารสดเองในโอกาสต่อไป และขณะนี้กรมราชทัณฑ์อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลปริมาณความต้องการ และวางระบบการจัดซื้อปลาและสัตว์น้ำ กับองค์การสะพานปลา กษ.

1.2 การจัดซื้อผลไม้

กรมราชทัณฑ์และกรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมกันทดลองให้เรือนจำ/ทัณฑสถาน จัดซื้อผลไม้จากเกษตรกรในพื้นที่โดยตรง ตามโครงการนำร่องใน 4 ภาค ๆ ละ 2 จังหวัด และจังหวัดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 1 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย น่าน ชัยนาท ปทุมธานี เลย นครราชสีมา ชลบุรี จันทบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช และนราธิวาส โดยเรือนจำ/ทัณฑสถานได้ร่วมหารือกับเกษตรจังหวัดในการจัดทำรายการปฏิทินการจำหน่ายผลไม้ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นชอบที่จะจัดซื้อผลไม้กับกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มส่งเสริมอาชีพ เนื่องจากปริมาณความต้องการผลไม้ของเรือนจำ/ทัณฑสถานมีค่อนข้างมาก ขณะที่เกษตรกรรายย่อยมีปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอและไม่สม่ำเสมอ โดยเกษตรกรจะหมุนเวียนจัดส่งผลผลิตให้กับเรือนจำ/ทัณฑสถานตามลำดับที่ได้ขึ้นบัญชีไว้กับเกษตรอำเภอและเกษตรจังหวัด

3. ปัญหาและอุปสรรค

3.1 ผลไม้ที่เกษตรกรจัดส่งให้กับเรือนจำ/ทัณฑสถานเป็นผลไม้ที่เกษตรกรปลูกเองในพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ จึงทำให้บางจังหวัดมีผลไม้จำหน่ายเพียงชนิดเดียว เช่น จังหวัดปทุมธานีมีกล้วยน้ำว้า หรือจังหวัดนครศรีธรรมราชมีส้มโอเท่านั้น ซึ่งทางเรือนจำ/ทัณฑสถานได้แจ้งทางเกษตรจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว

3.2 จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากเกษตรกรโดยทั่วไปมักจะมีปริมาณผลผลิตน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของเรือนจำ/ทัณฑสถาน จึงทำให้ต้องรวมกันเป็นกลุ่มเกษตรกร เพื่อจะได้มีผลไม้มากเพียงพอกับความต้องการของเรือนจำ/ทัณฑสถาน

3.3 เรือนจำ/ทัณฑสถานมีข้อจำกัดเรื่องประเภทของผลไม้ที่จะจำหน่ายให้แก่ผู้ต้องขัง โดยคุณสมบัติที่สำคัญของผลไม้ เช่น ราคาต่อหน่วยไม่แพงจนเกินไป มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน สะดวกแก่การปอกหรือตัดแบ่ง และไม่สามารถนำไปแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ได้ เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ