ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 6, 2010 14:30 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

(การกำหนดรายชื่อธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นผู้ยืมและผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน

ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 331) พ.ศ. 2541)

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรา และยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การกำหนดรายชื่อธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นผู้ยืมและผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 331) พ.ศ. 2541) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการคลังเสนอว่า

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท.จะมีการกู้ยืมตราสารหนี้ภาครัฐจากเอกชน เพื่อนำมาใช้เป็นหลักประกันในการดำเนินนโยบายการเงิน รวมทั้งเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องพันธบัตรในตลาดรองตราสารหนี้ และส่งเสริมการทำธุรกรรม Private Repo ให้แพร่หลายมากขึ้น แต่ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 331) พ.ศ. 2541 มิได้กำหนดให้ ธปท. ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ธปท. จึงไม่สามารถเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ และไม่สามารถมอบหมายให้บุคคลที่ได้รับใบอนุญาตการทำธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์จาก ก.ล.ต.ได้เช่นกัน

กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การทำธุรกรรมการยืมและการให้ยืมหลักทรัพย์ที่ดำเนินการโดย ธปท. ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี สมควรแก้ไขพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 331) พ.ศ. 2541 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 ซึ่งเป็นวันที่ ธปท. จะเริ่มดำเนินการทำธุรกรรมการยืมและการให้ยืมหลักทรัพย์

การดำเนินการตามร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จะทำให้การทำธุรกรรมการยืมและการให้ยืมหลักทรัพย์ ระหว่าง ธปท.และคู่สัญญา ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งจะทำให้ ธปท.มีเครื่องมือที่สามารถนำมาบริหารนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม โดยจะมีผลกระทบต่อรายได้ภาษีอากรเพียงเล็กน้อย

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

1. พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป (ร่างมาตรา 2)

2. เพิ่มคำว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ในนิยามคำว่า “ผู้ยืมหรือผู้ให้ยืม” ในมาตรา 3 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 331) พ.ศ. 2541 (ร่างมาตรา 3)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ