โครงการ “2553 ปีแห่งความปลอดภัย”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2009 15:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบโครงการ “2553 ปีแห่งความปลอดภัย” ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคมกำหนดให้ปี พ.ศ. 2553 เป็นปีแห่งความปลอดภัยของการขนส่งและการเดินทางของประชาชน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “คมนาคมปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข” โดยมีเป้าหมายที่จะลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีมูลค่าถึงปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท และลดผลกระทบทางสังคมอันเกิดจากอุบัติเหตุก่อให้เกิดความ สูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และผู้พิการ ที่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5,000 คน โดยได้จัดทำโครงการ “2553 ปีแห่งความปลออดภัย” ขึ้น และได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2552 เป็นต้นมา ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินงาน

กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเร่งรัดดำเนินการตามยุทธศาสตร์“คมนาคม ปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข” โดยจัดทำแผนงาน โครงการ มาตรการ และกิจกรรมรองรับ ทั้งในเรื่องพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐาน (Engineering) การเข้มงวด กวดขัน และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง (Enforcement) และรณรงค์ให้คนมีวินัยในเรื่องการจราจรและการเดินทาง (Education) ดังนี้

1.1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดังนี้ 1) บูรณะ ปรับปรุง บำรุงรักษาทางหลวงแผ่นดินทั่วทั้งประเทศให้สะดวก ปลอดภัย พร้อมใช้งาน 2) ยกระดับทางหลวงชนบททั่วทุกภาคให้เป็นถนนไร้ฝุ่น 3) ปรับปรุงจุดตัดทางรถไฟ ซ่อมบำรุงทางและระบบอาณัติสัญญาณ รวมทั้งเร่งรัดก่อสร้างรถไฟรางคู่ ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนสองข้างทาง 4) พัฒนาท่าเรือและเรือโดยสารให้อยู่ในสภาพดีและขุดลอกร่องน้ำให้เดินเรือได้ปลอดภัย 5) รักษามาตรฐานทุกท่าอากาศยานให้ได้มาตรฐานสากลและเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดป้องกันภัยร้ายและโรคติดต่อ

1.2 เพิ่มบริการเพื่อความปลอดภัย ดังนี้ 1) เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ไฟฟ้าแสงสว่าง ป้าย เครื่องหมาย สัญญาณไฟ โดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยงและทางแยกสำคัญ 2) เข้มงวดในการออกใบอนุญาตและ ตรวจสภาพยานพาหนะโดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ 3) เฝ้าระวังความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมงด้วยกล้อง CCTV สู่ความปลอดภัยต่างๆ ที่พร้อมกู้ภัยและช่วยเหลือได้ทันการณ์

1.3 การให้บริการและอำนวยความสะดวกเทียบเท่ามาตรฐานสากล ดังนี้ 1) พร้อมให้บริการด้วยไมตรีจิตในทุกหน่วยงานในการอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยให้กับผู้ใช้ทางและผู้โดยสาร 2) เพิ่มการอำนวยความสะดวกในช่วงเทศกาลสำหรับการเดินทางทุกรูปแบบ รวมถึงการเพิ่มเที่ยวบิน รถ และขบวนรถให้เพียงพอ 3) เตรียมพร้อมให้บริการด้านความปลอดภัยอย่างครบวงจร ณ ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม ทั้งให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องทุกข์ และประสานทุกหน่วยงานในการให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง

1.4 การรณรงค์และสร้างคนมีวินัยในการเดินทาง ดังนี้ 1) ฝึกอบรมด้านความปลอดภัยให้กับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2) เร่งสร้างนักขับรถมืออาชีพโดยให้ความรู้และฝึกซ้อมการป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน 3) รณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมและจิตสำนึกด้านวินัยและน้ำใจในการเดินทางกับประชาชนและเยาวชน

2. แผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในระบบขนส่งและการรองรับการเดินทางของประชาชน ประจำปี 2553

จากยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น กระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในระบบขนส่งและการรองรับการเดินทางของประชาชน ประจำปี 2553 ขึ้น โดยนำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2552-2555 ของกระทรวงมหาดไทย แผนปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย และแผนรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานในสังกัด แผนแม่บทและแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในการคมนาคมทางน้ำ แผนรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ และแผนอำนวยความสะดวก มั่นคง และปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสำคัญมาใช้เป็นกรอบในการจัดทำและบูรณาการการปฏิบัติกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้อง และมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ประกอบด้วย 2 แผนหลัก ได้แก่ แผนอำนวยความสะดวก มั่นคง และปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาล ปีใหม่ 2553 และแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในระบบขนส่ง ปี 2553 ดังนี้

2.1 แผนอำนวยความสะดวก มั่นคง และปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 แบ่งเป็น

2.1.1 แผนงานการให้บริการและอำนวยความสะดวก ได้แก่

1) การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนอย่างเพียงพอ

  • กรมการขนส่งทางบกและบริษัท ขนส่ง จำกัด จัดเตรียมรถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทางอย่างเพียงพอ เพิ่มจำนวนรถ เพิ่มชานชาลาระบายรถ จัดให้มีการกระจายการเดินทางของประชาชน
  • การรถไฟแห่งประเทศไทย เพิ่มหน่วยลากจูง (โบกี้รถไฟ) เพิ่มตู้รองรับผู้โดยสาร จัดเดินรถขบวนพิเศษ
  • บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดเพิ่มจำนวนที่นั่ง จัดเที่ยวบินเสริมพิเศษ และ/หรือปรับเปลี่ยนแบบเครื่องบิน
  • องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จัดเพิ่มจำนวนเที่ยววิ่งไปยังสถานีขนส่ง สถานีรถไฟ
  • การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพิ่มความถี่ในการให้บริการและจัดขบวนรถเพิ่มในช่วงคืนส่งป้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
  • กองบังคับการตำรวจทางหลวง จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงประจำจุดในเส้นทางบริเวณรอบปริมณฑลและเขตต่อเนื่องที่มีปริมาณยานพาหนะหนาแน่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

2) การอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในพื้นที่รับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม

  • กรมทางหลวง ดูแลบำรุงรักษาทางหลวง จัดรถบริการเคลื่อนที่ ดูแลระบบการจราจร จัดการจราจรใช้ช่องทางพิเศษ รายงานสภาพจราจร ยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และหมายเลข 9 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ของวันที่ 25 ธันวาคม 2552 ถึงเวลา 16.00 น. ของวันที่ 4 มกราคม 2553
  • กรมทางหลวงชนบท เตรียมพร้อมเส้นทาง เครื่องหมายอุปกรณ์จราจร ป้ายแนะนำเส้นทาง แก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง จุดอันตราย หยุดการก่อสร้าง อาสาสมัครทางหลวงชนบทร่วมอำนวยความสะดวกในการเดินทาง
  • บริษัท ขนส่ง จำกัด จัดเจ้าหน้าที่ดูแลจัดระเบียบจราจรทั้งบริเวณภายในสถานีและบริเวณรอบนอก
  • การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดเพิ่มกำลังพนักงานจัดการจราจร เตรียมความพร้อมของช่องเก็บเงินค่าผ่านทาง และในวันที่ 30 ธันวาคม 2552 จะเปิดให้บริการทางเชื่อมต่อทางพิเศษสายบางพลี — สุขสวัสดิ์ กับทางพิเศษบูรพาวิถี เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทางพิเศษทั้ง 2 สายทาง ให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อระบบทางพิเศษได้อย่างสะดวก และจะยกเว้นการเก็บค่าผ่านทาง ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 30 ธันวาคม 2552 จนถึง 24.00 น. ของวันที่ 3 มกราคม 2553
  • การรถไฟแห่งประเทศไทย ประสานงานตำรวจจราจรให้บริการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟกรุงเทพ สามเสน บางซื่อ ดอนเมือง
  • กรมเจ้าท่า อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชนมีมาตรฐานความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยการออกมาตรการเพื่อให้ผู้ควบคุมเรือ เจ้าของเรือหรือผู้ประกอบกิจการเดินเรือ และให้คำแนะนำกับประชาชนผู้ใช้บริการเรือโดยสารทั้งหลายได้ทราบและปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด พร้อมทั้งจัดตั้งสายด่วน 1199 เพื่อรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับทางน้ำโดยตรง
  • บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพิ่มเจ้าหน้าที่จราจรและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในด้านการจราจร ประสานการปฏิบัติกับผู้ประกอบการให้จัดรถยนต์บริการประเภทต่างๆ ให้เพียงพอสำหรับการให้บริการผู้โดยสาร

3) การอำนวยความสะดวกด้านการตั้งจุดและให้บริการประชาชนบนสายทาง

  • กรมการขนส่งทางบก ให้สำนักงานขนส่งจังหวัดประสานกับหน่วยงานในจังหวัดกำหนดจุดให้บริการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการให้บริการรถยก ซ่อมรถ แจกผ้าเย็น น้ำดื่ม กาแฟ แนะนำเส้นทาง และอื่นๆ และจัดให้มีการดำเนินงานของศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
  • กรมทางหลวง ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ในการตั้งจุดให้บริการร่วม จุดตรวจ จุดสกัด และจุดพักรถ รวมทั้งการให้บริการอำนวยความสะดวกประชาชนบนสายทางรับผิดชอบ
  • กรมทางหลวงชนบท จัดตั้งหน่วยบริการในเส้นทางสำคัญ และ ประชาสัมพันธ์บริการข้อมูลการเดินทาง โทร. 1146 เส้นทางเลี่ยง/ ท่องเที่ยว หรือเส้นทางสำคัญ จัดตั้งศูนย์ประสานงาน และจัดเตรียมเครื่องมือ/ เครื่องจักร/ อุปกรณ์/ รถฉุกเฉิน พร้อมให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกผู้ใช้เส้นทาง 75 ศูนย์ (ทางหลวงชนบท 75 จังหวัด) และศูนย์ประสานงาน 19 ศูนย์
  • การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดตั้งหน่วยบริการประชาชนบนทางพิเศษ ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2552 ถึง 4 มกราคม 2553 บริการฟรี เติมลมยาง น้ำกลั่น และตรวจเครื่องยนต์ รวมทั้งมีบริการน้ำดื่ม ผ้าเย็น แผนที่ แผ่นพับ ข้อมูลต่างๆ จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (Blue Thunder) จัดรถกู้ภัยและรถยก ตรวจตรา ดูแล และประจำจุดครอบคลุมพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ
  • บริษัท ขนส่ง จำกัด ร่วมกับกรมการขนส่งทางบกจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ เพื่อให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้โดยสารรถสาธารณะ
  • กรมเจ้าท่า จัดพนักงานขนส่งปฏิบัติหน้าที่ประจำท่าเรือสาธารณะที่เป็นจุดเชื่อมโยงระบบการขนส่งต่างๆ เพื่อช่วยเหลือให้ข้อมูลการเดินทาง คำแนะนำ ตักเตือน และอำนวยความสะดวกในการขึ้น-ลงเรือของผู้โดยสาร รวมทั้งควบคุมการนำเรือเข้าจอดเทียบและเรือออกท่าเทียบเรือ

4) การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี/ อาคารรับ-ส่งผู้โดยสาร

  • บริษัท ขนส่ง จำกัด การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดูแลรักษาความสะอาดอาคารและสถานที่ ชานชาลา ห้องน้ำ ห้องสุขา ถนน ลานจอดรถ ตรวจสอบระบบสาธารณูปโภคให้สามารถใช้งานได้ และจัดเตรียมให้มีระบบสำรองกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน
  • องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ ให้รถสายตรวจสุ่มสำรวจไปตามพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบ ให้หน่วยงานสายด่วน 184 เป็นศูนย์สอบถามข้อมูล และให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับการจัดรถให้บริการ
  • การท่าเรือแห่งประเทศไทย (ท่าเรือกรุงเทพ/ ท่าเรือแหลมฉบัง/ ท่าเรือภูมิภาค) ประกาศเรื่องการขนส่งสินค้าในวันหยุดเนื่องในเทศกาล
  • กรมการบินพลเรือน อำนวยการดูแลการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารที่ท่าอากาศยาน จัดเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้คำแนะนำผู้โดยสาร และจัดให้มีการเตรียมพร้อมที่จะรองรับการเพิ่มเที่ยวบิน
  • บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

ด้าน Land Side เตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในอาคารผู้โดยสารและในลานจอดรถ จัดรถยนต์บริการให้เพียงพอ จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ มีแผนเผชิญเหตุพร้อมแก้ไขในกรณีฉุกเฉิน ประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการทราบข้อมูลที่จำเป็น เข้มงวดในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและการรักษาความปลอดภัย รักษาความสะอาด ตรวจสอบระบบสาธารณูปโภคให้สามารถใช้งานได้ และจัดเตรียมให้มีระบบสำรองกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน

ด้าน Air Side เตรียมความพร้อมของหลุมจอดอากาศยาน เพิ่มเจ้าหน้าที่ให้บริการและอำนวยความสะดวกภายในลานจอดอากาศยานเตรียมความพร้อมของสะพานเทียบเครื่องบิน

  • บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดเพิ่มจำนวนเคาน์เตอร์ และเจ้าหน้าที่ Check-In เจ้าหน้าที่บริเวณ Immigration และบริเวณจุดตรวจค้น (Screening Check Point) เพื่อดูแลและช่วยเหลือผู้โดยสาร จัดให้มีศูนย์ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเที่ยวบิน จัดให้มีบริการทำเช็คอินล่วงหน้า

5) การจัดตั้งศูนย์วิทยุและโทรศัพท์สายด่วนของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยได้มอบหมายให้ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม (ศปภ.คค.) เป็นศูนย์ประสานภารกิจตามแผนปฏิบัติการฯ ผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน 1356 และศูนย์วิทยุสื่อสารความถี่ 151.600 MHz และให้ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่รายงานการปฏิบัติและเหตุการณ์ต่างๆไปยังผู้บังคับบัญชา และศูนย์อำนวยการ/ ประสานงานของหน่วยงาน และแจ้งรายงานเหตุการณ์/ สถานการณ์ไปยังศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม ทราบด้วย

2.1.2 แผนงานด้านความมั่นคง กำหนดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่อยู่เวรยามคอยตรวจตรา สังเกต เฝ้าระวังเหตุ หรือสิ่งผิดปกติ ในช่วงเทศกาลสำคัญ ให้เพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเพิ่มความถี่และเข้มงวดในการออกตรวจในพื้นที่ความรับผิดชอบ เข้มงวดเฝ้าระวังจากโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) สุ่มตรวจสัมภาระ สิ่งของ รวมทั้งการประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ความรับผิดชอบ เป็นต้น

2.1.3 แผนงานด้านความปลอดภัย

1) มาตรการผู้ขับขี่/ ผู้โดยสารปลอดภัย

  • กรมการขนส่งทางบก ตรวจความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะควบคู่กับการตรวจความพร้อมของตัวรถโดยสารสาธารณะ โดยการรายงานตัวต่อผู้ตรวจการ ณ จุดตรวจบนถนนสายหลัก/ สายรอง สถานีขนส่งผู้โดยสาร/ จุดจอด และดำเนินการตรวจการมีใบอนุญาตขับรถ ตรวจความพร้อมด้านร่างกาย (ความอ่อนเพลีย) ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ ตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ ตรวจสมุดประจำรถ เพื่อตรวจสอบระยะเวลาในการขับรถบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในการตั้งด่านตรวจความพร้อมของรถและผู้ขับรถทุกประเภท ตามมาตรการ 3ม. 2ข. 1ร. (มอเตอร์ไซค์ปลอดภัย เมาไม่ขับ สวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย มีใบอนุญาตขับรถและไม่ขับรถเร็ว)
  • บริษัท ขนส่ง จำกัด ตรวจร่างกายของพนักงานขับรถ ตรวจสอบอัตราบรรทุกผู้โดยสาร จัดเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจคอยตรวจสารเสพติดและตรวจวัดแอลกอฮอล์ของพนักงานขับรถ กำหนดให้พนักงานขับรถขับรถด้วยความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำหนดให้มีพนักงานขับรถ 2 นายประจำรถโดยสารในเส้นทางที่มีระยะทางเกินกว่า 400 กิโลเมตร หรือต้องใช้เวลาในการขับรถเกินกว่า 4 ชั่วโมง
  • องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เตือนพนักงานขับรถไม่ให้ใช้ความเร็วเกินกำหนด สอดส่องดูแลพนักงานประจำรถให้มีความพร้อมห้ามดื่มสุราหรือของมึนเมา ย้ำเตือนพนักงานขับรถให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่าง เคร่งครัด
  • การรถไฟแห่งประเทศไทย กวดขันการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานด้านการเดินรถ จัดพนักงานตรวจสอบเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ โดยให้เพิ่มความถี่มากกว่าในช่วงปกติ จัดตั้งศูนย์ปลอดภัยประจำการรถไฟฯ เพื่อประสานและขอความร่วมมือ ในกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุอันตรายร้ายแรง โดยให้ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง
  • กรมเจ้าท่า จัดเตรียมอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ เรือตรวจการณ์และเรือช่วยชีวิต เพื่อให้ออกไปปฏิบัติงาน ตรวจตรา ควบคุม ดูแลเกี่ยวกับการให้และการใช้บริการเรือโดยสารตามท่าเทียบเรือสาธารณะและท่าเรือของเอกชนที่มีประชาชนใช้บริการหนาแน่นทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในส่วนภูมิภาค ให้เจ้าของเรือและผู้ควบคุมเรือ ระมัดระวังในการเดินเรือจัดหาอุปกรณ์ประจำเรือ เช่น พวงชูชีพ เสื้อชูชีพ เบาะที่นั่ง ชูชีพ เครื่องดับเพลิง ให้พร้อมใช้งานได้ทุกเวลา สำหรับเรือโดยสารต้องมีป้ายแสดงจำนวนคนโดยสารไว้ในที่ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน จัดทำคำแนะนำข้อปฏิบัติให้แก่ประชาชนผู้โดยสารเรือ
  • การท่าเรือแห่งประเทศไทย (ท่าเรือกรุงเทพ/ ท่าเรือแหลมฉบัง/ ท่าเรือภูมิภาค) รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการท่าเรือใช้ความระมัดระวังความปลอดภัยในขณะขนส่งสินค้า จัดเตรียมความพร้อมในการป้องกันและระงับเหตุที่อาจเกิดจากเพลิงไหม้ ออกตรวจตราบริเวณหน้าท่าเทียบเรือ และพื้นที่อื่นๆ ภายในเขตท่าเรือกรุงเทพ
  • บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ตรวจสภาพอุปกรณ์ อาคาร สถานที่ให้มีความปลอดภัย แจ้งเตือนผู้โดยสารให้ปฏิบัติตามระเบียบและมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยเคร่งครัด ตรวจตราการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สายการบินและพนักงานในเขตลานจอดอากาศยาน เตรียมความพร้อมในการดับเพลิงและกู้ภัยให้เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO
  • บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการบิน และเจ้าหน้าที่บริการรับ-ส่งผู้โดยสารภายในลานจอด ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังตามกฎระเบียบและมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำจุด รับผิดชอบตามมาตรการที่กำหนดไว้ และให้รายงานสถานการณ์ไปยังศูนย์รักษาความปลอดภัยทราบ

2) มาตรการยานพาหนะปลอดภัย

  • กรมการขนส่งทางบก จัดกิจกรรม "ตรวจรถก่อนใช้ ปลอดภัยแน่นอน" เพื่อตรวจความพร้อมของรถให้บริการแก่ประชาชน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ รถโดยสารประจำทาง (รถหมวด 1, 2, 3, 4) รถโดยสารไม่ประจำทางรถขนาดเล็กและรถโดยสารอื่นๆ
  • บริษัท ขนส่ง จำกัด จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพของรถโดยสารให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ จัดเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจคอยตรวจสอบอุปกรณ์ส่วนควบของรถโดยสาร
  • องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ให้พนักงานขับรถ ตรวจสอบความพร้อมของรถ รวมทั้งอุปกรณ์และส่วนควบ ได้แก่ ประตูเปิด-ปิดอัตโนมัติ เบรก คลัตช์ เครื่องยนต์ กรณีพบสิ่งผิดปกติให้แจ้งบริษัทเหมาซ่อมหรือแจ้งช่างขององค์การทำการซ่อมให้เรียบร้อยก่อนนำออกวิ่งให้บริการ
  • การรถไฟแห่งประเทศไทย ตรวจสอบ ซ่อมแซมรถจักร รถพ่วง อุปกรณ์เครื่องล้อต่างๆให้มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ก่อนนำออกใช้งานสำหรับการเดินขบวนรถที่เดินประจำและขบวนรถพิเศษต่างๆ
  • กรมเจ้าท่า จัดเจ้าหน้าที่ตรวจความพร้อม และให้เจ้าของเรือและผู้ควบคุมเรือทำการตรวจสอบสภาพความพร้อมของตัวเรือและเครื่องจักรเรือ
  • การท่าเรือแห่งประเทศไทย รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่รถบรรทุกตรวจอุปกรณ์สลักล๊อกตู้สินค้า ก่อนนำสินค้าเข้า-ออกจากพื้นที่
  • บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติงานตามมาตรฐานซ่อมบำรุงอากาศยานและบริภัณฑ์ของอากาศยานตามข้อกำหนดของ Aviation Authorities ต่างๆ อาทิ กรมการบินพลเรือน (THAI DCA) และ International Standard (FAA และ EASA)

3) มาตรการถนน/ ทางปลอดภัย

  • กรมทางหลวง ดูแลบำรุงรักษาทางหลวงเพื่อให้อยู่ในสภาพดี ควบคุมป้ายจราจรและเครื่องหมาย รวมทั้งความปลอดภัยบนทางระหว่างก่อสร้าง ตลอดจนขอความร่วมมือในการหยุดงานก่อสร้างระหว่างเทศกาล แก้ไขจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง รวมทั้งจุดเสี่ยงและจุดอันตรายบนเส้นทาง
  • กรมทางหลวงชนบท ปรับปรุงถนนและสะพานในความรับผิดชอบให้สะดวกและปลอดภัย ให้มีเครื่องหมาย/ อุปกรณ์จราจรครบสมบูรณ์ รวมทั้งแนะนำการเดินทาง การออกตรวจสอบสำรวจจุดเสี่ยง จุดอันตราย หรือสภาพถนนที่ไม่สมบูรณ์ หรือมีข้อบกพร่อง และดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยต่อการสัญจร หยุดดำเนินการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนและสะพานในช่วงเทศกาล และติดตั้งเครื่องหมายเตือน ป้ายแนะนำ และไฟสัญญาณเป็นระยะๆ ให้ชัดเจน จัดตั้งศูนย์ฯ ทางหลวงชนบทจังหวัด และเจ้าหน้าที่ประสานงานกับศูนย์อำนวยความปลอดภัยระดับจังหวัด และจัดเตรียมเครื่องมือ/ เครื่องจักร/ อุปกรณ์ พร้อมให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกผู้ใช้ทาง
  • การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดรถกู้ภัยวิ่งตรวจตราความปลอดภัยในทางพิเศษตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ เพื่อให้การช่วยเหลือด้วยความรวดเร็ว
  • การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดให้มีพนักงานตรวจเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ และเครื่องอาณัติสัญญาณตลอดทางทุกสายทาง
  • กรมเจ้าท่า จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพความมั่นคง แข็งแรงท่าเรือโดยสารทั้งของทาง ราชการและเอกชน จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจตราความพร้อมใช้งานของโป๊ะเทียบเรือ กำหนดมาตรการโป๊ะเทียบเรือปลอดภัย จัดเจ้าหน้าที่คอยควบคุมไม่ให้ประชาชนลงไปบนโป๊ะเทียบเรือเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุตกน้ำด้วย
  • บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ควบคุมจัดการจราจรให้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนภายในท่าอากาศยานปฏิบัติตามกฎจราจรโดยร่วมมือกับสถานีตำรวจพื้นที่

4) มาตรการบังคับใช้กฎหมาย

  • กรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งจังหวัดปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนประจำจังหวัด สถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในการตั้งด่านตรวจความพร้อมของรถและผู้ขับรถ ณ จุดตรวจ/ จุดอำนวยความสะดวก มาตรการ 3ม. 2ข. 1ร.
  • การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดตั้งจุดตรวจความเร็ว จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์และกวดขันวินัยจราจรบนทางพิเศษร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ผู้ใช้ทางพิเศษเดินทางด้วยความปลอดภัย จัดตั้งจุดตรวจกวดขันรถกระบะบรรทุกคนท้ายกระบะที่ไม่มีหลังคาห้ามใช้ทางพิเศษ
  • บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการร่วมกับตำรวจพื้นที่ จัดตั้งจุดตรวจจับความเร็วยานพาหนะและตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่บริเวณถนนสายหลักภายในท่าอากาศยาน ประสานกรมการขนส่งทางบกขอความร่วมมือในการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ ภายในท่าอากาศยาน
  • กองบังคับการตำรวจทางหลวง ตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ จุดตรวจสารเสพติด จุดตรวจจับความเร็ว และจุดตรวจความผิดจราจร กวดขันวินัยจราจร และระดมการจัดกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยเคร่งครัดตลอด 24 ชั่วโมง

5) มาตรการประชาสัมพันธ์

  • กรมการขนส่งทางบก การผลิตสื่อรณรงค์ด้านความปลอดภัยช่วงเทศกาล จัดทำป้ายไวนิลประชาสัมพันธ์กิจกรรมตรวจรถก่อนใช้ ปลอดภัยแน่นอน ประชาสัมพันธ์กิจกรรมตรวจรถก่อนใช้ ปลอดภัยแน่นอนทางหนังสือพิมพ์ และผลิตสปอร์ตวิทยุ
  • กรมทางหลวง จัดทำการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้แก่ประชาชนและผู้ใช้ทางให้ทราบถึงเส้นทางแนะนำการหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัด รวมถึงการอำนวยความสะดวกปลอดภัย จัดทำแผ่นพับแนะนำเส้นทาง พร้อมแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานทั่วประเทศ
  • กรมทางหลวงชนบท ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียง ติดตั้งป้ายแนะนำเส้นทางในเส้นทางสำคัญ
  • การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดพนักงานสื่อสารประจำศูนย์ควบคุมสั่งการตลอด 24 ชั่วโมง ประชาสัมพันธ์เส้นทางการเดินทางกับสื่อต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้ทางพิเศษทราบสภาพการจราจร เส้นทางเดินรถ และเส้นทางเลี่ยงต่างๆ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ (VMS)
  • องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จัดทำข่าวสารประชาสัมพันธ์ รายละเอียดเส้นทางและ ข้อมูลต่างๆ รวมถึงการรณรงค์ และมาตรการต่างๆ
  • กองบังคับการตำรวจทางหลวง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบข้อมูลข่าวสารสภาพการจราจรในเส้นทางหลวงสายต่างๆ บริการ Call Center ให้บริการสอบถามสภาพการจราจรและเส้นทาง ผ่านทางโทร. สายด่วน 1193 ตลอด 24 ชั่วโมง

2.2 แผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในระบบขนส่ง ปี 2553

แผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในระบบขนส่ง ปี 2553 เป็นแผนปฏิบัติการฯ ที่รวบรวมแผนงาน โครงการ มาตรการ และกิจกรรมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม มาจัดทำเป็นปฏิทินกิจกรรมด้านความปลอดภัย ประจำปี 2553 ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเฝ้าระวังและเร่งรัดการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายของกระทรวงคมนาคมที่กำหนดไว้ รวมทั้งได้มอบหมายผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้กำกับ ดูแล และติดตามการปฏิบัติงานตามปฏิทินดังกล่าวให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบอย่างต่อเนื่อง

3. การบูรณาการแผนงานด้านความปลอดภัยกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกระทรวงคมนาคมในการประกาศให้ปี 2553 เป็นปีแห่งความปลอดภัย กระทรวงคมนาคมจะได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารสุข กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลนิธิ องค์กรต่างๆ ฯลฯ อย่างใกล้ชิด โดยจะเร่งรัดดำเนินการจัดทำบันทึกความตกลงร่วมกันในแต่ละเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น การแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนน การกำหนดให้มีหลักสูตรภาคบังคับเพื่อเสริมสร้างวินัยจราจรในสถานศึกษา การกำหนดให้ผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะปลอดจากแอลกอฮอล์ เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ