สรุปสถานการณ์ภัยหนาว และมาตรการป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2009 15:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตาม สถานการณ์ภัยหนาวที่เกิดขึ้น สรุปสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2552) และเนื่องจากช่วงเทศกาลปีใหม่ มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอัคคีภัย อุบัติภัยทั้งทางบกและทางน้ำ ได้โดยง่าย กระทรวงมหาดไทยจึงได้กำหนดมาตรการป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลดังกล่าว ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์ภัยหนาวและการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2552)

1.1 พื้นที่ประสบภัยหนาวที่มีอุณหภูมิอยู่ในเกณฑ์อากาศหนาว (8.0-15.9 องศาเซลเซียส) ถึงหนาวจัด (ต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส) และได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว จำนวน 34 จังหวัด สรุปได้ดังนี้

          ที่   ภาค       พื้นที่ประกาศภัยพิบัติ                             รวม
          1   เหนือ      เชียงราย น่าน พะเยา เพชรบูรณ์ แพร่         12 จังหวัด

แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร

เชียงใหม่ อุตรดิตถ์

          2   ตะวันออก   นครพนม บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร          19 จังหวัด

เฉียงเหนือ สกลนครสุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ

หนองคาย เลย หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ

ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา

อุบลราชธานี มุกดาหาร

          3   กลาง      ลพบุรี  สุพรรณบุรี                          2 จังหวัด
          4   ตะวันออก   จันทบุรี                                  1 จังหวัด
                        รวม                                   34 จังหวัด

1.2 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ปี 2552 - 2553 ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และมี 34 จังหวัด รายงานว่า ได้มอบเครื่องกันหนาวให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนใน 465 อำเภอ 3,078 ตำบล 39,034 หมู่บ้าน โดยกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภากาชาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สมาคม มูลนิธิ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว โดยแจกจ่ายเครื่องกันหนาวไปแล้ว รวม 471,091 ชิ้น แยกเป็น ผ้าห่มนวม 398,873 ผืน เสื้อกันหนาว 50,008 ตัว หมวกไหมพรม 13,890 ใบ และอื่นๆ 8,320 ชิ้น

ตารางจังหวัดที่ประกาศภัยพิบัติฉุกเฉินและได้แจกจ่ายเครื่องกันหนาวช่วยเหลือผู้ประสบภัย

           ที่   ภาค        จังหวัดที่แจกจ่ายเครื่องกันหนาว        จำนวนราษฎรเดือดร้อนจากภัยหนาว      จำนวนเครื่องกันหนาว
                                                                 คน       ครัวเรือน         ที่แจกจ่ายแล้ว (ชิ้น)
          1    เหนือ       กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่         944,798       243,486              264,706

เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน ตาก

น่าน แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พะเยา

          2    ตะวันออก    กาฬสินธุ์  ชัยภูมิ  บุรีรัมย์  ร้อยเอ็ด     2,019,415       454,647              202,735

เฉียงเหนือ ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ เลย

หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี

นครราชสีมา มุกดาหาร นครพนม

มหาสารคาม ยโสธร หนองคาย

ขอนแก่น อำนาจเจริญ

          3    กลาง       ลพบุรี สุพรรณบุรี                      120,554        19,955               2,850
          4    ตะวันออก    จันทบุรี                               7,462         1,710                 800
               รวม        34 จังหวัด 465 อำเภอ 3,078 ตำบล   3,092,229       719,798             471,091

39,034 หมู่บ้าน

2. การให้ความช่วยเหลือ

2.1 สิ่งของพระราชทาน

1) มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยนายกมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ (นายขวัญแก้ว วัชโรทัย) และนายดิสธร วัชโรทัย พร้อมคณะเดินทางไปมอบสิ่งของพระราชทาน ผ้าห่มกันหนาวและอุปกรณ์กีฬา แก่นักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ พร้อมเยี่ยมชมกิจการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และมอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทานแก่ราษฎรผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดหนองคาย อุดรธานี เลย พิษณุโลก แพร่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และจังหวัดลพบุรี รวม 17,683 ชุด

2) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย นำเครื่องกันหนาว ยาสามัญประจำบ้าน เครื่องบริโภค มอบให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดเชียงใหม่ รวม 2,400 ชุด

3) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ผู้แทนพระองค์ พล.อ.อ.ทรงศักดิ์ ตะวันแจ้ง ผู้อำนวยการกองงานพระวรชายาฯ และ พล.อ.ต.จักรพงษ์ หอมไกรลาศ กรมวังผู้ใหญ่ กองงานพระวรชายาฯ พร้อมคณะ มอบถุงยังชีพและสิ่งของพระราชทาน ที่จังหวัดเลย ตาก และจังหวัดสกลนคร ระหว่างวันที่ 14-22 ธันวาคม 2552 รวม 4,500 ชุด และจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 1,500 ชุด ดังนี้

  • วันที่ 29 ธันวาคม 2552 มอบถุงยังชีพและสิ่งของพระราชทานให้แก่ผู้ประสบภัยหนาว ที่โรงเรียนบ้านไม้สะเป่ ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 1,500 ชุด

2.2 การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงาน

1) มูลนิธิร่วมกตัญญู นำโดย นางรัตนา สมสกุลรุ่งเรือง ประธานมูลนิธิฯ นำกำลังเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร ออกเดินทางไปมอบผ้าห่มกันหนาวพร้อมถุงยังชีพในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 2,500 ชุด พร้อมกันนี้ได้นำอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา และทุนการศึกษา ไปมอบให้กับโรงเรียนในพื้นที่ จำนวน 82 โรงเรียน

2) หอการค้าไทย-จีน และสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ได้มอบผ้าห่มช่วยเหลือภัยหนาว จำนวน 8,000 ผืน ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้นำไปมอบให้แก่ประชาชนใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู เลย อุตรดิตถ์ แพร่ พะเยา และจังหวัดเชียงราย แล้ว

3) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนผ้าห่มกันหนาว จำนวน 200,000 ผืน มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท แจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ 15 จังหวัด

อนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี มีกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนท่าทุ่งนา สาเหตุจากแหล่งผลิตก๊าซในประเทศสหภาพพม่า จำเป็นต้องหยุดส่งก๊าซ เนื่องจากต้องทำการติดตั้งระบบเพิ่มแรงอัดก๊าซ ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2552 - 10 มกราคม 2553 ทำให้ต้องเร่งระบายน้ำจากเขื่อนดังกล่าวเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าชดเชยและรักษาเสถียรภาพพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2552 เวลา 24.00 น. เป็นต้นมา ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำแควน้อยและแควใหญ่สูงเพิ่มจากปกติ แต่จะไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อชุมชน ซึ่งจังหวัดได้แจ้งให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และวิทยุชุมชน แจ้งข้อมูลข้อเท็จจริงให้ประชาชน และผู้ประกอบการ ในแนวลุ่มน้ำทราบแล้ว

3. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2552-2มกราคม 2553

3.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 28-29 ธันวาคม 2552 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีหมอกเพิ่มมากขึ้นและมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ ส่วนบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่เสริมเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออกมีฝนได้บางแห่ง จากนั้นในช่วงวันที่ 31 ธันวาคม 2552-2 มกราคม 2553 จะมีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนผ่านตอนบนของประเทศ ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนได้ในระยะนี้

3.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

4. มาตรการป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่

ในห้วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม เป็นช่วงที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลวันส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ หน่วยงานต่างๆ และประชาชนจำนวนมาก จะจัดให้มีงานรื่นเริงเพื่อเฉลิมฉลอง โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ซึ่งเป็นช่วงของการนับเวลาถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ และมักจะมีการจุดพลุ ดอกไม้เพลิง ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอัคคีภัยได้โดยง่าย ประกอบกับมีการสัญจรของประชาชนในห้วงเวลาดังกล่าวอย่างคับคั่งเพื่อเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ จึงมักจะเกิดอุบัติภัยทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก กระทรวงมหาดไทย จึงได้สั่งการให้จังหวัดทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร เตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดอุบัติภัยทางบก ทางน้ำ และอัคคีภัย ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยให้ดำเนินการ ดังนี้

1) กำชับให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ที่จะจัดงานเฉลิมฉลอง ที่มีการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง เนื่องในวันส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ เตรียมการป้องกันและระมัดระวัง เพื่อมิให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน โดยดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

2) ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่และวางระบบสื่อสารเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว และทันท่วงที

3) กำชับให้ผู้อำนวยการหรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตรวจตรา พื้นที่ชุมชน อาคารหรือสถานที่ใด ที่มีสภาพที่อาจก่อให้เกิดสาธารณภัยได้โดยง่ายหรือมีวัสดุหรือสิ่งของใดในอาคารหรือสถานที่ใดที่อาจก่อให้เกิดสาธารณภัยได้ ให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นทราบ เพื่อตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

4) กำชับให้ผู้อำนวยการหรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตรวจตรา พื้นที่ชุมชน อาคาร เส้นทางสัญจร หรือบริเวณพื้นที่ตลิ่ง สถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำ ที่มีสภาพเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติภัยได้โดยง่าย รวมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของท่าเทียบเรือ ความปลอดภัยของเรือโดยสาร โดยให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ว่าด้วยการนั้นทราบ เพื่อดำเนินการปรับปรุง แก้ไข ตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

5) จัดชุดเจ้าหน้าที่และสั่งใช้สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) พร้อมทั้งขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการ ดังนี้

5.1) เฝ้าระวังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย อุบัติภัย และความปลอดภัยอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่มีประชาชนมาร่วมงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่อย่างหนาแน่น

5.2) จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง และกู้ภัย เตรียมความพร้อมในพื้นที่ หรือชุมชนแออัดที่มีความเสี่ยงภัย เพื่อเฝ้าระวังเหตุ และพร้อมปฏิบัติงานได้ในทันทีที่เกิดภัย พร้อมทั้งขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งติดตั้งในบริเวณชุมชนแออัดอย่างทั่วถึง และแนะนำวิธีการใช้ บำรุงรักษาเครื่องดับเพลิงดังกล่าวให้ทราบทั่วกัน

5.3) จัดระเบียบการจราจรและรักษาความสงบเรียบร้อย

5.4) เฝ้าระวังความปลอดภัยบริเวณที่มีประชาชนหนาแน่น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการจัดงานเฉลิมฉลอง ส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่

6. หากเกิดอัคคีภัยหรืออุบัติภัยที่ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมากให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุที่กำหนด ตามแนวทาง พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และรายงานให้กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย ทราบทันที ทางโทรศัพท์/โทรสารหมายเลข 0-2241-7450-5 หรือโทรศัพท์สายด่วนนิรภัย 1784 เพื่อดำเนินการช่วยเหลือโดยด่วน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ